posttoday

ชะตากรรมพะยูนหลังการจากไปของมาเรียม

20 สิงหาคม 2562

กิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ถือเป็นภัยคุกคามประชากรพะยูนมากที่สุด

กิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ถือเป็นภัยคุกคามประชากรพะยูนมากที่สุด

สถานการณ์พะยูนทั่วโลกน่าเป็นห่วง คาดว่าบางพื้นที่เสี่ยงใกล้สูญพันธุ์ สหภาพระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ระบุให้พะยูนเป็นสายพันธุ์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ (VU) เนื่องจากประชากรพะยูนทั่วโลกลดลงอย่างน้อย 20% ในช่วง 90 ปีที่ผ่านมา หรือราว 3 ชั่วอายุพะยูน

ในอดีตประชากรพะยูนพบได้ตั้งแต่ชายฝั่งทวีปแอฟริกาไปจนถึงทวีปออสเตรเลีย รวมทั้งทะเลแดง มหาสมุทรอินเดีย มหาสมุทรแปซิฟิกไปจนถึงเกาะโอกินาวาของญี่ปุ่น รวมไปถึงอ่าวไทยและทะเลอันดามัน โดยพะยูนถูกล่าเพื่อเอาเนื้อและน้ำมันมาตั้งแต่สมัยโบราณ บวกกับพื้นที่หญ้าทะเลที่ลดลง อันเนื่องมาจากการปล่อยน้ำเสียจากภาคอุตสาหกรรมและครัวเรือน เมื่ออาหารไม่เพียงพอการผสมพันธุ์ก็ไม่เป็นไปตามธรรมชาติ  ทำให้จำนวนพะยูนค่อยๆ ลดลงอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบันพะยูนได้สูญพันธุ์ไปแล้วในบางที่ เช่น ปากแม่น้ำเพิร์ลของฮ่องกง มอริเชียส ไต้หวัน บางพื้นที่ของกัมพูชา เวียดนาม และฟิลิปปินส์ และมีแนวโน้มว่าจะสูญพันธุ์ในอีกหลายพื้นที่

ออสเตรเลียเป็นแหล่งที่พะยูนอาศัยอยู่หนาแน่นที่สุดในโลก ทั้งประเทศมีประมาณ 80,000 ตัว  ไล่ตั้งแต่อ่าวชาร์กในรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลียไปจนถึงอ่าวมอร์ตันในรัฐควีนส์แลนด์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแนวปะการังเกรตแบร์ริเออร์รีฟซึ่งเป็นแหล่งหญ้าทะเลอาหารของพะยูน

ชะตากรรมพะยูนหลังการจากไปของมาเรียม

ออสเตรเลียให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์พะยูนอย่างยิ่ง โดยมีการกำหนดพื้นที่ปกป้องพะยูนและอุทยานแห่งชาติทางทะเลตามแนวชายฝั่งตะวันออกของรัฐควีนส์แลนด์ รวมทั้งมีการใช้ดาวเทียมติดตามตัวพะยูนตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อศึกษาแหล่งอาหารและแหล่งอาศัย ทั้งยังมีการวิจัยเกี่ยวกับพะยูนมานาน โดยเฉพาะรัฐบาลได้ให้ความสำคัญอย่างมากทั้งงานวิจัยและงานด้านการบริหารจัดการทรัพยากร ถือเป็นประเทศที่มีการจัดการอนุรักษ์พะยูนที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในโลก

อย่างไรก็ดี แม้ตามกฎหมายปกป้องสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศจะไม่ได้ระบุให้พะยูนอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ แต่กฎหมายของรัฐควีนส์แลนด์ได้พะยูนอยู่ในรายชื่อสัตว์เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ เนื่องจากจำนวนพะยูนลดลงในแถบชายฝั่งในชุมชนเมือง

ด้านมาเลเซียนั้น ข้อมูลเมื่อปี 2016 พบว่าเหลือพะยูนอยู่ราว 100 ตัวในแถบรัฐยะโฮร์ ซาลาวัก และซาบาห์ และมีพะยูนตายเฉลี่ย 3-5 ตัวต่อปี จากข้อมูลของบันทึกความเข้าใจเกี่ยวกับการอนุรักษ์และจัดการพะยูนและถิ่นที่อยู่ของมาเลเซีย พบว่าสาเหตุการตายส่วนใหญ่มาจากอวนประมง มลพิษในน้ำ และการขาดแคลนแหล่งอาหาร

ขณะที่จำนวนพะยูนของประเทศไทยในปี 2556 พบพะยูนในทะเลตรังเหลือเพียง 110-125 ตัว เนื่องจากการทำประมงผิดกฎหมาย และพื้นที่หญ้าทะเลลดลง ขณะนั้นมีการคาดการณ์ว่าหากปล่อยให้พะยูนตายจากเครื่องมือประมงปีละ 12 ตัว พะยูนจะสูญพันธุ์ไปจากทะเลตรังภายใน 16 ปี

ชะตากรรมพะยูนหลังการจากไปของมาเรียม

ทว่า ด้วยความพยายามในการอนุรักษ์ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและชาวบ้านในท้องที่ พบว่าในปี 2560 มีพะยูนเพิ่มขึ้นเป็น 169 ตัว  และเมื่อเดือน ก.พ. 2561 มีการสำรวจประชากรพะยูนในทะเลจตรังอีกครั้ง และพบว่ามีพะยูนคู่แม่ลูกถึง 42 คู่ ซึ่งเป็นข้อมูลยืนยันว่ามีพะยูนมากกว่า 210 ตัว นับอีกหนึ่งความสำเร็จของการอนุรักษ์

แต่แล้วในช่วงหลังๆ มานี้ เรากลับได้ข่าวพะยูนเกยตื้นตายไปแล้วถึง 6 ตัว รวมทั้งมาเรียมที่กินขยะพลาสติกเข้าไปจนลำไส้อุดตันลุกลามจนติดเชื้อในกระแสเลือด นอกจากนี้การลงพื้นที่เก็บหญ้าทะเลของเจ้าหน้าที่เมื่อสองสามวันก่อนยังพบขยะพลาสติกจำนวนมากฝังดินอยู่ใกล้ๆ กับแหล่งหญ้าทะเลซึ่งเป็นแหล่งอาหารเพียงอย่างเดียวของพะยูน หากสถานการณ์ขยะพลาสติกยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วนและยั่งยืน จำนวนพะยูนที่เพิ่มขึ้นมาอาจจะลดลงเช่นในอดีตอีกครั้ง

อีกทั้งแม้ในสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตและแหล่งอาหารอุดมสมบูรณ์ จำนวนประชากรพะยูนที่จะเพิ่มขึ้นมีเพียง 5% เท่านั้น เนื่องจากมีอัตราการสืบพันธุ์ช้าและให้ลูกน้อย พะยูน 1 ตัวจะให้ลูกประมาณ 10 ตัว แต่ละครั้งใช้เวลาตั้งท้องประมาณ 13-14 เดือน และยังใช้เวลาเลี้ยงลูกนานถึง 2 ปี พะยูนจึงทิ้งช่วงการตั้งท้องครั้งหนึ่งราว 3-7 ปี ทำให้ประชากรพะยูนเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ง่ายขึ้นไปอีก