posttoday

ถึงเวลาหรือยังที่ไทยต้องเกณฑ์ผู้หญิงเป็นทหาร?

19 มิถุนายน 2562

แม้จะมีข่าวปลอมเรื่องการเกณฑ์ผู้หญิงเป็นทหาร แต่เกิดคำถามขึ้นมาว่าไทยควรจะเกณฑ์ผู้หญิงเป็นทหารด้วยหรือไม่เพื่อความเท่าเทียมทางเพศ

 


ทีมข่าวโพสต์ทูเดย์เอกซ์คลูซีฟ

ช่วงนี้มีข่าวปลอม (ย้ำว่าข่าวปลอม) ที่อ้างว่า รัฐบาลคสช. ทิ้งทวนด้วยการออกคำสั่งให้เกณฑ์ผู้หญิงเป็นทหาร จนกลายเป็นประเด็นถกเถียงและโวยวายอยู่พักหนึ่ง

แม้ว่าเรื่องนี้จะเป็นข่าวปลอม แต่คำถามหนึ่งยังคงค้างคาใจของหลายๆ คน นั่นคือ ประเทศไทยควรยังใช้ระบบเกณฑ์ทหารต่อไปหรือไม่? และถ้ายังมีการเกณฑ์ทหารต่อไปควรที่จะเกณฑ์ผู้หญิง และเพศต่างๆ ด้วยหรือไม่ เพื่อความเท่าเทียมกันทางเพศ?

หนึ่งในนโยบายที่สร้างความฮือฮาของพรรคอนาคตใหม่คือ การเสนอให้ยกเลิกระบบเกณฑ์ทหาร เปลี่ยนมาใช้ระบบอาสาสมัคร ยกเว้นในภาวะสงคราม ความจริงแล้วแนวคิดนี้มีผู้เสนอมาหลายปีแล้ว และไม่ใช่แค่พรรคอนาคตใหม่ที่ชูนโยบายดังกล่าว ทั้งยังมีการถกเถียงกันทุกปี โดยกองทัพยังยืนยันว่าการเกณฑ์ทหารมีความจำเป็น เช่น พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม ที่แถลงเมื่อเดือนกุมภาพันธ์โดยแจกแจงว่ากองทัพมีทหารเกณฑ์เท่าไร และใช้ในงานด้านใดบ้าง (โปรดดูลิ้งข่าวตอนท้าย)

อย่างไรก็ตาม ข่าวการเสียชีวิตและการทำร้ายร่างกายทหารเกณฑ์เกิดขึ้นบ่อยครั้ง และบั่นทอนความเชื่อมั่นของประชาชนต่อระบบเกณฑ์ทหารทุกครั้ง หากจะมีการเกณฑ์ผู้หญิงเข้าไปด้วย จะต้องถูกคัดค้านอย่างหนักแน่นอน อย่างไรก็ตาม มีบางประเทศที่มีความก้าวหน้าเรื่องเพศ ได้เริ่มเกณฑ์ผู้หญิงกันแล้ว และโมเดลของบางประเทศอาจเป็นทางออกให้วิวาทะในไทยได้ 

ถึงเวลาหรือยังที่ไทยต้องเกณฑ์ผู้หญิงเป็นทหาร? ทหารสวีเดนซ้อมรบ ภาพ - AFP

สูตรสวีเดน

โฆษกกระทรวงกลาโหมเอ่ยถึงกรณีของสวีเดนที่กลับมาใช้ระบบเกณฑ์ทหารอีกครั้ง เนื่องจากหวั่นภัยคุกคามด้านความมั่นคง เราจะขอขยายความเพิ่มว่า สวีเดน ยกเลิกกการเกณฑ์ไปเมื่อปี 2010 เนื่องจากอยู่ในภาวะสันติ แต่ในเวลาเดียวกันมีการแก้กฎหมายระบุว่าต่อไปในการเกณฑ์กำลังคงจะไม่ระบุเพศ (gender-neutral) คือต้องเกณฑ์ทั้งชายและหญิง

แต่แล้วในปี 2017 รัฐบาลสวีเดนกลับมาเริ่มเกณฑ์ทหารอีกครั้ง โดยระบุว่าเกิดภัยคุกคาม (ในช่วงเดียวกับยุโรปมีปัญหากับรัสเซีย) แล้วคราวนี้เกณฑ์ทั้งชายและหญิงเข้ากองทัพ แต่กองทัพจะคัดเฉพาะคนหนุ่มสาวที่มีความตั้งใจที่จะเป็นทหาร โดย BBC ใช้คำว่า highly selective หมายความว่า แม้สวีเดนจะใช้ระบบเกณฑ์คนทั้งหญิงและชาย แต่จะต้องมาคัดอีกรอบว่าคนที่เกณฑ์มา "มีใจ" หรือไม่ เพราะพวกเขาต้องการคนที่มีความตั้งใจและมีความ

วิธีการคัดเลือกคือ ในเวลานี้ที่สวีเดนมีประชาชนที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ 90,000 คน แต่จะเรียกเฉพาะคนที่เกิดในปี 1999 มา 13,000 คนเพื่อนำมาประเมินศักยภาพด้านการทหารก่อน แล้วจะคัดเหลือ 4,000 คนทั้งชายและหญิง มาฝึกรบเป็นเวลา 9 - 12 เดือน

นี่คือสูตรของสวีเดนในยามสันติแต่มีภัยคุกคาม ในช่วงที่สวีเดนมีภัยคุกคามอย่างเต็มที่ในช่วงสงครามเย็น ผู้ชาย 85% ต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหาร ซึ่งหากมีเหตุการณ์แบบเดียวกันเกิดขึ้นอีก ไม่แน่ว่าอาจเป็น 85% ของทั้งหญิงและชายที่ต้องเป็นทหาร

ถึงเวลาหรือยังที่ไทยต้องเกณฑ์ผู้หญิงเป็นทหาร? ทหารหญิงนอร์เวย์ ภาพ - AFP


สูตรนอร์เวย์

อีกประเทศหนึ่งที่เกณฑ์ทั้งหญิงและชาย คือ นอร์เวย์ ซึ่งเริ่มเกณฑ์ผู้หญิงตั้งแต่ปี 2015 โดยใช้วิธีเดียวกับสวีเดน นั่นคือเรียกทั้งหญิงและชายมารับการตรวจสอบว่าพร้อมที่จะรับการเกณฑ์หรือไม่ เช่นในปี 2012 มีหญิงและชายเข้าเกณฑ์ 63,841 คน แต่ถูกเกณฑ์ 9,265 คน โดยเฉพาะเลือกเฉพาะคนที่ตั้งใจจะเป็นทหารเป็นหลักคล้ายกับสวีเดน แต่นอกจากจะเกณฑ์มาเป็นทหารแล้ว ยังมีการเกณฑ์หญิงและชายจำนวน 8,000 คน มาทำงานพลเรือนด้านความมั่นคงด้วย

สาเหตุที่เกณฑ์ผู้หญิงด้วย ไลลา กุสตาฟเซน สมาชิกสภาจากพรรคแรงงานบอกกับสำนักข่าวรอยเตอร์สว่า "สิทธิและหน้าที่ควรเท่าเทียมกันทุกคน กองทัพจำเป็นต้องเข้าถึงแหล่งทรัพยากรมนุษย์ที่ดีที่สุด โดยไม่แยกแยะว่าเป็นเพศใด และตอนนี้ (ปี 2013) มีแต่ผู้ชายเท่านั้นที่ถูกเกณฑ์"

รอยเตอร์สชี้ว่า แต่ไรมานอร์เวย์เป็นประเทศแถวหน้าในการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมกันทางเพศ และมีกฎหมายกำหนดให้คณะกรรมการบริหารบริษัทต้องเว้นที่ให้ผู้หญิง 40% หากดูนอร์เวย์เป็นตัวอย่าง การส่งเสริมสิทธิทางเพศจึงต้องไม่มียกเว้นไม่ว่าด้านใด รวมถึงการป้องกันประเทศ

แต่นอร์เวย์ยังไปไกลกว่านั้น ด้วยการเริ่มโครงการทดลองให้ทหารเกณฑ์หญิงและชายมาพักอยู่ในห้องเดียวกัน ฝึกร่วมกัน และปฏิบัติหน้าที่ร่วมกัน เพื่อสลายทัศนะเดิมๆ ที่มองกันว่ากองทัพมีภาพลักษณ์ผู้ชายเป็นใหญ่ และทำให้ทหารหญิงและชายมีความรู้สึกแบบพี่น้อง นอกจากนี้ยังอาจเป็นวิธีการแก้ไขการล่วงละเมิดผู้หญิงในกองทัพ

ถามว่าทำไมสวีเดนและนอร์เวย์จึงไม่ใช่ระบบอาสามัครไปเลย เพราะการเกณฑ์ยังต้องถามความสมัครใจอยู่ดี? คำตอบก็คือ ทั้ง 2 ประเทศมีระบบอาสาสมัครอยู่แล้ว แต่การเกณฑ์เพื่อเสริมส่วนที่ขาด ดังนั้นเราจะเห็นว่ามีการรับสมัครทหารไม่อาจแก้ปัญหาได้ทั้งหมด ยกเว้นประเทศจีนที่จะมีผู้สมัครเป็นทหารเต็มอยู่ตลอด

ถึงเวลาหรือยังที่ไทยต้องเกณฑ์ผู้หญิงเป็นทหาร? การฝึกของทหารจีน ภาพ - AFP

สูตรจีน

ตามกฎหมายจีน ผู้ชายที่มีอายุ 18 ปีในปีนั้นจะต้องไปแจ้งกับสัสดีเพื่อลงทะเบียนเข้ารับการเกณฑ์ทหาร แต่ในทางปฏิบัติทุกปีจะมีผู้สมัครเป็นทหารเต็มหรือเกินโดยตลอด เนื่องจากถือเป็นอาชีพที่มีเกียรติ และมีสวัสดิการดีเยี่ยม อย่างไรก็ตาม จีนมีระบบการฝึกทหารทั้งชายและหญิงร่วมกัน โดยทุกปีก่อนที่จะเริ่มปีการศึกษา นักเรียนมัธยมและระดับมหาวิทยาลัยปี 1 จะเข้าร่วมการฝึกทหารเป็นเวลา 1 - 2 สัปดาห์ ตามกฎหมายการศึกษาวิชาทหารที่เริ่มใช้ในปี 1984 ซึ่งระบุว่า "เป็นหน้าที่ของพลเมืองทุกคนในสาธารณรัฐประชาชนจีนที่จะต้องปกป้องมาตุภูมิจากการรุกราน"

การศึกษาวิชาทหารจะประกอบด้วยการเรียนทฤษฎีและปฏิบัติ และการฝึกรบ โดยในชั้นมัธยมต้นจะฝึกการตั้งแถวและการเคลื่อนไหวขั้นพื้นฐาน ในระดับมัธยมปลายจะฝึกการซ้อมและศึกษาวิธีการอพยพในสถานการณ์ฉุกเฉิน รวมถึงการป้องกันประเทศ, ในระดับอุดมศึกษา จะรับการฝึกวิชาทหารอย่างเป็นทางการ รวมถึงการอพยพในสถานการณ์ฉุกเฉิน

สูตรของจีนคล้ายนักศึกษาวิชาทหาร หรือ รด. ในไทย เพียงแต่เป็นหลักสูตรภาคบังคับทั้งชายและหญิง

ถึงเวลาหรือยังที่ไทยต้องเกณฑ์ผู้หญิงเป็นทหาร? ทหารหญิงอิสราเอล ภาพ - AFP

สูตรอิสราเอล

เกณฑ์ทั้งหญิงและชายที่มีอายุครบ 18 ปี มารับการฝึกทางการทหาร ผู้ชายจะรับการฝึก 32 เดือน ผู้หญิง 24 เดือน แต่มีข้อยกเว้นสำหรับบุคคลที่มีข้อห้ามทางศาสนา และบางชนชาติที่มิใช่ชาวยิว การเกณฑ์ทั้ง 2 เพศเป็นความจำเป็นของประเทศเพราะอิสราเอลเป็นประเทศที่ตั้งขึ้นใหม่ มีประชากรจำกัด และมีเหตุกระทบกระทั่งกับเพื่อนบ้าอนยู่เสมอ

ถามว่าถ้าต้องเกณฑ์ทหารทั้งผู้ชายแล้วผู้หญิง แล้วเพศทางเลือกทั้งหลายจะต้องรับการเกณฑ์ด้วยหรือไม่? หากใช้มาตรฐานของสวีเดนกับนอร์เวย์ ทุกเพศจะต้องรับการคัดเลือก แต่การถูกเลือกขึ้นอยู่กับความพร้อมของร่างกายและจิตใจด้วย หากใช้มาตรฐานจีน ทุกเพศต้องรับการฝึกทหารโดยเท่าเทียมกัน

แม้แต่อิสราเอลที่มีการเกณฑ์หญิงและชายเกือบ ก็ยังไม่เว้นเกย์ เลสเบี้ยน โดยเกณฑ์คนกลุ่มนี้ในปี 1993 ส่วนผู้ชายและหญิงข้ามเพศเกณฑ์ทหารเริ่มในปี 2014 และทหารที่อยากจะผ่าตัดแปลงเพศระหว่างรับใช้ชาติก็สามารถทำได้

 

อ้างอิง

"เกณฑ์ทหาร"ยังจำเป็น". คมชัดลึก. 27 กุมภาพันธ์ 2562.

"Sweden brings back military conscription amid Baltic tensions". BBC. 2 March 2017.

"Norway becomes first NATO country to draft women into military". Reuters JUNE 14, 2013.

"Norway's mixed-sex army: Border guards on Arctic frontier live and work together in challenge to male-dominated military". ABC. 5 Aug 2014.

"Why Chinese students have to start the academic year with a short spell of military service". South China Morming Post. 23 September 2018.

"New group defends integrated Israel military". Washington Blade. 20 April 2017.