posttoday

อารยธรรมล่มสลายเพราะภาวะโลกร้อน อุทาหรณ์ถึงอนาคต 

28 กรกฎาคม 2562

อัตราความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศโลกในเวลานี้ มีความรวดเร็วที่สุดในรอบ 2,000 ปี

 

ผลการวิจัยที่ตีพิมพ์ในนิตยสาร Nature ระบุว่า อัตราความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศโลกในเวลานี้ มีความรวดเร็วที่สุดในรอบ 2,000 ปี และไม่แสดงทีท่าว่าจะปรับลดลง ต่างจากช่วง 2,000 ปีที่ผ่านมา เมื่อุณหภูมิโลกปรับขึ้นสู่จุดสูงสุดที่อัตราเฉลี่ย 0.5 องศาเซลเซียส แล้วจะค่อยๆ ปรับลดลงมาลงสู่ช่วงอุณหภูมิต่ำสุดเป็นระยะๆ ซึ่งเรียกว่า ช่วงยุคอุณหภูมิ (climatic epochs) แต่ตอนนี้อุณหภูมิโลกได้พุ่งขึ้นทะลุเส้นอัตราเฉลี่ยในรอบ 2,000 ปีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว คือสูงกว่า 1.5 องศาเซลเซียส

ในช่วงเวลาที่อุณหภูมิของโลกขึ้นลง มีบางระยะที่อากาศร้อนจัดหรือหนาวจัดเป็นเวลานาน เช่น ช่วงอากาศร้อนยุคกลาง (Medieval Warm Period) เป็นช่วงที่สภาพอากาศของโลกร้อนเป็นพิเศษ จากนั้นอุณหภูมิตกลงจนถึงระดับหนาวเย็นผิดปกติ เรียกว่ายุคน้ำแข็งน้อย (Little Ice Age) กินเวลาระหว่างศตวรรษที่ 16 - 19 ความผิดปกติของสภาพอากาศโลกในเวลานั้น ทำให้สภาพความเป็นอยู่ของผู้คนได้รับผลกระทบอย่างเลวร้าย เพราะส่งผลต่อการเพาะปลูกโดยตรง และทำให้อารยธรรม, ราชวงศ์ และประเทศบางแห่งถึงกาลอวสาน เช่น การล่มสลายของราชวงศ์ในจีน

นักวิจัยชี้ว่า อากาศหนาวกระทันหันทำให้เกิดภาวะแห้งแล้งรุนแรงในช่วงปลายราชวงศ์ถัง หรือศตวรรษที่ 10 โดยช่วงนั้นอุณหภูมิของซีกโลกเหนือหนาวจัดทำให้การเพาะปลูกไม่ได้ผล กลายเป็นปัจจัยหนึ่งทำให้อาณาจักรถังแตกแยกและล่มสลาย ต่อมาในศตวรรษที่ 17 ช่วงปลายราชวงศ์หมิง เกิดยุคน้ำแข็งน้ำอีกครั้งในปี 1660–1680 ทำให้มีภัยแล้งเป็นวงกว้าง การเพาะปลูกไม่ได้ผล ทำให้เกิดกบฎชาวนาขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มของหลี่จื้อเฉิงที่โค่นล้มราชวงศ์หมิงได้ในที่สุด และในช่วงปลายราชวงศ์ชิงก็เกิดภาวะแห้งแล้งขึ้นอีกเพราะยุคน้ำแข็งน้อย ในปี 1850–1880 ก่อให้เกิดกบฎต่อต้านทางการ เช่นกบฎไท่ผิง และทำให้ประเทศจีนอ่อนแอลง

ในทางกลับกัน ยุคที่มีฝนตกต้องตามฤดูกาล ราชวงศ์นั้นก็จะมีเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง เช่น หลังจากเกิดยุคน้ำแข็งน้ำน้อยปลายราชวงศ์ถังแล้ว อุณหภูมิโลกปรับตัวทำให้เกิดฝนตกต้องตามฤดูกาล การเพาะปลูกได้ผลดี ทำให้ราชวงศ์เป่ยซ่งรวบรวมแผ่นดินได้อีกครั้ง และมีเศรษฐกิจที่เฟื่องฟูอย่างมาก อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจีนไม่ยอมรับข้อเสนอนี้ และชี้ว่าการล่มสลายของราชวงศ์ถัง เกิดจากการปกครองที่ฉ้อฉล และการแย่งชิงอำนาจ ไม่ใช่เพราะสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง

ในช่วงเดียวกับที่ราชวงศ์ถังของจีนประสบกับภัยแล้งและอากาศหนาวจัด แหล่งอารยธรรมของชาวมายาในอเมริกากลางก็พบกับจุดจบอย่างเป็นปริศนา จนถึงทุกวันนี้ยังหาข้อสรุปไม่ได้ว่า วัฒนธรรมของชาวมายาถึงจุดสิ้่นสุดลงได้อย่างไร แต่นักวิทยาศาสตร์เสนอว่าอาจเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศอย่างกระทันหัน

ตามปกติ ดินแดนของอารยธรรมมายาเป็นเขตร้อนชื้น แต่จากการจำลองอุณหภูมิในช่วง 2,000 ปีโดยสถาบัน NOAA พบว่า ในระหว่างปีค.ศ. 800 - 1000 เกิดภาวะแห้งแล้งในช่วงเวลาดังกล่าวมีระยะเวลายาวนานและรุนแรงมาก ถึงขนาดเรียกได้ว่าเป็น อภิมหาแล้ง (megadroughts) โดยกินพื้นที่ไปถึงตอนกลางของประเทศเม็กซิโกในปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์จึงเสนอว่า ภัยแล้งคือปัจจัยหนึ่งที่ทำให้อาณาจักรมายาถึงกาลสิ้นสุดลง

ในช่วงศตวรรษที่ 12 - 13 ปริมาณน้ำฝนในดินแดนของอาณาจักรมายาลดลง ทำให้พวกที่เหลืออยู่ต้องอพยพไปตั้งถิ่นฐานใหม่ แต่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กลับเกิดฝนตกผิดปกติกินเวลาตั้งแต่ศตวรรษที่ 13 - 14 ทำให้จักรวรรดิเขมรโบราณที่เมืองนครธม ต้องเสื่อมถอยลง เพราะระบบชลประทานที่พัฒนามาตั้งแต่ศตวรรษที่ 9 ไม่สามารถรองรับได้อีกต่อไป


อ้างอิง

Ka-wai Fan. Climatic change and dynastic cycles in Chinese history: a review essay. Climatic Change 101(3):565-573 · August 2010

Rise and Fall of Chinese Dynasties Tied to Changes in Rainfall. (11/07/08). Scientific American

Climate link to fall of Tang dynasty questioned. (11/03/07). SCMP.

Drought and the Ancient Maya Civilization. (Retrieved 7/28/19). NOAA.

How the Ancient Maya Adapted to Climate Change—And Survived to This Day. (5/22/19). Newsweek.