posttoday

จีนเน้นสอยเว็บ ตะวันตกบงการData ใครคือผู้ชนะในศึกไซเบอร์

20 สิงหาคม 2562

สมรภูมิจริงๆ อยู่ที่การส่งข่าวสารให้ชาวโลกรับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ ในฮ่องกงมากกว่า โดยกรกิจ ดิษฐาน

ย้อนกลับไปเมื่อเดือนมิถุนายน 2014 ขณะที่การประท้วงในฮ่องกงร่มเหลืองกำลังถึงจุดร้อนแรง หนังสือพิมพ์ Apple Daily เป็นสื่อที่รายงานการประท้วงแบบใกล้ชิด แต่มีท่าทีชัดเจนว่าต่อต้านรัฐบาลฮ่องกงและรัฐบาลจีน โดยหัวเรือใหญ่ของสื่อนี้คือ หลีจื้ออิง หรือ จิมมี่ ไหล่ ซึ่งประกาศจุดยืนต่อต้านจีนมาตั้งแต่ไหนแต่ไร

ท่าทีต้านจีนของ Apple Daily ทำให้ตกเป็นเป้าหมายของของนักรบไซเบอร์จากแผ่นดินใหญ่ ในวันที่ 12 มิถุนายน 2014 เว็บไซต์และเฟซบุ๊คของสำนักข่าวถูกโจมตีด้วยยุทธวิธี DDoS หรือการรุมเข้าไปใช้บริการจนเว็บไซต์ล่ม ซึ่งอันที่จริงจะเรียกว่าเป็นการ "ใช้บริการ" ก็ไม่ได้ เพราะนักรบไซเบอร์มีจุดประสงค์ที่จะถล่มเป้าหมาย ด้วยการเข้าไปในเว็บพร้อมๆ กันในอัตราที่เกินขอบเขตที่จะรับได้

เช่น Apple Daily อาจจะรองรับได้ 1 ล้านคนก็แทบจะพีคแล้ว แต่ในที่เกิดเหตุปรากฎว่ามีการเข้าถึง 40 ล้านคนใน 1 วินาที จนทำให้เว็บล่มนานหลายชั่วโมง พลังการเข้าถึงระดับ 40 ล้านคนใน 1 วินาทีจะมาจากที่ไหนไม่ได้นอกจากแผ่นดินใหญ่

รวมแล้วในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง มีการเข้าถึง Apple Daily และ Occupy Central (แพลตฟอร์มศูนย์กลางการชุมนุม) ถึง 10,000 ล้านครั้ง

นี่คือ "สอย" เว็บให้เป็นง่อย เว็บไซต์ที่ทำหน้าที่กระบอกเสียงของฝ่ายต่อต้านรัฐบาลจึงทำหน้าที่ปล่อยข่าวโจมตีไม่ได้

ผ่านมาอีก 5 ปี ฮ่องกงเกิดการประท้วงใหญ่อีกครั้ง ในเดือนมิถุนายน 2019 ช่วงที่การประท้วงกำลังคุกรุ่น Apple Daily ถูกพลังของ DDoS เข้าถล่มอีกรอบ ในเวลาไล่เลี่ยกัน คือวันที่ 13 มิถุนายน 2019 แอพลิเคชั่น Telegram ซึ่งผู้ประท้วงฮ่องกงใช้ติดต่อนัดแนะการชุมนุมถูกคลื่นนักรบ DDoS ถล่มจนใช้ไม่ได้ไป 1 ชั่วโมง หลังจากตรวจสอบ IP พบว่าส่วนใหญ่มาจากแผ่นดินใหญ่

เมื่อวันที่ 1 กรฎาคม 2019 ทวิตเตอร์ของ antiELAB ของกลุ่มต่อต้านร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน อ้างว่าพบการโจมตีแบบ DDoS ในประมาณมหาศาลจากจีน โดยเป้าหมายหลักคือ LIHKG ซึ่งเป็นฟอรั่มรวมพลังและระดมสมองของกลุ่มผู้ประท้วงในฮ่องกง ฟอรั่มอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องก็ถูกสอยเช่นกัน แน่นอนว่าสื่อที่เป็นฝ่ายผู้ประท้วงเช่น Apple Daily ก็โดนอีกรอบ

พลังของกองทัพไซเบอร์ของจีนเป็นที่รับรู้กันมานทานหลายปีแล้ว แต่ถ้าประเมินคร่าวๆ จะเห็นได้ว่าการโจมตีโดยพลังของ DDoS ไม่ค่อยจะได้ผลในระยะยาว เพราะผู้ประท้วงก็ยังเดินหน้ากันต่อไป การทำให้เว็บไซต์หรือแอพเป็นง่อยชั่วคราว แทบจะเรียกได้ว่าเป็นการ "กวน" เสียมากกว่าการทำลาย

แต่สงคราม DDoS น่าจะซีเรียสกว่านั้น จากข้อมูลของ technode จะพบว่า จีนกำลังเสียบทบาทในฐานะผู้นำในสงครามด้านนี้ ในช่วงไตรมาส 3 ปี 2018 จีนใช้วิธีนี้โจมตีบ่อยครั้งที่สุดประมาณ 24% ของ IP มาจากจีน ส่วนสหรัฐอยู่ต่ำกว่า 16% อย่างไรก็ตาม ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ (ก่อนการประท้วงที่ฮ่องกง) DDoS จากจีนเหลือแค่ 18.31% แต่จากสหรัฐเพิ่มขึ้นมาที่ 18.05%

ดังนั้นสงครามนี้จึงยังไม่จบ และต้องดูว่าไตรมาส 2 จะมีข้อมูลเด็ดๆ อะไรออกมา อย่างไรก็ตาม เราต้องตระหนักว่า DDoS เป็นของเล่นๆ เมื่อเทียบกับสงครามข้อมูลข่าวสารแบบอื่นๆ

สมรภูมิจริงๆ อยู่ที่การส่งข่าวสารให้ชาวโลกรับรู้สิ่งที่เกิดขึ้น "จริงๆ" ในฮ่องกงมากกว่า

วันนี้ (20 สิงหาคม 2019) Twitter เปิดเผยว่า ได้ลบแอคเคาท์เกือบ 1,000 และระงับไปอีก 200,000 แอคเคาท์ ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับรัฐบาลจีน โดยโพสต์ในแอคเคาท์เหล่านี้จะมีข้อมูลที่โจมตีผู้ประท้วงในฮ่องกง และกล่าวหาว่าผู้ประท้วงได้รับการสนับสนุนจากชาติตะวันตก พร้อมกันนี้ Twitter จะไม่รับโฆษณาจากสื่อของทางการอีกต่อไป เช่น China Daily แต่จะยังรับสื่อของทางการที่ดำเนินการโดยภาษีของประชาชน คือ BBC, PBS, NPR, และ CBC เป็นต้น

แต่ข้อสังเกตอยู่เรื่องหนึ่งก็คือ Twitter ยังแบนแอคเคาท์ที่บอกว่า "เราไม่ต้องการกลุ่มราดิคัลอย่างพวกคุณในฮ่องกง" ซึ่งเป็นการแสดงความเห็นโดยสุจริต และ Twitter ยังมีท่าทีเอนเอียงไปทางสื่อของรัฐบาลตะวันตกอย่างชัดเจน โดยอ้างว่าสื่อเหล่านี้ดำเนินการด้วยภาษีประชาน

นอกจากจีนแล้ว ก่อนหน้านี้แอคเคาท์ในรัสเซียและอิหร่านก็ถูกแบนด้วยข้ออ้างคล้ายๆ กันว่าถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง แต่ Twitter มักไม่จัดการกับการใช้ Twitter โดยรัฐบาลตะวันตก

จากกรณีนี้ เราจะเห็นแพทเทิร์นของการใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กในสกัดกั้นการกระจายข่าวของฝ่ายที่อยู่ตรงกันข้ามกับประเทศตะวันตก สิ่งทีเหลืออยู่คือข้อมูลมหาศาลที่เอียงกับฝ่ายตะวันตกหรือค่านิยมตะวันตก และข้อมูลที่โจมตีฝ่ายที่ถูกแบนแอคเคาท์

นี่คือความล้มเหลวของจีนในการใช้ Data บงการการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ตรงกันข้ามกับโลกตะวนตกที่เชี่ยวชาญเรื่องนี้อย่างมาก เช่นกรณีของ Cambridge Analytica ที่ใช้ข้อมูลส่วนบุคคลของโซเชียลเน็ตเวิร์กและที่เก็บจากแอพ สามารถประมวลผลแล้วตัดแต่งข่าวที่เข้ากับรสนิยมของเป้าหมาย จนกระทั่งปั้นทัศนะของเป้าหมายให้ตรงกับที่พวกเขาต้องการ เช่นการอัดโฆษณาชวนเชื่อ ข่าวปลอม หรือข่าวจริงที่มีความลำเอียงไปยังเป้าหมาย จนกระทั่งพวกเขาเห็นว่าจะต้องเลือกคนนี้ และเกลียดนักการเมืองคนนี้

ผลก็คือ สหรัฐได้ทรัมป์เป็นประธานาธิบดี และอังกฤษลงประชามติออกจากสหภาพยุโรป เพราะการปลุกปั่นด้วย Data ให้เป้าหมายกลัวผู้อพยพและกลัวอิทธิพลของต่างชาติ สิ่งนี้กำลังเกิดขึ้นกับฮ่องกงและจีน


อ้างอิง

Cyberattackers brought down Apple Daily website with 40 million hits every second. (June 18, 2014). SCMP

Hong Kong news outlet Apple Daily is under DDoS attack after protest coverage. (June 14, 2019). ReclaimTheNet.org.

Telegram founder: China is sponsoring DDOS attacks in an attempt to suppress Hong Kong protests. (June 13, 2019). ReclaimTheNet.org

China is the world’s largest source of DDOS attacks, but its share is falling. (July 8, 2019). TechNode.

Twitter and Facebook crack down on accounts linked to Chinese campaign against Hong Kong. (August 20, 2019). Guardian.