posttoday

ไม่ต้องรอถูกไฟไหม้ป่าอเมซอนก็หมด

22 สิงหาคม 2562

ผู้นำบราซิลประกาศชัดจะเปลี่ยนป่าอเมซอนเป็นเงิน

ผู้นำบราซิลประกาศชัดจะเปลี่ยนป่าอเมซอนเป็นเงิน

ป่าอเมซอนซึ่งเป็นป่าดิบชื้นที่ใหญ่ที่สุดในโลก กำลังถูกทำลายอย่างรวดเร็วจนน่าตกใจ ข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียมชี้มีการทำลายป่ากินพื้นที่ขนาดสนามฟุตบอลทุกๆ นาที และหากยังเป็นเช่นนี้ต่อไป ป่าที่เปรียบเสมือนปอดของโลกผืนนี้อาจจะกลายสภาพเป็นทุ่งหญ้าเขตร้อนแทน

ป่าอเมซอนกินพื้นที่ราว 5.5 ล้านตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 9 ประเทศ โดยบราซิลมีพื้นที่ป่ามากที่สุด 60% แต่ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา พื้นที่ป่าอเมซอนของบราซิลหายไปถึง 20% และระหว่างเดือน ส.ค.2017-ก.ค.2018 มีพื้นที่อีกกว่า 7,900 ตารางกิโลเมตร หรือใหญ่กว่ากรุงลอนดอนถึง 5 เท่าถูกทำลาย ถือเป็นการสูญเสียพื้นที่ป่าครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 10 ปี

สถานการณ์ป่าหายยิ่งรุนแรงหนักขึ้นนับตั้งแต่ ชาอีร์ โบลโซนารู นั่งตำแหน่งประธานาธิบดีของบราซิลเมื่อต้นปีที่ผ่านมา เพียงเดือนที่แล้วเดือนเดียวบราซิลเสียพื้นที่ป่า 1,344 ตารางกิโลเมตร กลายเป็นว่าเพียงเดือนเดียวป่าอเมซอนถูกทำลายไปมากกว่าการทำลายของทั้ง 3 ปีรวมกันเสียอีก โดยพื้นที่ป่าส่วนใหญ่ถูกเปลี่ยนเป็นเหมือง พื้นที่ทำการเกษตรและเลี้ยงสัตว์ นอกจากนี้ บรรดามอดไม้ยังกลับมาระบาดหนักในสมัยของประธานาธิบดีโบลโซนารู ชาวเผ่าอาราราทางตอนเหนือถึงกับเผยว่าทุกวันจะเห็นตอไม้ที่เพิ่งถูกตัดใหม่ๆ และไม่เคยเห็นการลักลอบตัดไม้มากเท่านี้มาก่อน

ไม่ต้องรอถูกไฟไหม้ป่าอเมซอนก็หมด

ประธานาธิบดีโบลโซนารูจากพรรคฝ่ายขวามีนโยบายชัดเจนว่าจะพลิกสภาพผืนป่าอเมซอนให้เป็นพื้นที่สำหรับการทำเกษตรกรรมและเหมืองแร่เพื่อนำเงินมาพัฒนาประเทศ พูดง่ายๆ ก็คือเน้นการพัฒนามากกว่าการอนุรักษ์ป่า เมื่อผู้นำประกาศชัดแบบนี้การแผ้วถางป่าอเมซอนจึงกลับมาอีกครั้งในระดับที่น่าเป็นห่วง หลังจากที่ผู้นำหลายท่านก่อนหน้านี้พยายามลดการตัดไม้ทำลายป่าอย่างหนัก ไม่ว่าจะเป็นการร่วมมือกับทางการท้องถิ่นหรือการปรับเงินผู้ที่ฝ่าฝืน

ทว่าความพยายามเหล่านี้กลับต้องสูญเปล่าในสมัยของโบลโซนารู ทันทีที่เข้ารับตำแหน่งผู้นำฝ่ายขวารายนี้ก็ยกเครื่องนโยบายสิ่งแวดล้อมครั้งใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการลดค่าปรับให้แก่ผู้ที่ฝ่าฝืนตัดไม้ทำลายป่า ตั้งสภารัฐบาลขึ้นมาแทนที่สภาสิ่งแวดล้อมแห่งชาติที่มีสมาชิกกว่า 100 คนจากกลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อมอิสระและภาคธุรกิจ และให้อำนาจรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรกรรมพิจารณาเพดานการครอบครองพื้นที่ของชาวพื้นเมืองแทนที่จะเป็นหน้าที่ของกลุ่มตัวแทนของชนพื้นเมือง รวมทั้งยุบหน่วยงานที่ดูแลพื้นที่อนุรักษ์

นอกจากนี้ เมื่อปี 2017 รัฐบาลของโบลโซนารูยังเปิดพื้นที่ป่าอเมซอนราว 46,000 ตารางกิโลเมตรในรัฐอามาปาทางตอนเหนือของประเทศเพื่อทำเหมืองแร่ แม้รัฐบาลจะรับปากว่าจะปกป้องเขตพื้นที่ของชนพื้นเมือง แต่นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมกังวลว่าพื้นที่เหล่านี้จะได้รับผลกระทบจากการทำเหมือง

ไม่ต้องรอถูกไฟไหม้ป่าอเมซอนก็หมด

ผู้นำคนล่าสุดของบราซิลมีแนวคิดเช่นเดียวกับประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ คือไม่เชื่อว่าภาวะโลกร้อนมีอยู่จริง และยังกล่าวหาว่ากลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อมถูกต่างชาติชี้นำให้เข้ามาแทรกแซงและขัดขวางการเติบโตทางเศรษฐกิจของบราซิล

ท่าทีนี้ก่อให้เกิดความกังวลจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม กองทุนสัตว์ป่าโลก (WWF) เตือนว่าหากการตัดไม้ทำลายป่ายังดำเนินต่อไปจนถึงจุดที่ไม่สามารถย้อนกลับได้ ป่าฝนที่เป็นปอดของโลกผืนนี้จะกลายเป็นเพียงทุ่งหญ้าเขตร้อนที่สัตว์ป่าหลายชนิดไม่สามารถอาศัยอยู่ได้

ไม่ต้องรอถูกไฟไหม้ป่าอเมซอนก็หมด อาสาสมัครพิทักษ์ผืนป่าอเมซอนเพื่อป้องกันการลักลอบตัดไม้ทำลายป่าระหว่างลาดตระเวนพื้นที่ป่าอนุรักษ์ของชนพื้นเมือง ภาพ : REUTERS/Karla Mendes

ด้าน โธมัส เลิฟจอย นักนิเวศวิทยา มองว่าในท้ายที่สุดการตัดไม้ทำลายป่าจะก่อให้เกิดวัฏจักรของการสูญเสียป่า กล่าวคือยิ่งมีต้นไม้น้อยลงยิ่งทำให้พื้นที่แห้งแล้งขึ้นและกระตุ้นให้เกิดการตัดไม้มากกว่าเดิม ขณะที่ฝนส่วนใหญ่ในแถบป่าอเมซอนเกิดขึ้นจากกลไกธรรมชาติของป่าเอง เมื่อต้นไม้หายไป ปริมาณฝนก็น้อยตามวนเป็นวัฏจักร

ทั้งนี้ ด้วยความที่เป็นป่าฝนที่ใหญ่ที่สุดของโลก ป่าอเมซอนมีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์และปล่อยก๊าซออกซิเจนซึ่งเป็นที่มาของฉายา “ปอดของโลก” อีกทั้งยังเป็นที่อยู่อาศัยของชนเผ่าพื้นเมืองอย่างน้อย 400 ชนเผ่า การสูญเสียผืนป่าแห่งนี้ไม่เพียงจะเป็นผลเสียกับชาวบราซิลเท่านั้น คนทั้งโลกที่เหลือก็จะได้รับผลกระทบด้วย