posttoday

ชะตากรรมชนพื้นเมืองบราซิลหลังไฟป่าอเมซอน

24 สิงหาคม 2562

อนาคตของพวกเขาช่างเลือนรางภายใต้ผู้นำชื่อโบลโซนารู

อนาคตของพวกเขาช่างเลือนรางภายใต้ผู้นำชื่อโบลโซนารู

หลังจากเกิดไฟป่าครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายสิบปีกับป่าอเมซอนของบราซิล ชาวโลกก็ได้ตกตะลึงกับการที่เมืองเซาเปาโลทั้งเมืองตกอยู่ในความมืดมิดจากหมอกควันไฟป่าที่พัดเข้ามาปกคลุมทั้งๆ ที่ยังเป็นช่วงกลางวันแสกๆ ทว่ายังมีกลุ่มคนที่จะได้รับผลกระทบอย่างร้ายแรงจากไฟป่าครั้งนี้อีกที่ยังไม่ได้รับการพูดถึง นั่นก็คือชนเผ่าพื้นเมือง

จากข้อมูลของกลุ่มสิทธิชาวพื้นเมือง Survival International ป่าอเมซอนของบราซิลเป็นที่อยู่อาศัยของชาวพื้นเมืองเกือบ 1 ล้านคนที่แบ่งเป็นเผ่าต่างๆ ราว 400-500 เผ่า ในจำนวนนี้มีอย่างน้อย 100 เผ่าที่ไม่ได้ติดต่อกับโลกภายนอก นั่นหมายความว่าไฟป่าครั้งนี้กำลังคุกคามชีวิตของพวกเขาเช่นกัน

ชะตากรรมชนพื้นเมืองบราซิลหลังไฟป่าอเมซอน ชาวเผ่าอาราราเก็บกล้วยในป่าใกล้กับที่พัก Photo by Mauro PIMENTEL / AFP

สำหรับชนพื้นเมืองแล้วป่าไม้คือทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นบ้าน แหล่งอาหาร โรงพยาบาล สนามเด็กเล่น แต่วันนี้คนเหล่านั้นกลับต้องเห็นที่ที่พวกเขาเรียกว่าบ้านถูกทำลายไปต่อหน้าต่อตา ทั้งๆ ที่พยายามดูแลปกป้องมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษเมื่อนับพันปีที่แล้ว  ไฟไหม้ป่าหนนี้จึงไม่ต่างจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ทั้งฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวพื้นเมืองและฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มรดกภูมิปัญญา

ฮาเยนเน คริสตีนี มาซิโม แฟรนซา คนพื้นเมืองจากเผ่าบาเรในรัฐอเมโซนาสของบราซิล เผยว่าประธานาธิบดี  ฌาอีร์ โบลโซนารู คือคุนที่จุดชนวนให้เกิดการรุกรานคนพื้นเมืองด้วยการหนุนให้เกษตรกร เจ้าของฟาร์มปศุสัตว์ และเจ้าของเหมืองรุกคืบเข้าไปในป่าอเมซอนลึกขึ้นๆ จนชาวพื้นเมืองต้องอพยพหนี “พวกเขาฆ่าเราทุกวัน พวกเขาฆ่าเราด้วยไฟป่าที่กำลังเกิดขึ้น พวกเขาฆ่าเราด้วยการบุกรุกที่ดินของพวกเรา”

ชะตากรรมชนพื้นเมืองบราซิลหลังไฟป่าอเมซอน ที่ดินอนุรักษ์ของชนเผ่ามูราที่ถูกลักลอบตัดต้นไม้ REUTERS/Ueslei Marcelino

แม้ทั้งรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูกของบราซิลจะคุ้มครองและให้สิทธิ์ในการถือครองที่ดินกับชาวพื้นเมือง แต่รัฐบาลของประธานาธิบดีโบลโซนารูกลับลดหย่อนการคุ้มครองและทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นว่ามีการลักลอบค้าไม้ในป่าอเมซอน หนำซ้ำยังประกาศว่าจะเดินหน้าพลิกสภาพป้าอเมซอนให้เป็นพื้นที่เกษตรกรรมและการทำเหมือง เพื่อสร้างรายได้เข้าประเทศ นำมาสู่การรุกล้ำและเข้ายึดครองที่ดินของชนพื้นเมืองจากบรรดานายทุนหนักข้อขึ้น

ด้วยเหตุนี้ กลุ่มชนพื้นเมืองทั้งหลายจึงรวมตัวกันเขียนจดหมายเปิดผนึกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทางด้านมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม โดยเรียกร้องให้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ (OHCHR) และผู้แทนพิเศษด้านสิทธิของชนพื้นเมืองช่วยเหลือชนพื้นเมืองที่ได้รับผลกระทบจากไฟป่าอเมซอนที่ร้ายแรงถึงขั้นอาจนำมาสู่การสูญพันธุ์

ด้าน ไฮมุนโด ไปรยา เบเลม มูรา หัวหน้าเผ่ามูราวัย 73 ปี ถึงกับเอ่ยปากว่า “สำหรับป่าผืนนี้ ผมจะสู้จนเลือดหยดสุดท้าย”

ไฟป่าครั้งนี้เป็นเครื่องตอกย้ำถึงการต่อสู้กันระหว่างแนวคิดทุนนิยมที่เน้นการเติบโตของเศรษฐกิจกับธรรมชาติและชนพื้นเมืองได้เป็นอย่างดี