posttoday

จริงหรือไม่ที่ความรวยทำให้รอดคุก?

18 กรกฎาคม 2562

สว. สหรัฐชี้ระบบยุติธรรมมี 2 แบบ แบบหนึ่งสำหรับคนรวยและมีอำนาจ อีกแบบหนึ่งสำหรับคนทั่วไป


เอลิซาเบธ วอร์เรน (Elizabeth Warren) วุฒิสมาชิกสหรัฐจากรัฐแมสซาชูเซตส์ เคยลุกขึ้นอภิปรายในสภาอย่างดุเดือด โดยประณามว่า ระบบยุติธรรมของสหรัฐลำเอียงเข้าข้างคนรวย เธอบอกว่า

"ระบบยุติธรรมมี 2 แบบ แบบหนึ่งสำหรับคนรวยและมีอำนาจ อีกแบบหนึ่งสำหรับคนทั่วไป"

คำพูดนี้ถ้าเอ่ยขึ้นในประเทศกำลังพัฒนาบางแห่งอาจจะพอเข้าใจได้ แต่มันออกมาจากปากของนักการเมืองชั้นนำของสหรัฐเพื่อวิจารณ์กระบวนการยุติธรรมในประเทศประชาธิปไตยในฝันของชาวโลก

แม้แต่ในประเทศโลกที่หนึ่ง ความยุติธรรมก็ลำเอียงเข้าข้างคนรวย แม้จะไม่ช่วยอย่างโจ่งแจ้ง แต่กลไกในระบบเอื้อให้เป็นอย่างนั้น

จากกาารศึกษาของ John Lott แห่งมหาวิทยาลัย Rice University พบว่า ยิ่งผู้ต้องหาเป็นคนมีเงินมาเท่าไร ยิ่งมีโอกาสได้รับโทษน้อยลงเท่านั้นเมื่อเปรียบเทียบกับคนที่มีฐานะยากจน สิ่งที่ทำให้ให้คนรวยได้รับโทษน้อยกว่า เรียกว่า ต้นทุนโอกาส (opportunity cost) ซึ่งก็คือเงินที่ไว้ใช้จ้างทนายเก่งๆ เพื่อใช้วาทศิลป์และความรู้ทางกฎหมาย โน้มน้าวลูกขุนหรือผู้พิพากษาให้ลงโทษสถานเบา

ย้ำว่าคนรวยไม่ได้อยู่เหนือกฎหมาย แต่ต้นทุนโอกาสทำให้พวกเขารับโทษเบาลง

เช่น ในการศึกษาที่รัฐฟลอริดา พบว่าโอกาสที่คนรวยจะรับโทษประหารจะน้อยกว่าคนจน ทั้งๆ ที่ทำความผิดเดียวกัน และในกรณีอื่นพบด้วยว่าคนที่มีรายได้มากกว่าจะมีโอกาสได้รับโทษจำคุกน้อยกว่า

ทั้งนี้ ยังไม่นับวิธีการให้ประกันตัวด้วยหลักทรัพย์ ซึ่งทำให้คนจนเสียเปรียบ จากการวิจัยในสหรัฐพบว่า เมื่อคนรวยได้ประกันโอกาสที่จะได้รับโทษก็น้อยลงไปด้วย เพราะหากไม่ได้ประกันตัว ผู้ต้องสงสัยจะต้องเสียเงินจ้างทนายและทีมหาหลักฐานมากขึ้น ที่สหรัฐจึงมีการเสนอมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1960 ให้แก้ไขวิธีการประกันตัวเพื่อให้คนจนได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว และหาหลักฐานแก้ต่างตนเอง

วิธีการประกันตัวไม่ว่าที่สหรัฐหรือไทย เป็นระบบที่เอื้อให้คนที่มีต้นทุนโอกาสสูง (high-opportunity-cost) ซึ่งก็คือคนมีเงิน ทำให้คนเหล่ามีมีโอกาสน้อยลงที่จะได้รับโทษ หรือถ้ารับโทษก็เป็นโทษที่เบาลง

แซม บรูค (Sam Brooke) รองผู้อำนวยการศูนย์กฎหมายความยากจนภาคใต้ กล่าวกับ The Crime Report ว่า “ เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องเข้าใจว่าผู้ที่มีเงินสามารถใช้เงินซื้ออิสรภาพตัวเองให้พ้นจากคุกได้ ดังนั้น ในระบบยุติธรรม ถ้าคุณรวยแล้วทำความผิด คุณจะมีสถานะดีกว่าคนจนหรือคนที่ไม่ได้ทำความผิดเลย (แต่ถูกป้ายสี)"

แม้แต่อดีตอัยการของนิวยอร์ก แลนซ์ เฟลตเชอร์ (Lance Fletcher) ชี้ว่า แต่ไรมาถ้าใครสักคนถูกจับกุมในข้อหาก่ออาชญากรรมก็จะจ้างทนายความเพื่อโต้แย้งคดีของพวกเขาในศาล คนรวยสามารถจ่ายเงินจ้างทนายเพื่อแก้ต่างแทนตัวเองได้ และโอกาสที่จะรอดคดีก็มีสูงตามไปด้วย ทุกวันนี้รัฐบาลมีหน้าที่แต่งตั้งทนายความเพื่อปกป้องคนจนในศาลอาญา (ทนายขอแรง) แต่ความไม่เป็นธรรมก็ยังคงอยู่ ถ้าจำเลยเป็นคนจน จะจ่ายค่าทนายขอแรงแค่ 20 เหรียญสหรัฐต่อชั่วโมง เทียบกับค่าทนายดีๆ ที่ 500 เหรียญสหรัฐต่อชั่วโมง ค่าจ้างถูกก็ได้ทนายที่คุณภาพต่ำไปด้วย

เฟลตเชอร์ ชี้ว่าในช่วง 4 ทศวรรษที่ผ่านมา ชาวสหรัฐจ่ายภาษีโดยไม่ตั้งคำถามอะไรมากนัก แล้วภาษีเหล่านั้นนำมาจ่ายให้กับอัยการ ผู้พิพากษา และเรือนจำที่ดีขึ้น แต่หลีกเลี่ยงการใช้จ่ายพื่อลงทุนด้านทนายเพื่อคนจน เพราะระบบทุกวันนี้ได้รับการออกแบบมาอย่างดีเพื่อลงโทษและจำคุกประชาชนเป็นหลัก เว้นแต่ผู้ถูกกล่าวหาจะสามารถจ่ายค่าทนายที่เหมาะสมได้ วิธีการแก้ปัญหาคือ ควรจัดหาทนายขอแรงที่มีคุณภาพให้กับคนจนเพื่อแก้ต่างให้พวกเขา หากไม่ทำเช่นนั้น คนจนก็จะถูกทอดทิ้งจากความยุติธรรมอยู่อย่างนี้

Photo by NORBERTO DUARTE / AFP

อ้างอิง

John Lott. "Should the Wealthy Be Able to "Buy Justice"?". (December 1987). Journal of Political Economy.

"After Arrest, the Rich Can Buy the Outcome they Need". (Febuar 04, 2017). The Law Office of Lance Fletcher.

"Elizabeth Warren: American Justice Is ‘Rigged’ In Favor Of The Rich". (Febuar 03, 2016). HuffPost News.

"You’re Better Off ‘Rich and Guilty Than Poor and Innocent,’ Panel Told". (March 8, 2019). The Crime Report.