posttoday

เกษตรกรอินเดีย

07 มกราคม 2553

อ่านข่าวในเว็บไซต์ซีเอ็นเอ็นแล้วตกใจครับ รายงานข่าวบอกว่า นับตั้งแต่ปี 1997 เป็นต้นมา มีเกษตรกรชาวอินเดียฆ่าตัวตายไปแล้วมากกว่า 2 แสนคน เฉลี่ยจนถึงปัจจุบัน ฆ่าตัวตายกันปีละกว่า 1.5 หมื่นคน น่าจะเป็นตัวเลขแซงหน้าญี่ปุ่นประเทศที่มีอัตราการฆ่าตัวตายมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

อ่านข่าวในเว็บไซต์ซีเอ็นเอ็นแล้วตกใจครับ รายงานข่าวบอกว่า นับตั้งแต่ปี 1997 เป็นต้นมา มีเกษตรกรชาวอินเดียฆ่าตัวตายไปแล้วมากกว่า 2 แสนคน เฉลี่ยจนถึงปัจจุบัน ฆ่าตัวตายกันปีละกว่า 1.5 หมื่นคน น่าจะเป็นตัวเลขแซงหน้าญี่ปุ่นประเทศที่มีอัตราการฆ่าตัวตายมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

ถือเป็นข่าวที่น่าตกใจสำหรับอินเดีย ประเทศที่เร่งพัฒนาด้านอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็ว และได้รับการเปรียบเปรยว่าจะเป็นมหาอำนาจโลกอีกประเทศหนึ่งเคียงคู่กับจีน

เกษตรกรอินเดียมีปัญหาอะไรกัน ซีเอ็นเอ็นรายงานจากการสัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้องบอกว่า สาเหตุการฆ่าตัวตายมาจาก 2 ปัจจัย และ 2 ปัจจัยนี้ก็ล้วนแต่มาจากระบบทุนนิยม และกระแสโลกาภิวัตน์ทั้งสิ้น

ชาวนาอินเดีย ทำนา ทำไร่ แล้วมีแต่หนี้สิน ไม่มีเงินจ่ายหนี้ จนที่ดินถูกยึด ทำไมทำแล้วเป็นหนี้ เพราะเมล็ดพันธุ์เป็นของนายทุน นำมาปลูกก็ต้องเสียเงิน ทำให้มีต้นทุนสูง อีกทั้งยังมีค่าปุ๋ย และอีกสารพัดค่า

เท่านั้นยังไม่พอ ราคาสินค้าเกษตร และอาหารในตลาดโลกก็แกว่งตัว เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย พักหลังราคาเริ่มตก ขายไปก็ไม่ได้ราคา

นี่แหละครับ เป็นผลพวงจากกระแสโลกาภิวัตน์ ที่แผ่ขยายเข้าไปครอบคลุมพื้นที่ท้องถิ่นดั้งเดิมในอินเดีย ซึ่งปรับตัวกันไม่ทัน รับมือกับระบบทุนนิยมที่เจาะเข้าไปอย่างรวดเร็วไม่ไหว สุดท้ายยิ่งทำก็ยิ่งแย่ จนถึงขั้นฆ่าตัวตายเป็นใบไม้ร่วง

นำเรื่องนี้มาเล่าสู่กันฟัง เพราะอินเดียถูกวางไว้ให้เป็นมหาอำนาจโลกอีกประเทศหนึ่ง ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง ยังมีความแตกต่างกันในระดับสังคม พื้นฐานทางเศรษฐกิจของประชาชนก็ต่างกันอย่างสุดขั้ว

หากมองแต่จำนวนประชากรของอินเดีย แล้วคำนวนออกมาในเชิงเศรษฐศาสตร์ก็น่าจะเชื่อได้ว่าประเทศนี้มีศักยภาพสูงทางเศรษฐกิจ เพราะมีประชากรถึง 1,100 ล้านคน แถมเป็นคนที่มีพลังซื้อถึง 200-300 ล้านคน

แต่อย่าลืมว่า คนมากก็ยิ่งปัญหามาก โดยเฉพาะสำหรับอินเดีย

จีนที่ว่ามีปัญหาช่องว่างของรายได้ที่มากจนเป็นปัญหาใหญ่ อินเดียมีปัญหาหนักยิ่งกว่าจีนครับ เพราะอินเดียนอกเหนือจากความต่างของรายได้ ยังมีการแบ่งชนชั้นวรรณะกันมากมาย เป็นปัญหาใหญ่ที่อินเดียแทบจะไม่สามารถแก้ไขได้เลย เพราะเป็นวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับศาสนาสืบทอดมาเป็นพันๆ ปี

ภาพของบ้านเมืองทันสมัย ความเป็นซิลิคอนวัลเลย์ ศูนย์กลางเทคโนโลยีแห่งเอเชีย ที่เมืองมุมไบนั้นเป็นเพียงแต่จุดเสี้ยวเล็กๆ หนึ่งของอินเดียเท่านั้นครับ

ภาพจริงก็คือที่ปรากฏออกมาเป็นข่าวที่ผมนำมาเล่าให้ฟัง คือเกษตรกรฆ่าตัวตายกันปีละเป็นหมื่นคน เพราะปรับตัวเข้ากับกระแสโลกาภิวัฒน์ไม่ทัน

แต่คนไทยฟังปัญหานี้แล้วอาจจะไม่ตกใจเท่าใดนัก...  เพราะเราเจอปัญหานี้มาก่อนเขาเสียอีก...!