posttoday

ทำไมมาเก๊าไม่มีม็อบต้านจีนเหมือนฮ่องกง

21 สิงหาคม 2562

ทำไมมาเก๊ายังอยู่ดี แต่ฮ่องกงตีกันวุ่นวาย ทั้งที่เป็นเขตปกครองพิเศษเหมือนกัน

ทำไมมาเก๊ายังอยู่ดี แต่ฮ่องกงตีกันวุ่นวาย ทั้งที่เป็นเขตปกครองพิเศษเหมือนกัน

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ผู้ประท้วงชาวฮ่องกงกลุ่มหนึ่งได้เดินทางเข้าไปในมาเก๊า เพื่อถือป้ายประท้วงรัฐบาลจีนและพยายามปลุกกระแสการประท้วงในมาเก๊าในย่านจัตุรัสเซนาโด ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวขึ้นชื่อของมาเก๊า แต่ปรากฏว่ากลุ่มผู้ประท้วงถูกตำรวจมาเก๊าควบคุมตัวไปสอบสวนที่สถานีตำรวจ

เหตุใดมาเก๊า ซึ่งเป็นหนึ่งในเขตปกครองพิเศษของจีนเช่นเดียวกับฮ่องกงจึงไม่ยอมร่วมหัวจมท้ายลุกขึ้นมาประท้วงรัฐบาลจีนกับฮ่องกง

หลีเจี้ยนซี อธิบายไว้ในเว็บไซต์ Quora ว่า มาเก๊ากลับคืนสู่จีนเมื่อปี 1999 แต่ความจริงแล้วโปรตุเกสต้องการคืนมาเก๊าให้จีนตั้งแต่ปี 1975 จึงปล่อยให้จีนเข้ามาบริหารจัดการมาเก๊าราว 20 ปีก่อนที่จะส่งคืนให้จีนอย่างเป็นทางการ เพราะในช่วงนั้นชาวมาเก๊าลุกฮือประท้วงรัฐบาลท้องถิ่นที่ไม่ยอมอนุญาตให้สร้างโรงเรียนบนเกาะไทปา เพราะผู้สร้างไม่ยอมจ่ายสินบนให้เจ้าหน้าที่ จนเกิดการปะทะกับตำรวจ ส่งผลให้ชาวบ้านบางคนได้รับบาดเจ็บสาหัสและถูกจับกุม

ชาวมาเก๊าตอบโต้การใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ด้วยการรวมตัวประท้วงหน้าทำเนียบรัฐบาลเพื่อสนับสนุนชาวไทปา กลุ่มชาวมาเก๊าที่หนุนรัฐบาลจีนเริ่มสร้างความไม่สงบและประณามเจ้าหน้าที่โปรตุเกส จนโปรตุเกสต้องยิงสลายการชุมนุม ส่งผลให้ชาวมาเก๊าเสียชีวิต 8 ราย บาดเจ็บอีก 212 ราย

ต่อมาชาวบ้านเริ่มเอาคืนโปรตุเกสด้วยการไม่จ่ายภาษี ไม่ทำงาน ไม่ค้าขายกับชาวโปรตุเกสจนการบริหารของโปรตุเกสเกือบพังไม่เป็นท่า ทำให้โปรตุเกสคิดจะเจรจาเพื่อจะคืนมาเก๊าให้จีนอีกครั้ง แต่ไม่สำเร็จ กระทั่งช่วงปี 1975 โปรตุเกสต้องการยกเลิกอาณานิคม โดยมาเก๊าคืออาณานิคมแรกๆ ที่โปรตุเกสต้องการส่งคืน ทว่ารัฐบาลจีนกลับไม่ยอมรับโดยอ้างว่าการส่งคืนมาเก๊าจะเกิดขึ้นในเวลาที่เหมาะสม โปรตุเกสจึงต้องเปลี่ยนคำนิยามมาเก๊าในรัฐธรรมนูญปี 1976 ใหม่ว่าเป็น “ดินแดนของจีนภายใต้การบริหารของโปรตุเกส”

เมื่อเทียบกับฮ่องกง อังกฤษปกครองฮ่องกงเรื่อยมาจนกระทั่งส่งมอบคืนให้กับจีนในปี 1997 และยังกำหนดไม่ให้จีนเปลี่ยนแปลงเอกราชของฮ่องกงจนกว่าจะถึงปี 2047 ทำให้การเคลื่อนไหวต่อต้านจีนยังดำเนินอยู่ในฮ่องกง อีกทั้งอังกฤษยังสั่งให้ คริส แพทเทน ผู้ว่าการคนสุดท้ายของฮ่องกง กระพือแนวคิดต่อต้านจีน เพื่อสร้างปัญหาให้กับจีนหลังรับฮ่องกงคืน ชาวฮ่องกงจึงมองว่าจีนเป็นตัวร้าย

ด้าน โรนัลด์ โหยว ระบุว่า คนมาเก๊าไม่มีแรงกระตุ้นให้ประท้วง เพราะคนส่วนใหญ่มีแผนสำรองและทางหนีที่ไล่ไว้แล้ว เนื่องจากก่อนที่จะส่งมาเก๊าคืนให้จีน โปรตุเกสได้ให้สัญชาติโปรตุเกสกับชาวมาเก๊าที่เกิดก่อนปี 1981 และชาวมาเก๊าที่เกิดหลังปี 1981 ที่มีพ่อหรือแม่ได้รับสัญชาติโปรตุเกสตามเงื่อนไขแรก เมื่อรวมกันแล้วชาวมาเก๊าส่วนใหญ่จะได้สัญชาติโปรตุเกสก่อนการส่งมอบให้จีน หากเห็นท่าไม่ดีก็สามารถย้ายจากมาเก๊าไปพึ่งพิงโปรตุเกสได้

นอกจากนี้ ชาวมาเก๊ายังได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลเป็นรายปี นับตั้งแต่ปี 2008 โดยเมื่อปีที่แล้วชาวมาเก๊าที่มีถิ่นที่อยู่ถาวรได้รับเงินจากรัฐบาล 10,000 ปาตากา หรือราว 38,165 บาท รวมทั้งยังมีเงินสนับสนุนค่าเล่าเรียนชั้นมัธยมศึกษาอีกราว 10,000 ปาตากาต่อปี และอัตราภาษีที่ต่ำเพียง 2% เท่านั้น ชาวมาเก๊าจึงไม่ต้องแบกรับภาระค่าครองชีพเกินกำลัง เนื่องจากมาเก๊ามีแหล่งรายได้สำคัญอย่างคาสิโน เมื่อมีความเป็นอยู่ที่ดีชาวมาเก๊าจึงไม่จำเป็นต้องประท้วงเรียกร้องอะไรจากรัฐบาล

ผิดกับชาวฮ่องกงโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่ต้องเผชิญกับภาระค่าใช้จ่ายทั้งค่าครองชีพและอสังหาริมทรัพย์ที่สูงขึ้นสวนทางกับเงินเดือน อีกทั้งชาวฮ่องกงส่วนใหญ่ไม่มีทางเลือกเหมือนกับกลุ่มชนชั้นกลางส่วนน้อยที่มักจะถือสัญชาติอังกฤษ แคนาดา ออสเตรเลียและมีทรัพย์สินในประเทศเหล่านั้นด้วย เมื่อไม่มีทางออก ชาวฮ่องกงส่วนใหญ่จึงต้องลุกขึ้นประท้วง

นอกจากนี้ คนมาเก๊ายังมีทัศนคติที่ดีต่อชาวจีน จากเหตุการณ์ที่จีนส่งกองทัพปลดปล่อยประชาชน (PLA) เข้าไปช่วยทำความสะอาดหลังจากมาเก๊าถูกพายุไต้ฝุ่นฮาโตะถล่มจนมีผู้เสียชีวิตถึง 9 รายเมื่อปี 2017 เนื่องจากชาวมาเก๊ามองว่ารัฐบาลไร้ประสิทธิภาพในการจัดการภัยพิบัติ โดยนับเป็นครั้งแรกที่ทางการจีนส่งทหารเข้ามาเก๊าหลังจากโปรตุเกสส่งมอบดินแดนแห่งนี้คืน

ขณะที่จีนมีภาพลักษณ์ไม่ค่อยดีในสายตาชาวฮ่องกง 1 ปีต่อมาฮ่องกงต้องเผชิญพายุไต้ฝุ่นมังคุดที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่มีการจดบันทึกในฮ่องกงตั้งแต่ช่วงปี 1940 แต่ฮ่องกงกลับปฏิเสธความช่วยเหลือของกองทัพปลดปล่อยประชาชนของจีน โดยอ้างว่าเชื่อมั่นในแผนรับมือของฮ่องกงมากกว่า

เหนือสิ่งอื่นใดคือ ชาวมาเก๊ามีความคิดว่ามาเก๊าเป็นส่วนหนึ่งของจีนมาตั้งแต่แรกจนกระทั่งโปรตุเกสเข้ามา ขณะที่ชาวฮ่องกงบางส่วนไม่ได้คิดเช่นนั้น