posttoday

กระเป๋านักเรียนทำไมต้องหนัก? ต้องช่วยเด็กด้วย e-Schoolbag

30 กรกฎาคม 2562

ทำไมต้องแบกกระเป๋าเรียนในเมื่อเราอยู่ในยุคดิจิทัลกันแล้ว? หรือเพราะผู้ใหญ่กลัวเด็กอ้วนเกินไป เลยให้แบกกระเป๋าเพื่อออกกำลังกาย นี่คือปัญหาที่ถกเถียงกันทั่วโลก


กระเป๋านักเรียนที่หนักอึ้งไม่ใช่แค่ปัญหาของเด็กไทย แต่เป็นปัญหาสากลที่พบเจอได้ตั้งแต่ในยุโรปจนถึงเอเชีย น้ำหนักของกระเป๋าที่เด็กๆ จะต้องแบกจากบ้านไปโรงเรียนนั้น บางครั้งหนักถึง 10 กว่ากิโลกรัม จนหวั่นกันว่า น้ำหนักกระเป๋าจะส่งผลต่อร่างกายของเด็ก

เริ่มที่ประเทศไทยกันก่อน ปัญหานี้เป็นที่สนใจมานาน แต่ก็ยังไม่มีการแก้ไขจริงจัง แม้วจะมีงานวิจัยที่ชี้ให้เห็นถึงผลกระทบที่นักเรียนต้องแบกกระเป๋าหนักๆ โดยบทความที่ตีพิมพ์ในวิศวกรรมสารฉบับวิจัยและพัฒนา เรื่อง "การประเมินน้ำหนักของกระเป๋าของนักเรียนชั้นประถมโดยอิงกับแนวทางด้านชีวกลศาสตร์" โดย Sutharin Suvarnaho และ Phairot Ladavichitkul ชี้ว่า กระเป๋าที่นักเรียนประถมในไทยต้องแบกกันมีสัดส่วน 11% ของน้ำหนักตัวเด็ก ส่วนน้ำหนักกระเป๋าที่เหมาะสมคือตั้งแต่ 10% - 15% ของน้ำหนักตัว และยังไม่มีงานวิจัยที่บ่งชี้ว่าการแบกกระเป๋าหนัก ส่งผลให้กระดูกสันหลังผิดรูป

ที่สเปน จากการสำรวจโดย University of Santiago de Compostela พบว่า 1 ใน 4 ของเด็กนักเรียน มีปัญหาเกี่ยวกับหลัง ซึ่งอาจเป็นเพราะกระเป๋าหนักเกินไป โดยนักเรียน 61.4% แบกน้ำหนักกระเป๋าเกิน 10% ของน้ำหนักตัว และ 18.1% แบกน้ำหนัก 15% ของน้ำหนักตัว แต่การวิจัยยังไม่อาจยืนยันได้ว่าการแบกน้ำหนักมากๆ จะทำให้มีปัญหาเกี่ยวกับหลังโดยตรงเพราะไม่ได้ศึกษาปัจจัยอื่นๆ คือการมีพฤติกรรมไม่ออกกำลังกาย และกล้ามเนื้ออ่อนแอง

ที่อินเดีย จากการศึกษาของผู้ช่วยหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งอินเดีย พบว่า 68% ของนักเรียนก่อนวัยรุ่น อาจมีอาการปวดหลังเล็กน้อย ซึ่งอาจจะกลายเป็นอาการปวดหลังเรื้อรัง และทำให้หลังค่อมในที่สุด และจากการศึกษายังพบว่า 88% ของเด็กอายุ 7 - 13 ปี แบกน้ำหนักกระเป๋ามากกว่าน้ำหนักตัวถึง 45%

ที่ไอร์แลนด์ สำนักข่าว The Irish Times ได้สัมภาษณ์ดร. ซารา ด็อคเครลล์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านกายภาพแห่ง Trinity College Dublin และมีประสบการณ์ในประเด็นนี้มานานถึง 20 ปี ด็อคเครลล์กลับบอกว่า ควรจะสนับสนุนให้เด็กๆ แบกกระเป๋าไปเรียน โดยชี้ว่ามีงานวิจัยที่ชี้ว่าระหว่างอาหารปวดหลังไม่เกี่ยวข้องกับการแบกกระเป๋า และดร. ด็อคเครลล์ยังเตือนว่า การปล่อยให้เด็กทำตัวตามสบายเกินไป จะส่งผลให้เด็กเป็นโรคอ้วน การเลิกหิ้วกระเป๋าจึงเป็นการออกกำลังกายที่มีประโยชน์ต่อเด็ก

อาการปวดหลังยังอาจเกี่ยวข้องการใช้ชีวิตติดสบาย เช่นนั่งดูทีวีนานเกินไป ทำให้กล้ามเหนื้อหลังอ่อนแอและเป็นสาเหตุให้ปวดหลัง

แม้ว่าจะยังไม่มีประเทศไหนสรุปได้ว่าการแบกกระเป๋านักเรียนส่งผลต่อสุขภาพเด็ก แต่เอสโตเนียได้เล็งเห็นถึงปัญหานี้ และใช้มาตรการตัดไฟแต่ต้นลม ด้วยการใช้ e-Schoolbag หรือแบบเรียนและอุปกรณ์การศึกษาดิจิทัล ช่วยลดน้ำหนักกระเป๋า และช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง ในตอนนี้เป็นช่วงเริ่มต้น แต่ในอนาคตเด็กๆ จะไม่ต้องแบกหนังสือไปโรงเรียนให้เมื่อยอีก

ในประเด็น e-Schoolbag กำลังเป็นที่สนใจทั่วโลก และเป็นตัวอย่างให้ไทยดำเนินตามรอยได้ ทีมงานโพสต์ทูเดย์เอ็กซ์คลูปซีฟจะนำมาขยายความในโอกาสต่อไป

อ้างอิง

Sutharin Suvarnaho and Phairoat ladavichitkul. Work load evaluation of the school bag carrying of primary students based on biomechanical approach. วิศวกรรมสารฉบับวิจัยและพัฒนา ปีที่ 23 ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2555

"Are heavy schoolbags really damaging children’s backs?". (Febuary 7, 2017). The Irish Times.

"Child back pain 'linked to school bags". (March 15 2012). NHS.

"Heavy school bags are a health risk for Indian children". (November 28, 2018) . TheirWorld.

 

 

ภาพ Photo by DOMINIQUE FAGET / AFP