posttoday

บทเรียนจากไทย ยึดสนามบินแล้วม็อบฮ่องกงจะลุยอะไรต่อ

14 สิงหาคม 2562

การนัดหมายทำได้ง่าย แต่สลายตัวทำได้ยาก เมื่อคุมยากก็เลิกยากไปด้วย บทวิเคราะห์โดยกรกิจ ดิษฐาน

 

ในระหว่างการปิดสนามบินสุวรรณภูมิโดยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย สำนักข่าว AP ได้ทำการสัมภาษณ์ผู้โดยสารคนหนึ่งชื่อแกรี่ เบอร์แมน เขาบอกว่า "การเลือกสถานที่ (เกี่ยวข้องกับ) ระหว่างประเทศอย่างสนามบินนานาชาติมาใช้เป็นที่ประท้วงปัญหาในชาติตัวเอง ถ้าพวกเขามีปัญหาก็ควรใช้ที่อื่นหรือเปล่า? คนที่ได้รับผลกระทบที่นี่ไม่ใช่คนไทย"

คำให้สัมภาษณ์นี้ยังใช้ได้ดีกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในฮ่องกง เมื่อผู้ประท้วงบุกเข้าไปชุมนุมที่อาคารผู้โดยสาร จนต้องยกเลิกเที่ยวบินในวันที่ 12 และ 13 สิงหาคม ทำให้ผู้โดยสารจากทั่วโลกต้องติดอยู่ในฮ่องกง สถานการณ์จึงคล้ายกับคำกล่าวที่ว่า "คนที่ได้รับผลกระทบที่นี่ไม่ใช่คนไทย" เพียงแค่เปลี่ยนจากคำว่า "คนไทย" เป็น "คนฮ่องกง"

แต่การปิดสนามบินของพันธมิตรฯ และม็อบฮ่องกงมีเป้าหมายต่างกัน และจะลงเอยต่างกัน

บทเรียนจากไทย ยึดสนามบินแล้วม็อบฮ่องกงจะลุยอะไรต่อ ภาพ AFP

ม็อบพันธมิตรฯ เข้ายึดท่าอากาศยานดอนเมืองและท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2551 เพื่อบีบให้นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีต้องลงออกจากตำแหน่ง โดยพันธมิตรฯ ได้ควบคุมพื้นที่ของสนามบินไว้ทั้งหมด โดยตำรวจไม่สามรถเข้าไปในพื้นที่ได้ และกองทัพก็ทำตัว "ล้อฟรี" โดยไม่ยอมผลักดันผู้ชุมนุมออกไป แต่พยายามไกล่เกลี่ยให้รัฐบาลลาออกส่วนผู้ชุมนุมต้องสลายตัว

ม็อบฮ่องกงเข้ายึดท่าอากาศยานนานชาติฮ่องกง เพื่อที่จะประกาศให้ชาวโลกที่เดินทางเข้ามาในฮ่องกงเข้าใจการเคลื่อนไหวของพวกเขา การชุมนุมที่สนามบินเริ่มต้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม จุดประสงค์เพื่อให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าใจการประท้วงในฮ่องกง ในช่วงนี้ผู้ประท้วงได้รับอนุญาตจากการท่าอากาศยาน ได้รับความเห็นใจจากพนักงานสนามบินและชาวต่างชาติ โดยล่ารายชื่อสนับสนุนได้ถึง 14,000 รายชื่อ ในช่วงนี้สถานการณ์ยังไม่เลวร้ายเท่ากับที่เกิดขึ้นในเมืองไทย

แต่แล้วการชุมนุมเริ่มที่จะไม่เป็นมิตรกับผู้ใช้สนามบิน เมื่อม็อบกลับมาอีกในวันที่ 9 - 11 สิงหาคม โดยไม่ได้รับอนุญาตจากการท่าฯ ทำให้เกิดความตึงเครียด และนำไปสู่การยกเลิกเที่ยวบินทั้งหมดในวันที่ 12 สิงหาคม ด้วยความหวังว่าจะมีการเปิดให้บริการอีกครั้งในวันที่ 13 แต่ปรากฎว่า ผู้ประท้วงยังบุกเข้ามาอีก ทำให้เที่ยวบินต้องถูกยกเลิก ผู้โดยสารเริ่มเปลี่ยนท่าทีจากเห็นอกเห็นใจ มาเป็นความสิ้นหวังและชิงชัง

บทเรียนจากไทย ยึดสนามบินแล้วม็อบฮ่องกงจะลุยอะไรต่อ ภาพ AFP

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในสนามบินสะท้อนภาพรวมของการชุมนุมด้วย ในช่วงแรก (มิถุนายน) การชุมนุมเป็นไปอย่างสันติ เน้นที่การรวมตัวการเดินแสดงพลัง และนั่งประท้วงอย่างสันติ (sit-ins) ตามสถานที่สำคัญ เพื่อให้สาธารณชนเข้าใจและเห็นใจพวกเขา แต่ต่อมาการชุมนุมรุนแรงขึ้นเพราะรัฐบาลไม่ปฏิบัติตามข้อเรียกร้องแบบ 100% บวกกับการใช้กำลังของตรวจ ทำให้เกิดความรุนแรงตามมา จากที่ต้องการให้สาธารณชนเข้าใจ ผู้ชุมนุมเรียกร้องให้ "เข้าใจและเสียสละ" ถึงขนาดตราหน้าผู้ที่คัดค้านว่า "เห็นแก่ตัว"

วันที่ 14 สิงหาคม 2562 ศาลฮ่องกงมีคำสั่งให้ผู้ชุมนุมออกจากสนามบินในทันที แต่ปรากฎว่ายังมีปักหลักกันอยู่ประมาณ 30 กว่าคน

ย้อนกลับไปวันที่ 26 พฤศจิกายน 2551 ศาลมีคำสั่งให้พันธมิตรออกจากสนามบินสุวรรณภูมิโดยทันที แต่ปรากฎว่าผู้ชุมนุมไม่ยอมปฏิบัติตาม

บทเรียนจากไทย ยึดสนามบินแล้วม็อบฮ่องกงจะลุยอะไรต่อ ภาพ AFP

การปิดสนามบินที่ไทย ผลสุดท้ายต้องพึ่งศาลรัฐธรรมนูญ ที่มีคำวินิจฉัยให้ยุบพรรคการเมือง 3 พรรค และทำให้นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์พ้นจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2551 และวันที่ 3 ธันวาคม 2551 การปิดสนามบินก็ยุติลง

ขณะที่ปัญหาของฮ่องกงคือขาดแกนนำ การยกระดับการชุมนุมจึงไม่มี ความรุนแรงเกิดขึ้นตามปฏิกริยาของคนในม็อบ ไม่ใช่คำสั่งของแกนนนำ การนัดหมายทำได้ง่าย แต่สลายตัวทำได้ยาก เมื่อคุมยากก็เลิกยากไปด้วย

ปฏิกิริยาของสหรัฐต่อการปิดสนามบินในไทย สะท้อนผ่านคำกล่าวของกอร์ดอน ดิวกวิด โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐที่ว่าการปิดสนามบิน "ไม่ใช่วิธีการที่เหมาะสมในการประท้วง"

ส่วนปฏิกิริยาของสหรัฐต่อความวุ่นวายที่สนามบินของฮ่องกงนั้นยังไม่มี มีเพียงการโพสต์ข้อความให้กำลังใจของฮิลลารี คลินตันที่บอกว่า "ขอให้เรายืนหยัดเป็นหนึ่งเดียวกับชาวฮ่องกง ในช่วงเวลาที่พวกเขาเป็นปากเป็นเสียงให้ประชาธิปไตย, เสรีภาพจากการกดขี่ และโลกที่พวกเขาปรารถนาที่จะได้เห็น"