posttoday

กัมพูชาล้ำใช้ปัญญาประดิษฐ์ช่วยปกป้องสัตว์ป่า

14 สิงหาคม 2562

นักวิจัยสหรัฐพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ช่วยคาดคะเนพื้นที่ที่พรานป่าจะเข้าไปวางกับดักล่าสัตว์ช่วยกัมพูชาเพิ่มจำนวนเสือโคร่งในป่าอนุรักษ์

นักวิจัยสหรัฐพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ช่วยคาดคะเนพื้นที่ที่พรานป่าจะเข้าไปวางกับดักล่าสัตว์ช่วยกัมพูชาเพิ่มจำนวนเสือโคร่งในป่าอนุรักษ์

ด้วยความที่มีกำลังคนไม่เพียงพอและขาดแคลนอาวุธจำเป็น เจ้าหน้าที่ดูแลอุทยานของเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าสแรปกใน จ.มณฑลคีรีของกัมพูชาจึงต้องรับภาระหนักในการออกตรวจตราพื้นที่ป่า เจ้าหน้าที่ทั้งหมด 72 คนต้องรับผิดชอบพื้นที่ถึง 3,700 ตารางกิโลเมตร ใหญ่กว่าประเทศสิงคโปร์ถึง 5 เท่า ทำให้พรานป่าสามารถลักลอบเข้าไปวางกับดักล่าสัตว์โดยไม่ถูกพบเห็น

ครั้งสุดท้ายที่เจ้าหน้าที่เห็นเสือโคร่งในป่าแห่งนี้คือ 12 ปีที่แล้ว ตามรายงานการศึกษาเมื่อปี 2016 ที่เผยแพร่ในวารสาร Royal Society Open Science พบว่า สัตว์อื่นๆ อีกว่า 113 สายพันธุ์ในป่าก็ถูกล่าอย่างหนัก แม้แต่หมาป่าที่ไม่มีราคาในท้องตลาดก็แทบจะไม่หลงเหลือให้เห็น ขณะที่เจ้าหน้าที่เองถูกนายพรานสังหารไป 4 นายเมื่อปีที่แล้ว

แต่ล่าสุดทีมนักวิจัยของมหาวิทยาลัยด้านวิศวกรรม USC Viterbi School of Engineering ในสหรัฐได้นำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาช่วยให้การลาดตระเวนของเจ้าหน้าที่เหล่านี้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

เทคโนโลยีนี้มีชื่อว่า PAWS หรือผู้ช่วยในการปกป้องชีวิตสัตว์ป่า จะใช้ระบบอัลกิริทึมคาดคะเนพฤติกรรมของพรานป่าโดยอาศัยข้อมูลหลายด้านประกอบกัน เช่น สถานที่และเวลาที่เจ้าหน้าที่ดูแลอุทยานเก็บกับดักสัตว์ได้ ลักษณะภูมิประเทศและความสูงชันของพื้นที่ ตำแหน่งแหล่งน้ำที่สัตว์มักจะลงมากิน รวมทั้งถนนของอุทยานที่พรานป่าลักลอบเข้าออกเป็นประจำ จากนั้นจึงทำแผนที่แบ่งพื้นที่การลาดตระเวนตามความเสี่ยงที่จะเกิดการล่าสัตว์ และกำหนดเวลาลาดตระเวนแบบสุ่มเพื่อไม่ให้นายพรานจับทางการลาดตระเวนของเจ้าหน้าที่ถูก

หลังจากใช้ซอฟท์แวร์ดังกล่าว เจมส์ ลอเรนส์ ที่ปรึกษาด้านเทคนิคของเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าสแรปก เผยว่า เจ้าหน้าที่ 24 คนที่เข้าไปลาดตระเวนในพื้นที่ที่โปรแกรมคำนวนออกมาสามารถกู้กับดักสัตว์ได้กว่า 1,000 ชิ้นในช่วง 1 เดือน ซึ่งมากกว่าช่วงก่อนการติดตั้ง PAWS ถึง 2 เท่า

ทีมวิจัยเผยว่าหลังจากประสบความสำเร็จที่ยูกันดาและกัมพูชา มีแผนจะนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้ในอุทยานแห่งชาติทั่วโลกอีกกว่า 300 แห่งภายในปี 2020

***หมายเหตุ ภาพประกอบเป็นซากเสือสุมาตราเพศผู้ที่ติดกับดักของนายพรานบนเกาะสุมาตราของอินโดนีเซีย Photo by Wahyudi / AFP