posttoday

แผนสูงสู้โลกร้อน ปล่อยฝุ่นคลุมชั้นบรรยากาศบังแสงอาทิตย์

13 สิงหาคม 2562

อย่างไรก็ตาม มีกระแสกังวลว่า การบงการสภาพอากาศอาจทำให้ธรรมชาติเกิดความปั่นป่วน

 

บิล เกตส์ มหาเศรษฐีแห่งบริษัทไมโครซอฟต์อัดฉีดเงินทุนสนับสนุนโครงการของนักวิทยาศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ที่จะทำการวิจัยแผนการสู้ภาวะโลกร้อนด้วยการส่งบอลลูน 800 ลำขึ้นไปสู่ชั้นบรรยากาศ จากนั้นปล่อยฝุ่นผงชอล์กหลายตันให้ลอยเหนือผืนโลกประมาณ 19 กิโลเมตร แล้วต่อมาจะลอยขึ้นไปปล่อยฝุ่นอีกหลายตันที่บรรยากาศชั้นสตราโตสเฟียร์

สำนักข่าว Dailymail รายงานว่า ในทางทฤษฎีฝุ่นละอองในอากาศจะสร้างม่านบังแดดขนาดมหึมา ซึ่งสะท้อนแสงอาทิตย์และความร้อนบางส่วนของดวงอาทิตย์กลับสู่อวกาศ ทำให้แสงที่ผ่านเข้ามาลดลง และปกป้องโลกจากการทำลายล้างของภาวะโลกร้อน

โครงการนี้มีชื่อว่า Stratospheric Controlled Perturbation Experiment (SCoPEx) มีงบประมาณการทดลอง 3 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเบื้องต้นจะทำการส่งยานติดตั้งบอลลูนขึ้นไปปล่อยผงแคลเซี่ยมคาร์บอเนต 12 กิโลกรัม หรือปริมาณเท่ากับแป้ง 1 กระสอบ เหนือผืนโลกประมาณ 19 กิโลเมตร บริเวณท้องฟ้าเหนือทะเลทรายในรัฐนิวเม็กซิโก

แนวคิดนี้ได้แรงบันดาลใจมาจาการภัยธรรมชาติจากการระเบิดของภูเขาไฟ ซึ่งปล่อยเถ้าถ่านออกมาปริมาณมหาศาล บดบังชั้นบรรยากาศทำให้แสงอาทิตย์ที่ส่องเข้าสู่ผิวโลกลดลง และทำให้อุณหภูมิลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อครั้งที่เกิดการระเบิดของภูเขาไฟปินาตูโบในประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อปี 1991 มีเถ้าถ่านปล่อยออกสู่ท้องฟ้าถึง 20 ล้านตัน ทำให้โลกเย็นลง 0.5 องศาเซลเซียสเป็นเวลา 1 ปีครึ่ง

อย่างไรก็ตาม มีกระแสกังวลว่าการบงการสภาพอากาศอาจทำให้ธรรมชาติเกิดความปั่นป่วน เช่น ทำให้กระแสน้ำในมหาสมุทรที่กำหนดอุณหภูมิโลกเกิดความผิดเพี้ยน และยังอาจกระทบต่อชั้นโอโซนที่ช่วยกรองรังสีอัลตราไวโอเลต หากชั้นโอโซนมีปัญหาจะทำให้มนุษย์เป็นโรคมะเร็งกันมากขึ้น