posttoday

ไอเดียเจ๋งและไม่แพง ใช้ภาพเชิงซ้อนบนกระจกคืนชีพโบราณสถานโรมัน

21 สิงหาคม 2562

ซ้อนภาพทับโบราณสถาน บูรณะแบบไม่ต้องสร้างใหม่และไม่ต้องทุบทิ้ง


เมืองคาร์นุนตุม (Carnuntum) เป็นเมืองโบราณสมัยอาณาจักรโรมัน ในอดีตมีประชากรประมาณ 50,000 คน ปัจจุบันเหลือแต่ซากเมือง ในประเทศออสเตรีย แต่ถึงจะเหลือแค่ซาก แต่เมืองนี้มีการนำเสนอโบราณสถานด้วยไอเดียสุดเจ๋งจนถูกแชร์ไปทั่วโลก

วิธีการที่ว่านี้ถูกเรียว่า "ภาพเสมือนจริงแบบโลว์เทค" ด้วยการนำเอาภาพเชิงซ้อนของโครงสร้างสถาปัตยกรรม มาติดตั้งไว้ที่มุมหนึ่งของโบราณสถาน ในระยะห่างและองศาจะทำให้ผู้มองผ่านกระจกได้เห็นภาพลายเส้นสันนิษฐานทับซ้อนกับโครงสร้างที่เหลืออยุ่ได้อย่างเหมาะเหม็ง จนมองเห็นภาพได้ว่าสมัยก่อนซากโบราณเคยมีลักษณะอย่างไร

โบราณสถานที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลกเพราะความโลว์เทคแต่ไอเดียสูงส่ง คือประตูไฮเดนทอร์ ประตูโบราณขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่เกือบ 900 เมตรทางทิศใต้จากใจกลางเมืองคาร์นุนตุม

ประตูโบราณนี้มีลักษณะเป็นโครงสร้างประตูโค้งสี่ด้าน แต่ละด้านมีความกว้าง 14.5 เมตร แท่นที่อยู่ตรงกลางน่าจะมีรูปปั้นของเทพหรือจักรพรรดิอย่างใดอย่างหนึ่ง ประตูแบบนี้เรียกในภาษลาตินว่า Tetrapylon หรือ ประตูสี่ทิศฉลองชัยชนะ มักถูกสร้างขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองชัยชนะโดยกองทัพท้องถิ่น ส่วนประตูไฮเดนทอร์คาดว่าจะสร้างขึ้นในช่วงรัชสมัยของจักรพรรดิคอนสแตนติอุสที่ 2 (ค.ศ. 351-361)

คนท้องถิ่นในสมัยหลังๆ คิดว่ามันเป็นประตูเมือง ซึ่งไม่ตรงกับหลักฐานทางโบราณคดีที่บ่งชี้ว่ามันเป็นประตูชัย นอกจากนี้ยังเรียกมันว่า Heidentor ในภาษาอังกฤษคือ Heathens' Gate หรือ Pagans' Gate ที่แปลว่า ประตูของพวกนอกศาสนา

ภาพจาก Römerstadt Carnuntum