posttoday

ปลาทะเลสะสมปรอทมากขึ้นเพราะโลกร้อน

09 สิงหาคม 2562

นักวิทยาศาสตร์ฮาร์วาร์ดชี้ปลาทะเลสะสมสารปรอทมากขึ้นเพราะภาวะโลกร้อน เตือนการรับประทานเนื้อปลาปนเปื้อนเสี่ยงเป็นโรคสมองและระบบประสาท

นักวิทยาศาสตร์ฮาร์วาร์ดชี้ปลาทะเลสะสมสารปรอทมากขึ้นเพราะภาวะโลกร้อน เตือนการรับประทานเนื้อปลาปนเปื้อนเสี่ยงเป็นโรคสมองและระบบประสาท

อะมีนา ชาร์ทอัพ และ เอลซี ซันเดอร์แลนด์ สองนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ศึกษาผลกระทบของการลดการปล่อยสารปรอท การจับปลามากเกินไป และผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิ จากการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลระบบนิเวศของอ่าวเมนในมหาสมุทรแอตแลนติกระหว่างปี 1970-2000 รวมทั้งกระเพาะอาหารของปลานักล่า เช่น ปลาค็อดและทูน่าครีบน้ำเงิน โดยพบว่า สารปรอทที่สะสมในปลาค็อดเพิ่มขึ้น 23% และในทูน่าครีบน้ำเงินเพิ่มขึ้น 27%

ผลการศึกษาซึ่งตีพิมพ์ในวารสารวิชาการทางวิทยาศาสตร์ Nature ระบุว่า เมื่ออุณหภูมิในทะเลอุ่นขึ้น เนื่องจากภาวะโลกร้อน ปลาขนาดเล็กต้องใช้พลังงานเพิ่มขึ้นในการว่ายน้ำ ดังนั้นปลาเล็กปลาน้อยเหล่านี้จึงต้องกินอาหารที่ปนเปื้อนสารปรอทมากขึ้นตามไปด้วย และเมื่อปลาทูน่ากินปลาพวกนี้เข้าไป สารปรอทก็ยิ่งสะสมในปลาทูน่ามากขึ้น

นอกจากนี้ การจับปลาแฮร์ริงและปลาซาร์ดีนขนาดเล็กในปริมาณมหาศาลยังกระทบกับการกินเหยื่อของปลาค็อดในมหาสมุทรแอตแลนติก กล่าวคือ พวกมันต้องกินปลาแฮร์ริงและกุ้งล็อบสเตอร์ที่มีขนาดใหญ่ขึ้นและมีสารปรอทสะสมในปริมาณมาก สุดท้ายสารปรอทเหล่านี้ก็เข้ามาสะสมในร่างกายมนุษย์

ทั้งนี้ สารปรอทที่ถูกปล่อยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศจากกิจกรรมของมนุษย์ เช่น การเผาไหม้เชื้อเพลิงถ่านหิน ราว 4 ใน 5 ส่วนจะไปสะสมอยู่ที่มหาสมุทร เมื่อแบคทีเรียทำปฏิกิริยากับสารปรอทในน้ำก็จะเปลี่ยนเป็นสารพิษที่เรียกว่า เมธิลเมอร์คิวรี ซึ่งเป็นสารประกอบปรอท สารดังกล่าวเป็นอันตรายกับทารกในครรภ์ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของการตั้งครรภ์ หรือช่วงระยะ 7-9 เดือน เนื่องจากระยะดังกล่าวเป็นช่วงที่สมองกำลังพัฒนา รวมทั้งเป็นต้นเหตุของโรคสมองและระบบประสาทในเด็กและผู้ใหญ่

ทว่า ที่ซ้ำร้ายไปกว่านั้นคือ แม้เราจะลดเมธิลเมอร์คิวรีในน้ำทะเลได้ 20% จากการลดการปล่อยสารปรอท แต่หากอุณหภูมิเพิ่มขึ้น 1 องศาเซลเซียสสารปรอทในปลาค็อดจะเพิ่มขึ้น 10% และในทูน่าครีบน้ำเงิน 20%

อย่างไรก็ดี ซันเดอร์แลนด์ เผยว่า “ไม่ใช่ว่าอ่านบทความนี้แล้วทุกคนต้องหยุดรับประทานอาหารทะเลซึ่งเป็นแหล่งโปรตีนชั้นดี งานวิจัยชิ้นนี้ต้องการชี้ให้ผู้คนตระหนักว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศมีผลกระทบโดยตรงต่ออาหารที่เรารับประทาน และกระทบต่อสุขภาพของเรา ไม่ใช่เพียงเรื่องอากาศสุดขั้วหรือระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้นเท่านั้น”