posttoday

นักวิจัยออสซี่อ้าง คนรุ่นใหม่ใช้มือถือมากไป ทำกระดูกท้ายทอยใหญ่ผิดปกติ

22 มิถุนายน 2562

ภาพเอกซเรย์ฐานกระโหลกส่วนท้ายทอยที่มีกระดูกงอก กลายเป็นไวรัล หลังนักวิจัยออสเตรเลียอ้างว่าเกิดจากพฤติกรรมใช้มือถือมากไป

ภาพเอกซเรย์ฐานกระโหลกส่วนท้ายทอยที่มีกระดูกงอก กลายเป็นไวรัล หลังนักวิจัยออสเตรเลียอ้างว่าเกิดจากพฤติกรรมใช้มือถือมากไป

ก่อนหน้านี้ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีนักวิจัยสองรายจากมหาวิทยาลัยซันไชน์โคสต์ ในรัฐควีนส์แลนด์ออกมาเปิดเผยงานวิจัยที่อ้างว่าพฤติกรรมการใช้โทรศัพท์มือถือของบรรดาคนรุ่นใหม่ส่งผลให้เกิดฐานกระโหลกส่วนท้ายทอยมีกระดูกงอกออกมายาวผิดปกติ

เรื่องดังกล่าวได้กลับมาเป็นที่กล่าวถึงอีกครั้งเมื่อสื่อต่างประเทศหลายสำนัก และวารสารด้านวิทยาศาสตร์ได้ออกมาระบุถึงงานวิจัยดังกล่าวที่มี เดวิด ชาฮาร์ และมาร์ค เซเยอร์ ระบุว่าจากการเก็บข้อมูลของกลุ่มตัวอย่างทั้งชายและหญิงช่วงวัยระหว่าง 18-86 ปี จำนวน 1,200 คน พบว่าคนหนุ่มสาวจากกลุ่มตัวอย่างเหล่านี้จะมีลักษณะของกระดูกช่วงท้ายทอยที่ยาวหรือมีขนาดใหญ่กว่าปกติเกินค่าเฉลี่ยโดยทั่วไป และมีขนาดใหญ่กว่ากลุ่มตัวอย่างที่เป็นคนสูงวัย

พวกเขาจึงตั้งสมมติฐานว่าเหตุที่กระดูกท้ายทอยที่มีขนาดใหญ่กว่าปกติเหล่านี้มาจากพฤติกรรมการก้มหน้ามองจอโทรศัพทย์มือถือที่เราทำในชีวิตประจำวันจนส่งผลให้ปุ่มนอกของท้ายทอย หรือที่เรียกว่า external occipital protuberance (EOP) เปลี่ยนแปลงไปตามพฤติกรรมและสรีระของร่างกาย

 

นักวิจัยออสซี่อ้าง คนรุ่นใหม่ใช้มือถือมากไป ทำกระดูกท้ายทอยใหญ่ผิดปกติ

อย่างไรก็ดี หลังเรื่องดังกล่าวแพร่ออกไปเป็นไวรัล สื่อต่างประเทศหลายสำนักได้อธิบายว่าเรื่องดังกล่าวไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด อาทิเช่นสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นได้สอบถามไปยัง Dr. Mariana Kersh อาจารย์จากมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ และเป็นผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการชีวกลศาสตร์เนื้อเยื่อ ระบุว่ากระดูกส่วน EOP ที่มีขนาดใหญ่จนผิดปกติซึ่งเกิดจากพฤติกรรมการใช้สมาร์ทโฟนตามที่นักวิจัยออสซี่ออกมาอ้างนั้น"ยังไม่มีความชัดเจน"

เนื่องจากว่าที่ผ่านมาเคยมีการพบกระดูก EOP ที่ใหญ่กว่าปกติมากแล้วในคนหลากหลายวัย

อีกทั้งยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนเพียงพอว่าการใช้สมาร์ทโฟนในระยะเวลานาน หรือความถี่เพียงใดที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของกระดูกส่วนดังกล่าว ดังนั้นการที่ EOP ขยายใหญ่ขึ้นจึงยังไม่สอดคล้องกับเหตุผลพฤติกรรมการใช้มือถือ