posttoday

ชาติไหนในเอเชียที่ย้ายเมืองหลวงไปแล้วบ้าง?

30 สิงหาคม 2562

ชยพล พลวัฒน์ ข่าวต่างประเทศ ... Posttoday Exclusive

ชยพล พลวัฒน์ ข่าวต่างประเทศ ... Posttoday Exclusive

หลังจากที่ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ได้แถลงการณ์ต่อประชาชนคนในชาติถึงแผนการย้ายเมืองหลวงใหม่ออกจากกรุงจาการ์ตา ปักหมุดลงเสาเข็มระหว่างเมืองปาปัน กับเมืองซามารินดา ในจังหวัดกาลิมันตันตะวันออก ทางด้านตะวันออกบนเกาะบอร์เนียว แทนที่กรุงจาการ์ตาซึ่งกำลังประสบปัญหาความแออัด มลพิษ รถติด และปัญหาด้านธรนีวิทยาจากการที่พบว่าเมืองหลวงแห่งนี้กำลังทรุดตัวในทุกๆปี

ตามคำประกาศของผู้นำอินโดฯ ระบุว่าตั้งงบประมาณจำนวน 33,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยคาดว่าจะสามารถเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2021 และตั้งเป้าเริ่มย้ายที่ทำการรัฐบาลบางส่วนไปยังเมืองหลวงแห่งใหม่นี้ได้ในปี 2024

แม้ว่าจนถึงขณะนี้ยังไม่มีการตั้งชื่อของเมืองหลวงใหม่แห่งนี้อย่างเป็น

ตลอดช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา มีหลายประเทศบนโลกที่ดำเนินการย้ายเมืองหลวงไปแล้วด้วยเหตุผลที่แตกต่างกัน แต่ที่เหมือนกันของทุกประเทศคือ สถานะของเมืองหลวงที่หมายถึงเป็นเมืองที่ตั้งของรัฐบาลกลางในประเทศนั้นๆ

หลายประเทศที่ย้ายเมืองหลวงก็มีทั้งเมืองหลวงปัง และเมืองหลวงแป๊ก และนี่คือตัวอย่างหนึ่งของประเทศในแถบเอเชียดำเนินการย้ายไปแล้ว

 

ชาติไหนในเอเชียที่ย้ายเมืองหลวงไปแล้วบ้าง?

กรุงเนปิดอว์ ประเทศเมียนมา

ปี 2001 รัฐบาลทหารเมียนมาตัดสินใจย้ายเมืองหลวงของประเทศออกจากย่างกุ้ง ไปยังเนปิดอว์ แม้จะยังไม่ทราบถึงเหตุผลที่ชัดเจนในการย้าย บ้างก็ว่าเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ของกองทัพ บ้างก็ว่าเป็นเพราะคำแนะนำของหมอดูที่แนะนำนายพลกองทัพให้ย้าย แต่ภายหลังในปี 2005 เมืองแห่งนี้ก็เต็มไปด้วยสถานที่ราชการใหญ่โตโอ่อ่า ทั้งอาคารรัฐสภา ทำเนียบประธานาธิบดี ที่ทำการรัฐบาล กระทรวงต่างๆ พร้อมกับโครงสร้างพื้นฐานอันใหญ่โตโอ่อ่า แต่เวิ้งว้าง อาทิโรงแรมหรู ถนนสายหลัก 20 เลน กระทั่งสนามบิน

เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลเองจำใจต้องละทิ้งครอบครัวเพื่อมาประจำยังต้นสังกัดที่เนปิดอว์ เนื่องจากไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการศึกษาที่ดีพอ บรรดาสถานทูตหลายประเทศยังคงเลือกอยู่ที่ย่างกุ้ง แม้ว่ารัฐบาลนางซูจีจะพยายามสนับสนุนให้ย้ายไปเนปิดอว์ มีเพียงจีนเท่านั้นไปเข้าไปเปิดสำนักผู้ประสานงานในเนปิดอว์แล้ว

 

ชาติไหนในเอเชียที่ย้ายเมืองหลวงไปแล้วบ้าง?

 

กรุงนิวเดลี อินเดีย

ตลอดประวัติศาสตร์ของอินเดียผลัดเปลี่ยนเมืองหลวงมาแล้วหลายแห่ง กระทั่งช่วงที่จักรวรรดิอังกฤษเข้าครอบครองอินเดีย เมื่อ1857 ได้ย้ายเมืองหลวงไปยังกัลกัตตา แต่เดลีก็ได้กลับมาเป็นเมืองหลวงอีกครั้งในปี 1911 โดยมีการสร้างเมืองใหม่ขึ้นมาทางใต้ และใช้ชื่อว่านิวเดลี

ผังเมืองของนิวเดลีนับว่าเป็นเอกลักษณ์แบบตะวันตก รวมถึงความโอ่อ่าใหญ่โตของอาคารที่ทำการรัฐบาลด้วยฝีมือของสองสถาปติกอังกฤษคือ Edward Lutyens และ Herbert Baker ผู้ใช้เวลานานเกือบ 20 ปีเนรมิตถนน อาคารรัฐบาล ทำเนียบผู้สำเร็จราชการฯ (ปัจจุบันคือทำเนียบประธานาธิบดี)

ส่วนหนึ่งที่อาณานิคมอังกฤษเลือกเดลีเป็นเมืองหลวงใหม่ของประเทศ เนื่องจากปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์ทางภาคเหนือที่เข้าถึงในหลายส่วนของประเทศได้ง่าย

แม้ภายหลังอังกฤษจะมอบเอกราชให้อินเดียในปี 1947 รัฐบาลอินเดียก็ยังคงใช้กรุงนิวเดลีเป็นเมืองหลวงจนถึงทุกวันนี้ ท่ามกลางปัญหามลพิษที่ส่งผลให้นิวเดลีเป็นหนึ่งในเมืองที่มีคุณภาพอากาศแย่ที่สุดในโลก

 

ชาติไหนในเอเชียที่ย้ายเมืองหลวงไปแล้วบ้าง?

 

กรุงอิสลามาบัด ปากีสถาน

ปากีสถานกับอินเดียมีประวัติศาสตร์ที่เชื่อมโยงกัน และเป็นไม้เบื่อไม้เมากันมาหลายครั้ง เช่นเดียวกับอินเดียที่หลังได้รับอิสรภาพจากอังกฤษในปี 1947 นครการาจี เมืองท่าสำคัญทางใต้ของประเทศมีสถานะเป็นเมืองหลวงแห่งแรก กระทั่งช่วงปี 1950 เกิดรัฐประหารที่นำโดยกลุ่มทหารยึดอำนาจประเทศ พร้อมประกาศย้ายเมืองหลวงไปยังกรุงอิสลามาบัด ทางตอนเหนือของประเทศ

เหตุที่รัฐบาลปากีฯปักหมุดเมืองหลวงที่อิสลามาบัดเนื่องจาก อยู่ใกล้กับพื้นที่พิพาทแคว้นจัมมูและแคชเมียร์ อีกทั้งนครการาจีซึ่งเป็นเมืองท่านั้นเสี่ยงต่อการถูกโจมตีได้ง่าย

และเช่นเดียวกับหลายประเทศ ที่ปากีสถานใช้อิสลามาบัดเป็นที่ตั้งรัฐบาล ส่วนศูนย์กลางด้านการเงินการพาณิชย์ ธนาคารกลาง และตลาดหลักทรัพย์ยังคงอยู่ที่นครการาจี

 

ชาติไหนในเอเชียที่ย้ายเมืองหลวงไปแล้วบ้าง?

ปุตราจายา มาเลเซีย

จะเรียกว่าเป็นเมืองหลวงได้อย่างเต็มปากก็ไม่เชิง เพราะสถานะของปุตราจายา เป็นเขตปกครองพิเศษที่เป็นศูนย์กลางของรัฐบาลกลางมาเลเซีย โดยสถานะเมืองหลวงที่แท้จริงของมาเลเซียยังคงเป็นกรุงกัวลาลัมเปอร์

ผู้ที่ผุดไอเดียการย้ายหน่วยราชการไปยังปุตราจายาก็ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่คือดร.มหาเธร์ โมฮัมหมัด อดีต และนายกคนปัจจุบัน ที่ได้เสนอแนวคิดดังกล่าวช่วงปี 1980 ปักหมุดอยู่ห่างจากกรุงกัวลาร์ลัมเปอร์ไปทางใต้ 25 กม.

ชื่อปุตราจายา ตั้งตามชื่อเต็มของนายกรัฐมนตรีคนแรกของมาเลย์คือ ตุนกู อับดุล เราะฮ์มัน อาคารสำนักงานรัฐบาลและพระราชวังที่สร้างขึ้นใหม่ในเมืองแห่งนี้ได้รับการออกแบบโดยบริษัทสัญชาติมาเลย์ทั้งหมด และวัตถุดิบจากมาเลย์ทั้งหมด มีเพียง 10%เท่านั้นที่ใช้วัสดุจากต่างชาติ ด้วยงบประมาณราว 8,100 ล้านดอลลาร์

ปุตราจายาเริ่มก่อสร้างในปี 1995 ทว่าประสบปัญหาวิกฤตการณ์ทางการเงินเอเชียในปี 1997-1998 ส่งผลให้โครงการล่าช้า 

ปุตราจายาแล้วเสร็จในปี 2003 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่นายกมหาเธร์ หมดวาระจากตำแหน่งนายกพอดี โดยกำหนดให้มีสถานะเป็นเมืองที่ตั้งรัฐบาลกลาง ส่วนกัวลาร์ลัมเปอร์ยังคงมีสถานะเป็นเมืองหลวงด้านการเงินการพาณิชย์ของประเทศ

 

ชาติไหนในเอเชียที่ย้ายเมืองหลวงไปแล้วบ้าง?

อย่างไรก็ดี นอกจากเมืองหลวงในข้างต้นแล้ว ยังมีบางประเทศในเอเชียนอกเหนือจากอินโดนีเซียที่มีแผนจะย้ายเมืองหลวงเช่นกันเช่นที่ ฟิลิปปินส์

สำหรับฟิลิปปินส์นั้น ก็หน้านี้มีรายงานข่าวว่ารัฐบาลได้มองหาที่ตั้งเมืองหลวงแห่งใหม่ที่เรียกว่า New Clark City ห่างจากกรุงมะนิลาไปทางเหนือราว 100 กิโลเมตร ด้วยเหตุผลคล้ายกับกรุงจาการ์ตาคือปัญหาด้านการจราจร ความแออัดของเมือง

แต่สำหรับฟิลิปปินส์ค่อนข้างจะสับสน เนื่องจากก่อนหน้านี้เมืองเกซอนซิตี้ ถูกยกระดับให้เป็นเมืองหลวงของประเทศมาก่อน กระทั่งสมัยนายเฟอร์ดินาน มาร์กอสเป็นผู้นำฯในปี 1976 ได้ประกาศรวมมะนิลากับเกซอนซิตี้อยู่ในเขตมหานครมะนิลา (National Capital Region (NCR), Metro Manila) จึงยังไม่ชัดเจนนักว่ารัฐบาลดูเตอร์เตจะมีแนวคิดเมืองหลวงใหม่นี้อย่างไร