posttoday

ระวัง! เชื้อโรคร้ายในอดีตกำลังจะกลับมาถ้าโลกยังไม่หยุดร้อน

26 กรกฎาคม 2562

ภาวะโลกร้อนกำลังนำพาเชื้อโรคร้ายในอดีตที่ถูกฝังอยู่ในชั้นดินแช่แข็งนับพันปีกลับมาคุกคามมนุษย์อีกครั้ง หลังอุณหภูมิขั้วโลกเหนือสูงผิดปกติ

ภาวะโลกร้อนกำลังนำพาเชื้อโรคร้ายในอดีตที่ถูกฝังอยู่ในชั้นดินแช่แข็งนับพันปีกลับมาคุกคามมนุษย์อีกครั้ง หลังอุณหภูมิขั้วโลกเหนือสูงผิดปกติ

ทุกวันนี้มนุษย์ประสบกับผลพวงของภาวะโลกร้อนได้ทุกหนแห่งบนโลกนี้ ไม่ว่าจะเป็นคลื่นความร้อนที่กำลังเล่นงานยุโรปในขณะนี้หรือแม้กระทั่งในบ้านเราเองที่อุณหภูมิสูงขึ้นทุกปี แต่จุดที่เกิดการเปลี่ยนแปลงมากที่สุดอาจเป็นที่ที่หลายคนคิดไม่ถึง นั่นก็คือบริเวณขั้วโลกเหนือ

ขณะนี้แถบขั้วโลกเหนือกำลังเผชิญกับภาวะอุณหภูมิสูงแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เมืองยาคุตสก์ซึ่งเป็นเมืองที่ขึ้นชื่อว่าหนาวที่สุดในไซบีเรียของรัสเซียที่เคยเย็นยะเยือกจนอุณหภูมิติดลบ 40-50 องศาเซลเซียสตลอดทั้งปี แต่ตอนนี้อุณหภูมิกลับสูงถึง 31 องศาเซลเซียส ใกล้เคียงกับอุณหภูมิของเมืองร้อนอย่างไทย

พื้นที่ในแถบไซบีเรียของรัสเซียปกคลุมด้วยชั้นดินเยือกแข็ง (Permafrost) ราว 65% ชั้นดินเยือกแข็งเหล่านี้ถือเป็นตู้แช่แข็งซากสัตว์ที่ตายทับถมกัน รวมทั้งเชื้อไวรัสและแบคทีเรียอายุนับพันนับหมื่นปีที่รอการฟื้นคืนชีพ โดยปกติแล้วชั้นดินเยือกแข็งจะละลายราว 50 เซนติเมตรในช่วงฤดูร้อน

ยิ่งอุณหภูมิสูงขึ้นชั้นดินเยือกแข็งก็ยิ่งละลายลึกมากขึ้น อากาศที่ร้อนผิดปกติในพื้นที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกกังวลว่า การละลายของชั้นดินเยือกแข็ง (Permafrost) จะเป็นการปลดปล่อยเชื้อโรคร้ายที่หายไปนับพันๆ ปีขึ้นมาอาละวาดบนโลกอีกครั้ง

ข้อสันนิษฐานดังกล่าวไม่ใช่ข้อสันนิษฐานที่เลื่อนลอย เมื่อปี 2016 เกิดโรคแอนแทร็กซ์ระบาดครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 75 ปีในแถบคาบสมุทรยามาลซึ่งเป็นพื้นที่ห่างไกลของไซบีเรีย ส่งผลให้เด็กชายวัย 12 ปีเสียชีวิต ชาวบ้านอีกว่า 70 รายติดเชื้อ และยังมีกวางเรนเดียร์ล้มตายอีกราว 2,000 ตัว

ผู้เชี่ยวชาญของรัสเซียชี้ว่า เมื่อ 75 ปีก่อนหน้า เกิดโรคแอนแทร็กซ์ระบาดในฝูงกวางเรนเดียร์ โดยซากของพวกมันถูกฝังทับถมกันอยู่ใต้ชั้นดินเยือกแข็ง เมื่อคลื่นความร้อนเล่นงานไซบีเรียเมื่อปี 2016 ชั้นดินเยือกแข็งก็เริ่มละลายจนซากกวางโผล่ขึ้นมาพร้อมๆ กับเชื้อแอนแทร็กซ์ที่ฟื้นคืนชีพแล้วปนเปื้อนอยู่ในดิน น้ำ และห่วงโซ่อาหารของมนุษย์จนเชื้อกลับมาระบาดอีกครั้ง

นอกจากนี้ เมื่อปี 2014 และ 2015 ฌ็อง มิเชล คลาเวอรี ผู้อำนวยการสถาบันจุลชีววิทยาเมดิเตอร์เรเนียน และฌ็องตาล อาแบเชลยังค้นพบเชื้อไวรัสที่ยังมีอิทธิฤทธิ์อยู่ในชั้นดินเยือกแข็งอายุ 30,000 ปีของไซบีเรีย 2 ชนิด แม้ไวรัสทั้งสองตัวจะทำให้อะมีบาติดเชื้อเท่านั้น ทว่าการค้นพบดังกล่าวเป็นหลักฐานยืนยันได้อย่างดีว่าเชื้อโรคที่เป็นอันตรายกับมนุษย์ เช่น ฝีดาษ ไข้หวัดสเปน ที่เคยระบาดในอดีตย่อมฝังตัวอยู่ในชั้นดินเยือกแข็งเพื่อรอการกลับมาเช่นกัน

นอกจากนี้ การละลายของชั้นดินเยือกแข็งยังเป็นการปลดปล่อยก๊าซมีเทน หนึ่งในก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน และเมื่อโลกร้อนขึ้น ชั้นดินเยือกแข็งก็ยิ่งละลายมากขึ้น ยิ่งเกิดก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น วนเป็นวงจรจนทำให้สถานการณ์มีแต่แย่ลง

ถึงเวลาแล้วที่มนุษย์ทุกคนต้องร่วมมือกันหยุดภาวะโลกร้อน ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินแก้