posttoday

กฎหมายห้ามสวมหน้ากาก อาวุธสกัดไอ้โม่งป่วนเมืองที่ไทยมีแต่ฮ่องกงไม่มี

04 กันยายน 2562

กฎหมายประเภทนี้เรียกว่า กฎหมายต่อต้านหน้ากาก (Anti-mask law) ส่วนใหญ่มาจากประเทศเสรีนิยมประชาธิปไตย แต่ไทยก็มีเช่นกัน

ในช่วงที่การประท้วงในฮ่องกงกำลังดุเดือด มีข้อเสนอออกมาเป็นระยะให้พิจาณากฎหมายห้ามปกปิดใบหน้าขึ้นมาใหม่ โดยสมาชิกสภานิติบัญญัติในฮ่องกงที่โน้มเอียงไปทางรัฐบาลจีนชี้ว่า เมื่อผู้ชุมนุมสวมหน้ากากมักมีแนวโน้มที่จะกระทำการรุนแรง โดยอ้างผลการศึกษาจากต่างประเทศ

แม้ว่าจะไม่อ้างผลการศึกษา แต่ในระยะหลังเราจะเห็นภาพผู้ชุมนุมจำนวนไม่น้อยที่ปกปิดใบหน้าออกมาทำลายข้าวของและขว้างปาระเบิดขวดและก้อนหินใส่ตำรวจ

ภาพของผู้ท้วงที่ฮ่องกงที่พร้อมใจสวมหน้ากากเป็นปรากฎการณ์ที่แปลกประหลาด เพราะในหลายๆ ประเทศจะไม่ยอมให้ผู้ประท้วงใส่หน้ากากออกชุมนุมตามท้องถนน หลายประเทศมีกฎหมายห้ามไว้ และมีโทษรุนแรงเอาผิดกับผู้ไม่ปฏิบัติตาม

กฎหมายห้ามสวมหน้ากาก อาวุธสกัดไอ้โม่งป่วนเมืองที่ไทยมีแต่ฮ่องกงไม่มี อุปกรณ์ป้องกันของผู้ประท้วงที่ฮ่องกง Photo by Anthony WALLACE / AFP

กฎหมายประเภทนี้เรียกว่า กฎหมายต่อต้านหน้ากาก (Anti-mask law) เป็นกฎหมายที่ไม่ได้ออกมาจากประเทศเผด็จการเพื่อกดขี่เสรีภาพในการชุมนุม เพราะส่วนใหญ่มาจากประเทศเสรีนิยมประชาธิปไตย ที่เล็งเห็นการสวมหน้ากากออกมาชุมนุม เป็นช่องโหว่ให้เกิดจลาจลได้ง่าย และเป็นโอกาสให้คนร้ายก่อเหตุโดยอำพรางใบหน้าได้อย่างสะดวก

ประเทศที่เกิดการประท้วงจนนำไปสู่การผลักดันกฎหมายนี้ คืออังกฤษ เมื่อปี 2011 มีการประท้วงต่อต้านนโยบายลดงบประมาณภาครัฐและสวัสดิการประชาชน ซึ่งมีผู้ชุมนุมกว่า 500,000 คน ในระหว่างนั้นมีการประกาศห้ามผู้ชุมนุมสวมหน้ากากโดยบังคับใช้ในพื้นที่ชุมนุมเป็นการเฉพาะ โดยเจ้าหน้าที่จะทำการเตือนให้ผู้ประท้วงถอดหน้ากากออก แต่มีจำนวนหนึ่งที่สวมหน้ากากแล้วทำการปล้นและทำลายข้าวของ จึงต้องจับกุมและดำเนินคดี

สถานการณ์ของแคนาดาต่างออกไป โดยเสนอกฎหมายห้ามปกปิดใบหน้าระหว่างชุมนุมเมื่อปี 2011 โดยไม่มีเหตุชุมนุมใหญ่ที่รุนแรงก่อนหน้านั้น ทว่า ระหว่างที่สภากำลังพิจารณาอยู่นั้น นักเรียนนักศึกษาในรัฐคิวเบกนัดชุมนุมใหญ่ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ - กันยายน ปี 2012 เพื่อเรียกร้องให้เลิกเก็บค่าเทอม ในระหว่างที่การประท้วงที่รุนแรงกำลังคุกรุ่น สภาเทศบาลเมืองมอนทรีออลผ่านกฎหมายห้ามผู้ชุมนุมสวมหน้ากาก เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2012 ส่วนกฎหมายในระดับประเทศผ่านเมื่อปี 2013

กฎหมายห้ามสวมหน้ากาก อาวุธสกัดไอ้โม่งป่วนเมืองที่ไทยมีแต่ฮ่องกงไม่มี Photo by Anthony WALLACE / AFP

กฎหมายของแคนาดามีชื่อโดยย่อว่า Bill C-309 ชื่อเต็มคือ "พระราชบัญญัติการป้องกันบุคคลจากการปกปิดตัวตนในระหว่างการจลาจลและการชุมนุมที่ผิดกฎหมาย" ให้อำนาจตำรวจในการจับกุมและศาลตัดสินลงโทษใครก็ตามที่สวมหน้ากาก หลังจากมีหลักฐานบ่งชี้ว่าเกิดจลาจล หรือหลังจากที่ตำรวจประกาศการประท้วงอย่างสันติ ได้กลายเป็นการชุมนุมที่ผิดกฎหมาย โดยมีโทษสูงสุดคือจำคุก 10 ปี

สหรัฐเป็นประเทศแรกๆ ที่ใช้กฎหมายนี้ โดยเป็นกฎหมายในระดับเทศบาลและระดับรัฐที่ออกมาในช่วงปี 1950 เป็นต้นมา เพื่อป้องกันเหตุรุนแรงจากการชุมนุมของพวก Ku Klux Klan ซึ่งเป็นกลุ่มเหยียดผิวหัวรุนแรง ในส่วนของเมืองหลวงหรือกรุงวอชิงตันดีซี ก็มีกฎหมายเฉพาะที่ห้ามปกปิดใบหน้าในการชุมนุม โดยระบุในมาตรา 22-3312.03 วรรค 2 ว่า ห้ามปกปิดใบหน้า "ในลักษณะของการชุมนุมหรือประท้วง"

กฎหมายห้ามสวมหน้ากาก อาวุธสกัดไอ้โม่งป่วนเมืองที่ไทยมีแต่ฮ่องกงไม่มี Photo by Anthony WALLACE / AFP

แต่ในสหรัฐ มีการโต้เถียงกันว่ากฎหมายลักษณะนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญที่ให้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกหรือไม่? ปรากฎว่าเรื่องนี้อยู่กับดุลพินิจของศาล ศาลบางแห่งให้น้ำหนักกับความปลอดภัยของสังคมมากว่าสิทธิส่วนบุคคล ก็จะตัดสินว่าการปกปิดใบหน้าเป็นความผิด เช่น การตัดสินของศาลสูงรัฐจอร์เจีย เมื่อปี 2018

นอกจากประเทศข้างต้นแล้ว ประเทศในยุโรปตะวันตกเกือบทั้งหมดใช้กฎหมายแบบเดียวกัน บางประเทศมีคำสั่งห้ามการสวมผ้าคลุมใบหน้าและศีรษะตามหลักศาสนาอีกด้วย จนกลายเป็นประเด็นขัดแย้งในสังคม

สำหรับในประเทศไทย มีพระราชบัญญัติ การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 มาตรา 16 วรรค 2 ระบุว่า "ไม่ปิดบังหรืออําพรางตนโดยจงใจมิให้มีการระบุตัวบุคคลได้ถูกต้อง เว้นแต่เป็นการแต่งกายตามปกติประเพณี" ซึ่งหมายความว่า เจ้าหน้าที่สามารถเอาผิดกับผู้ชุมนุมที่ปิดบังใบหน้าได้เหมือนกับประเทศตะวันตกส่วนใหญ่