posttoday

กลยุทธ์เจ้าสัวล้อมม็อบ ใช้เศรษฐกิจซบสยบความวุ่นวาย

15 สิงหาคม 2562

หัวใจของฮ่องกงคือเศรษฐกิจและการค้า ถ้าการค้าหยุดเคลื่อนไหว ฮ่องกงก็ไม่เหลืออะไร บทวิเคราะห์โดยกรกิจ ดิษฐาน

 

หัวใจของฮ่องกงคือเศรษฐกิจและการค้า ถ้าการค้าหยุดเคลื่อนไหว ฮ่องกงก็ไม่เหลืออะไร บทวิเคราะห์โดยกรกิจ ดิษฐาน

จากการรายงานของ Bloomberg พบว่านับตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคมเป็นต้นมา บริษัทระดับเรือธง 5 แห่งของฮ่องกง คือ CK Group, Sun Hung Kai Properties Ltd., Henderson, New World และ Chow Tai Fook group เสียมูลค่าตลาดไปราว 29,000 ล้านเหรียญสหรัฐ มหาเศรษฐี 10 อันดันแรกของฮ่องกงเงินหายไปราว 28,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

ฮ่องกงมีลักษณะเหมือนกับอยู่ใต้การชี้นำของ merchant guilds หรือสมาคมพ่อค้ามีอิทธิพลอย่างมาก สมาคมเหล่านี้มีบทบาทต่อการก่อตัวของรัฐอิสระในช่วงยุคกลางของยุโรป และฮ่องกงก็เช่นกัน บรรดาเจ้าสัวและธุรกิจใหญ่ๆ ในฮ่องกงเป็นกลุ่มที่รัฐบาลฮ่อองกงทุกยุคทุกสมัยต้องให้ความเกรงใจ เป็นผู้ที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก สร้างรายได้ให้อังกฤษอย่างมหาศาล และเป็นผู้ช่วยอัดฉีดเงินเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในจีน เช่น การปฏิวัติซินไฮ่ก็ได้เจ้าสัวฮ่องกงเป็นท่อน้ำเลี้ยง

จีนจึงเกรงใจเจ้าสัวฮ่องกง ดังจะเห็นได้จากตอนที่เติ้งเสี่ยวผิงเจรจาขอคืนฮ่องกงจากอังกฤษเมื่อต้นทศวรรษที่ 80 สิ่งแรกๆ ที่เขาทำคือรับประกันว่าธุรกิจฮ่องกงจะต้องดำเนินไปตามหลักทุนนิยมเช่นเดิม และกฎหมายเกี่ยวกับการทำธุรกิจ ทรัพย์สินทางปัญญาจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง ทำให้ภาคธุรกิจวางใจและทำให้เศรษฐกิจของฮ่องกงขับเคลื่อนต่อไปได้

ต่อมา ช่วงที่มีผลักดันกระบวนการประชาธิปไตยในฮ่องกงปลายทศวรรษที่ 90 กลุ่มเจ้าสัวฮ่องกงไม่ได้เห็นด้วยกับการกระทำของอังกฤษ เพราะเกรงว่าจะทำให้จีนไม่พอใจ จะเห็นได้ว่าความสัมพันธ์ของจีนกับเจ้าสัวฮ่องกงนั้นเกื้อหนุนกัน ตราบเท่าที่ฝ่ายการเมืองไม่ล้ำเส้น

การชุมนุมใหญ่ในปีนี้ กลุ่มเจ้าสัวสงวนท่าทีไม่ได้แสดงออกว่าเข้ากับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ซึ่งที่ผ่านมาเจ้าสัวทั้งหลายไม่ได้ติติงการชุมนุมต่อต้านจีนหรือห้ามพนักงานของตัวเองไปชุมนุมแต่อย่างใด

จนกระทั่งสถานการณ์บานปลาย ภาคธุรกิจก็ยังไม่ขยับ ขณะที่สื่อก็จับตามองกันว่าเมื่อไรที่เจ้าสัวทั้งหลายจะบันลือสีหนาทตวาดไล่ม็อบกันเสียที

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้สังคมแยกแยกเป็น 2 กลุ่มอย่างชัดเจน (Political polarization) ซึ่งเป็นสถานการณ์อันตรายเกินกว่าจะแสดงจุดยืนเป็นตัวของัตวเอง ภาคธุรกิจไม่ต้องการแสดงให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเห็วนเข้าข้างใคร จึงเก็บท่าทีต่อไป แต่มีความเป็นได้อยู่เรื่องหนึ่ง คือรอให้จีนลงมาจัดการด้วยตัวเอง

ปรากฎว่ารัฐบาลจีนสั่งให้ทางการฮ่องกงเก็บกวาดกันเอาเอง แต่หลังจากนั้นทางการฮ่องกงก้ไม่ได้ทำอะไรมาก เพียงแต่สั่งให้ตำรวจรับสถานการณ์วันต่อวัน ส่วนแคร์รี่ หลั่มเก็บตัวนาน 2 สัปดาห์จึงโผล่หน้าออกมาแถลงอัพเดตท่าที แล้วก็หายไปอีก ราวกับปล่อยให้ล้อฟรี

เราเคยวิเคราะห์ไว้ว่า ท่าทีเช่นนี้ไม่ใช่การกดดันผู้ชุมนุม แต่เป็นการกดดันชาวฮ่องกงรวมถึงบรรดาเจ้าสัวให้เริ่มทนไม่ไหวจนต้องออกมาเลือกข้าง

การวิเคราะห์นี้เข้าเค้าในที่สุด เมื่อสัปดาห์ที่แล้วแคร์รี่ หลั่ม "ออกมาจากถ้ำ" เพื่อแถลงอีกครั้งโดยเตือนถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ตอนนี้วิกฤตยิ่งกว่าตอนที่โรคซาร์สระบาดเมื่อปี 2003 แต่ภาคธุรกิจก็ยังไม่แสดงท่าทีอีก หลั่มจึงหายกลับเข้าถ้ำไปตามระเบียบ

จนกระทั่งหลังจลาจลที่สนามบินกลายเป็นฟางเส้นสุดท้ายวันที่ 14 สิงหาคมเจ้าสัวคนแรกก็ออกมาพูด กลุ่มบริษัท New World ของเฮนรี เจิ้ง ซึ่งพิ่งจะได้สัญญาธุรกิจ 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐที่สนามบินนานาชาติ ได้ซื้อหน้าโฆษณา 1 หน้าครึ่งในหนังสือพิมพ์เพื่อเรียกร้องให้ฮ่องกงกลับคืนสู่ความสงบอีกครั้ง

บริษัท New World ของเฮนรี เจิ้ง ระบุว่า "ปกป้องเศรษฐกิจ ปกป้องความเป็นอยู่" ส่วนกลุ่มบริษัท CK Group ของลีกาชิงมหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของฮ่องกง เรียกร้องให้ชาวฮ่องกงร่วมกันสร้างสังคมที่มีความกลมเกลียวกันขึ้นมาอีกครั้ง ส่วนบริษัท Henderson ระบุว่า "ฮ่องกงที่ล่มสลายจะมีประโยชน์อะไรกับครอบครัวของคุณ?"

นอกจาก "อภิมหาบริษัททั้งห้า" ที่ลงโฆษณาแสดงท่าทีแล้ว ยังมีบริษัทอีกจำนวนหนึ่งรวม 7 บริษัทซื้อโฆษณาในสื่อเพื่อเรียกร้องให้ยุติความวุ่นวายด้วย แต่ไม่มีรายไหนที่แสดงท่าทีชัดเจนเท่ากับ ลอยจีหว่อ เจ้าพ่อธุรกิจคาสิโนที่ซื้อโฆษณาหนึ่งหน้าเต็มเรียกร้องให้คนหนุ่มสาวหยุดคิดแล้วใช้สติปัญญาทบทวน ส่วนรัฐบาลก็ควรเข้าหาคนหนุ่มสาวเพื่อหารือเพื่อหาทางออกอย่างมีเหตุผล

ลอยจีหว่อ ยังบอกว่า "อิทธิพลภายนอกกำลังขัดขวางฮ่องกงในหลายทาง เพื่อที่จะสกัดการพัฒนาของจีน เศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของฮ่องกงได้รับผลกระทบอย่างร้ายแรง"

การแสดงจุดยืนของเจ้าสัวในเวลาไล่เลี่ยกันไม่ใช่เรื่องบังเอิญแน่นอน เราอาจมองได้ว่าพวกเขาหารือกันเองแล้วตกลงกันว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องออกโรงเพราะเสียหายมากเกือบ 30,000 ล้านเหรียญสหรัฐแล้ว หรืออาจเป็นเพราะรู้สึกว่าสถานการณ์คับขันเกินกว่าจะทำเป็นทองไม่รู้ร้อน เพราะจีนแสดงท่าทีข่มขู่ที่เซินเจิ้น

ย้อนกลับไปช่วงทศวรรษที่ 80 ภาคธุรกิจในฮ่องกงกังวลว่าหากฮ่องกงกลับคืนสู่จีน ฮ่องกงจะไม่สามารถเป็นศูนย์กลางทุนนิยมได้อีกต่อไป แต่เติ้งเสี่ยวผิงทราบถึงความกังวล จึงรับประกันว่าฮ่องกงไม่ต้องปฏิบัติตามลัทธิคอมมิวนิสต์ แต่ให้คงความเป็นดินแดนทุนนิยมต่อไป นี่คือหลักการ "หนึ่งประเทศสองระบบ"

ดังนั้น เมื่อใครก็ตามที่ทำให้จีนไม่พอใจ ภาคธุรกิจฮ่องกงจะแสดงจุดยืนไม่เอาด้วย แต่ที่ในครั้งนี้พวกเขาแสดงอาการช้า เพราะผู้ที่ต่อต้านจีนคือชาวฮ่องกงจำนวนมากมาย จนกระทั่งจำนวนของกลุ่มผู้ประท้วงเริ่มลดลง และผู้ประท้วงเริ่มถูกมองว่าก่อความเดือดร้อน ภาคธุรกิจจึงได้โอกาสออกมาติติง

ผู้ท้วง 60% เป็นคนอายุไม่ถึง 29 ปี เป็นคนกลุ่มนักเรียน หรือเพิ่งเรียนจบ หรือเป็นกลุ่ม first jobber ความรู้สึกหวั่นไหวต่อจีนจึงไม่ใช่เรื่องเศรษฐกิจ แต่เป็นเรื่องสรีภาพ ดังนั้นพวงเขาจึงมองไม่เหมือนกับพวกเจ้าสัวหรือแม้แต่คนชั้นกลางที่อายุ 30 ปีขึ้นไปที่สนใจเรื่องปากท้องมากกว่า