posttoday

อาวุธใหม่ของสหรัฐความหวังรับมือนักฆ่าเรือบรรทุกเครื่องบินของจีน

29 สิงหาคม 2562

MQ-25A ไม่เพียงบินได้ไกลขึ้น แต่มีความยืนหยุ่นมากกว่าเครื่องบินรบทั่วไปที่ประจำการบนเรือบรรทุกเครื่องบิน เช่น F/A-18E/F Super Hornet

 


เดือนเมษายนปี 2018 กระทรวงกลาโหมของจีนจึงยืนยันว่ามีขีปนาวุธตัวใหม่เข้าประจำการ ชื่อตงเฟิง26 (DF-26) เป็นขีปนาวุธพิสัยกลางที่ 3,000 – 5,471 กิโลเมตร ติดอาวุธนิวเคลียร์ได้ และเป็นอาวุธรุ่นแรกที่ยิงถล่มได้ถึงเกาะกวม อันเป็นที่ตั้งของฐานทัพหลักของสหรัฐในแปซิฟิก จนได้ฉายาว่า นักฆ่าเกาะกวม (Guam Killer)

แต่ DF-26 ยังใช้ถล่มเรือบรรทุกเครื่องบินได้เช่นกัน จนได้มาอีกฉายาว่า นักฆ่าเรือบรรทุกเครื่องบิน (Carrier killer)

เมื่อเดือนมกราคม 2019 สำนักข่าว CCTV ของรัฐบาลจีนประกาศว่า จีนได้ติดตั้ง DF-26 ในที่ราบสูงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพียง 1 วันหลังจากที่กองทัพเรือสหรัฐมีปฏิบัติการรักษาเสรีภาพในการเดินเรือ (FONOP) ในทะเลจีนใต้ เพื่อท้าทายการอ้างสิทธิเหนือทะเลจีนใต้ของจีน

สื่อของทางการจีนยังเอ่ยถึงปฏิบัติการของสหรัฐ และระบุว่าการติดตั้งขีปนาวุธเป็นการย้ำเตือนว่าจีนมีความสามารถในการปกป้องดินแดนของตนเอง

มันยังไม่จบแค่นี้ ปลายเดือนมิถุนายน 2019 จีนมีคำเตือนบรรดาเรือและเครื่องบินที่สัญจรไปมาในทะเลใต้ว่า ว่าจะทำการทดสอบขีปนาวุธในทะเลจีนใต้ และอีกไม่กี่วันต่อมา คือวันที่ 1 กรกฎาคม เจ้าหน้าที่สหรัฐยืนยันกับสำนักข่าว NBC ด้วยข้อมูลข่าวกรองว่า จีนทำการทดสอบขีปนาวุธต่อต้านเรือรบในทะเลจีนใต้ ซึ่งหมายถึง DF-26 นั่นเอง

นับแต่นั้นสหรัฐและประชาคมโลกเหมือนจะจับตานักฆ่าเรือบรรทุกเครื่องบินเป็นพิเศษ เพราะนี่คืออาวุธที่จะตัดแขนขาของสหรัฐในแปซิฟิก

ในเวลาต่อมามีรานงานของมหาวิทยาลัยซิดนีย์ที่ระบุว่า จีนสามารถโจมตีฐานทัพสหรัฐมนแปซิฟิกจนย่อยยับได้ในเวลาไม่นาน โดยเฉพาะฐานทัพใหญ่ในกวม ซึ่งแน่นอนว่าหนึ่งในเขี้ยวเล็บสำคัญของจีนก็คือ DF-26 นั่นเอง

แน่นอนว่า สหรัฐไม่ยอมให้จีนแสดงแสนยานุภาพแต่ฝ่ายเดียว แต่ปัญหาของสหรัฐก็คืองบประมาณ ซึ่งจะต้องผ่านการพิจารณาของสภาคองเกรสที่มีหลายกลุ่มก้อนทางการเมือง สำหรับจีนซึ่งปกครองโดยพรรคเดียว การผ่านงบประมาณด้านกลาโหมไม่ใช่เรื่องยาก เพราะความเห็นในสภาเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ยิ่งไม่ต้องพูดถึงอำนาจการตัดสินใจเริ่มที่จะโยงไปที่ประธานาธิบดีคนเดียวมากขึ้นในช่วงที่สีจิ้นผิงบริหารประเทศ

เฉพาะในเรื่องการรักษาแสนยานุภาพทางทะเล มีรายงานของสภาคองเกรสระบุว่า การต่อเรือบรรทุกเครื่องบินเพิ่มเป็น 12 ลำเป็นภาระด้านงบประมาณ และแผนการนี้จะผลักดันให้เป็นจริงได้ต้องรอถึงปี 2060 ตรงกันข้ามกับจีนที่กำลังสาละวนกับการต่อเรือบรรทุกเครื่องบินใหม่ๆ แถมยังมีขีปนาวุธเปี่ยมศักยภาพในการทำลายเรือของฝ่ายตรงข้าม

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าสหรัฐจะไร้เขี้ยวเล็บที่จะต่อกรกับนักฆ่าเรือบรรทุกเครื่องบิน ที่สหรัฐมีผู้เสนอให้เรือบรรทุกเครื่องบนิปฏิบัติการในระยะห่างจากชายฝั่ง 1,200 ไมล์ทะเล เพื่อให้รอดพ้นจากการโจมตีของขีปนาวุธจีน และมีการเสนอให้พัฒนาอากาศยานไร้คนขับ หรือโดรนรุ่นใหม่ ที่รอดการจับของเรดาร์และสามารถแทรกซึมเข้าไปในจุดที่มีการป้องกันหนาแน่นของฝ่ายตรงข้าม และอาวุธที่ว่านั้นคือโดรนรุ่น MQ-25A Stingray พัฒนาขึ้นมาโดยบริษัทโบอิ้ง และทำการทดสอบบินเมื่อเดือนเมษายน 2019

MQ-25A ไม่เพียงบินได้ไกลขึ้น แต่มีความยืนหยุ่นมากกว่าเครื่องบินรบทั่วไปที่ประจำการบนเรือบรรทุกเครื่องบิน เช่น F/A-18E/F Super Hornet และที่สำคัญคือมันสามารถเติมน้ำมันเครื่องบินรบกลางอากาศได้ด้วย 

โดรนที่บินได้ไกลขึ้น ทำให้เรือบรรทุกเครื่องบินสามารถจอดได้ไกลจากระยะการโจมตีของขีปนาวุธจีน และใช้สมรรถภาพการล่องหนเข้าโจมตีจุดยุทธศาสตร์ของจีนด้วย

อ้างอิง

US Navy awards Boeing $805 million MQ-25A Stingray contract. (31 August, 2018). FlightGlobal.

Death Match: Navy Aircraft Carriers vs. China's Carrier-Killer Missiles (Who Wins?). (December 13, 2018 ). National Interest.

2 US Aircraft Carriers May Get An Answer To China's 'Carrier Killer' Missile. (June 14, 2017). Task and Purpose.

Meet the MQ-25A Stingray — the US's response to threats like China's 'carrier killers'. (Mar. 24, 2017). Business Insider.

Congress' demands for nuclear-powered aircraft carriers are sinking the Navy. (28 August, 2019). NBC News.

Beijing announces deployment of 'carrier killer' missile after U.S. warship sails near South China Sea islets. (10 Hanuary, 2019). Japan Times.

China's Aircraft Carrier Killer Missiles Splashdown in the South China Sea. (July 14, 2019). National Interest