posttoday

อีก 11 ปี กรุงเทพฯ จะจมบาดาล

07 สิงหาคม 2562

ก่อนที่กรุงเทพมหานครจะได้ฉลองครบรอบ 250 ปี ในปี 2032 เมืองทั้งเมืองอาจต้องจมอยู่ใต้บาดาล เนื่องจากภาวะโลกร้อน

ก่อนที่กรุงเทพมหานครจะได้ฉลองครบรอบ 250 ปี ในปี 2032 เมืองทั้งเมืองอาจต้องจมอยู่ใต้บาดาล เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

"น้ำท่วมกรุงเทพมหานคร" กลายเป็นปรากฏการณ์ที่คนกรุงพบเจอจนชินตา เพราะอย่างที่รู้กันว่าเมืองหลวงของเราอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลเพียง 1.5 เมตรเท่านั้น ทว่าสภาวะน้ำท่วมกรุงมีแนวโน้มจะกระทบกับพื้นที่กรุงเทพมหานครเป็นวงกว้าง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนและการทรุดตัวของพื้นดินที่เกิดขึ้นทุกปี พูดง่ายๆ คือ ในขณะที่น้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น พื้นดินของกรุงเทพมหานครก็ยิ่งทรุดต่ำลง ทำให้เมืองหลวงแห่งนี้เสี่ยงถูกน้ำท่วมหนักขึ้นอีก

ธนาคารโลกเตือนว่า ภายในปี 2030 หรืออีก 11 ปีข้างหน้า เกือบ 40% ของกรุงเทพมหานครจะถูกน้ำท่วมอันเนื่องมาจากฝนตกหนักและสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ส่วนเว็บไซต์ The Asean Post ตั้งสมมติฐานว่า หากอุณหภูมิเพิ่มขึ้นอีก 4 องศาเซลเซียสโดยที่ชาวกรุงยังไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เมืองหลวงของเราจะเผชิญน้ำท่วมร้ายแรงจากน้ำฝนปริมาณมหาศาลและน้ำทะเลขึ้นสูงถึง 15 เซนติเมตรภายในปี 2030 และอาจจะถึงขั้นที่ 70% ของพื้นที่จะถูกน้ำท่วม โดยระดับน้ำทะเลจะสูงถึง 88 เซนติเมตร ภายในปี 2080

นอกจากนี้ องค์กรการกุศลเพื่อการพัฒนา Christian Aid ของอังกฤษ ยังเตือนว่า 8 เมืองใหญ่ใกล้ชายฝั่งทั่วโลก อาทิ ลอนดอน เซี่ยงไฮ้ จาการ์ตา มะนิลา รวมทั้งกรุงเทพมหานคร จะจมบาดาลในอีก 14 ปีข้างหน้า เนื่องจากการเพิ่มระดับของน้ำทะเลที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และหากน้ำแข็งกรีนแลนด์ละลายจนหมด น้ำทะเลจะสูงขึ้น 5-7 เมตร ซึ่งนอกจากกรุงเทพมหานครแล้ว ยังมีจังหวัดอื่นที่จะจมไปด้วย เช่น สมุทรปราการ นนทบุรี ฉะเชิงเทรา ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี ราชบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร จันทบุรี ตราด

ขณะที่ในปัจจุบันนี้กรุงเทพมหานครทรุดตัวเฉลี่ย 1-2 เซนติเมตรต่อปี ส่วนระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้น 4 มิลลิเมตรต่อปี โดยก่อนหน้านี้สถาบันวิจัยเดลตาเรสของเนเธอร์แลนด์ เผยผลการศึกษาการทรุดของพื้นดินทั่วโลก พบว่ากรุงเทพมหานคร เวนิส และนิวออร์ลีนส์ คือเมืองที่ทรุดตัวเร็วกว่าการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลถึง 10 เท่า

สำหรับกรุงเทพมหานครนั้น ในอดีตเคยมีการสูบน้ำใต้ดินจำนวนมหาศาลขึ้นมาใช้ ทำให้ไม่มีแรงดันน้ำใต้ดินคอยพยุงพื้นดินไว้ ประกอบกับน้ำหนักของอาคารสิ่งก่อสร้างที่กดทับลงไป และพื้นดินด้านล่างที่เป็นโคลนเลน ยิ่งทำให้พื้นดินของกรุงเทพมหานครทรุดตัวเร็วขึ้นกว่าปกติ

ทั้งนี้ เมื่อ 1,000 ปีที่แล้ว โลกอยู่ในภาวะอบอุ่น น้ำแข็งขั้วโลกละลาย น้ำทะเลทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้น ทำให้หลายจังหวัดในภาคกลางตอนล่างจมอยู่ใต้ระดับน้ำทะเล พื้นที่ของอ่าวไทยกินบริเวณกว้างกว่าในปัจจุบัน แต่เมื่อเกิดการทับถมของตะกอนแม่น้ำมานับร้อยนับพันปี จังหวัดในภาคกลางตอนล่าง เช่น กรุงเทพมหานคร รวมทั้งปทุมธานี และพระนครศรีอยุธยาจึงค่อยๆ ปรากฏขึ้น

ทว่าปัจจุบันนี้ โลกเริ่มร้อนขึ้นอีกครั้ง ส่งผลให้น้ำแข็งขั้วโลกละลายอย่างรวดเร็ว ตามมาด้วยการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลทั่วโลก การวัดครั้งล่าสุดเมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมาขององค์การนาซา พบว่าระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้นถึง 4 มิลลิเมตร ทำให้เกิดการตั้งข้อสันนิษฐานว่าวัฏจักรเดิมจะกลับมาอีกครั้ง คือ กรุงเทพมหานครและจังหวัดภาคกลางตอนล่างจมบาดาลเช่นในอดีต

นอกจากนี้ การเพิ่มขึ้นของน้ำทะเลยังส่งผลให้เกิดการกัดเซาะแนวชายฝั่งตามมา จากฐานข้อมูลความรู้ทางทะเล พบว่า ชายฝั่งทะเลอ่าวไทยตอนบนมีอัตราการถูกกัดเซาะมากกว่า 5 เมตรต่อปี (ถือเป็นพื้นที่วิกฤต) ใน 12 จังหวัด เช่น กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา จันทบุรี ส่วนพื้นที่ชายฝั่งอ่าวไทยตอนในบริเวณปากแม่น้ำบางปะกงจนถึงปากแม่น้ำท่าจีนเป็นพื้นที่ที่มีการกัดเซาะรุนแรงที่สุด