posttoday

เหมือนถูกข่มขืนซ้ำ กฎหมายญี่ปุ่นผลักให้เหยื่อขืนใจทุกข์อยู่เงียบๆ ในมุมมืด

13 มิถุนายน 2562

เหยื่อคดีข่มขืนและผู้หญิงญี่ปุ่นรวมตัวแสดงพลังทั่วประเทศเรียกร้องให้ทางการแก้ไขกฎหมายข่มขืน หลังศาลพิพากษาให้จำเลยคดีข่มขืนไม่มีความผิด ทั้งๆ หลักฐานมัดตัวแน่น

เหยื่อคดีข่มขืนและผู้หญิงญี่ปุ่นรวมตัวแสดงพลังทั่วประเทศเรียกร้องให้ทางการแก้ไขกฎหมายข่มขืน หลังศาลพิพากษาให้จำเลยคดีข่มขืนไม่มีความผิด ทั้งๆ หลักฐานมัดตัวแน่น

การประท้วงกฎหมายข่มขืนเริ่มขึ้นในกรุงโตเกียวและเมืองโอซะกะเมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา และมีการรวมตัวกันแสดงจุดยืนทุกๆ เดือน โดยใช้ดอกไม้เป็นสัญลักษณ์เพื่อแสดงความเห็นใจผู้หญิงที่ถูกขืนใจ จนมีการเรียกขานการรวมตัวนี้ว่า ประท้วงดอกไม้ (Flower Demo) ก่อนจะค่อยๆ ขยายวงไปยังเมืองต่างๆ ทั่วประเทศอีก 7 แห่ง ได้แก่ ซัปโปโร เซนได นาโงยะ โกเบ ยะมะงุชิ ฟุกุโอกะ คะโงชิมะ

ชนวนของการประท้วงมาจากการตัดสินคดีข่มขืนของศาลที่ค้านความเห็นของคนทั้งประเทศ รวมทั้งบรรดานักกฎหมายของญี่ปุ่น คดีแรกคือพ่อแท้ๆ ข่มขืนลูกสาววัย 19 ปีมานานหลายปี แต่ศาลกลับพิพากษาว่าจำเลยไม่มีความผิดฐานใช้กำลังหรืออำนาจข่มขืนใจผู้อื่น ให้มีความผิดเพียงฐานข่มขืนกระทำชำเราซึ่งเบากว่า โดยศาลให้เหตุผลว่าลูกสาวมีสิทธิ์ต่อต้านขัดขืนได้หากเธอจะทำ

อีกคดีหนึ่งเกิดขึ้นที่เมืองฟุกุโอกะ คดีนี้จำเลยขืนใจผู้หญิงที่หมดสติเพราะฤทธิ์แอลกอฮอล์ แต่ศาลพิพากษาว่าจำเลยไม่มีความผิด เพราะจำเลยเข้าใจผิดคิดว่าผู้หญิงยินยอมมีเพศสัมพันธ์ด้วย ทั้งสองคดีนี้ก่อให้เกิดเสียงคัดค้านไปทั่วประเทศ ไม่เว้นแม้แต่บรรดานักกฎหมายที่มองว่าคำพิพากษาทั้งสองคดีเป็นการจำกัดการพิสูจน์ว่าผู้ถูกกระทำอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้มากเกินไป ทั้งยังเป็นการผลักภาระการพิสูจน์ให้กับเหยื่อฝ่ายเดียว

เหมือนถูกข่มขืนซ้ำ กฎหมายญี่ปุ่นผลักให้เหยื่อขืนใจทุกข์อยู่เงียบๆ ในมุมมืด

โทโมโกะ มูระตะ นักกฎหมายผู้เชี่ยวชาญด้านคดีข่มขืน เผยว่า คำพิพากษาดังกล่าวของศาลส่งผลสะท้อนอย่างใหญ่หลวงต่อสังคม ทำให้เหยื่อข่มขืนเสื่อมศรัทธากับการขอความช่วยเหลือจากระบยุติธรรม ทั้งศาลยังไม่ค่อยพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดจนสุดท้ายกลายเป็นเหยื่อที่ต้องทนทุกข์กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
นอกจากการพิสูจน์ทางกฎหมายแล้ว แนวคิดของสังคมญี่ปุ่นก็เป็นอุปสรรคอีกอย่างหนึ่ง เนื่องจากสังคมยังยึดติดว่าผู้หญิงมีหน้าที่จะต้องปกป้องพรหมจรรย์ของตัวเอง มูระตะยังกล่าวอีกว่า ญี่ปุ่นมีกฎหมายข่มขืนใช้ก่อนที่ผู้หญิงจะมีสิทธิ์มีเสียงเลือกตั้ง และจุดประสงค์ของกฎหมายขณะนั้นคือการปกป้องเกียรติของครอบครัวและเชื้อสายของตัวเองมากกว่าจะปกป้องตัวผู้หญิง

อย่างไรก็ดี เมื่อปี 2014 ญี่ปุ่นได้แก้ไขกฎหมายข่มขืนครั้งใหญ่โดยมีผลบังคับใช้ในปี 2017 อาทิ ให้รวมการออรัลเซ็กซ์และการล่วงล้ำทวารหนักเป็นการกระทำชำเราด้วย นั่นคือผู้ชายก็สามารถเป็นเหยื่อข่มขืนได้เช่นเดียวกับกฎหมายไทย, เพิ่มโทษจำคุกต่ำสุดจาก 3 ปีเป็น 5 ปี, รัฐเริ่มดำเนินคดีได้เองแม้ผู้เสียหายไม่ได้แจ้งความร้องทุกข์ รวมทั้งกำหนดให้พ่อแม่หรือผู้ปกครองที่ข่มขืนบุตรที่อายุไม่เกิน 18 ปีเป็นความผิดทุกกรณี ไม่จำเป็นต้องเป็นการใช้ความรุนแรง การข่มขู่ หรือทำให้อยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้เท่านั้น

แต่กับกรณีการข่มขืนผู้ใหญ่ยังต้องพิสูจน์ว่ามีการใช้ความรุนแรง ข่มขู่ หรือทำให้อยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้อยู่ เนื่องจากกฎหมายกลัวว่าจะมีการจงใจกลั่นแกล้งให้บุคคลอื่นต้องรับโทษ พูดง่ายๆ ก็คือ ผู้เสียหายต้องต่อสู้ขัดขืนเท่านั้นศาลจึงจะถือว่าเป็นการข่มขืน

เหมือนถูกข่มขืนซ้ำ กฎหมายญี่ปุ่นผลักให้เหยื่อขืนใจทุกข์อยู่เงียบๆ ในมุมมืด

แต่หากจะใช้การต่อสู้ขัดขืนชี้ว่าจำเลยมีความผิดหรือไม่ อาจจะเป็นการใจแคบเกินไป เพราะบางครั้งผู้ถูกกระทำก็ตกใจกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับตัวเองจนตัวแข็งทื่อทำอะไรไม่ถูก มิยาโกะ ชิระคะวะ นักจิตวิทยาที่บำบัดจิตใจเหยื่อข่มขืน เผยว่า ปฏิกิริยาดังกล่าวเป็นการตอบสนองตามสัญชาตญาณปกติ ซึ่งถือเป็นรูปแบบหนึ่งของกลไกการปกป้องตัวเอง ผิดกับความคิดความเชื่อของคนส่วนใหญ่ที่มีภาพจำว่าผู้หญิงที่กำลังจะถูกข่มขืนต้องดิ้นรนต่อสู่หรือร้องโวยวาย

แต่หากเราได้ฟังประสบการณ์จากผู้หญิงที่ถูกกระทำ เราจะเข้าใจว่าในเหตุการณ์จริงๆ การต่อสู้ปกป้องตัวเองไม่ได้ง่ายเหมือนที่หลายคนคิด ผู้ถูกกระทำหลายคนเหมือนกับถูกอาการอัมพาตจู่โจมฉับพลัน ไม่สามารถขัดขืนคนร้ายได้เลย และอาการดังกล่าวก็มีผลการวิจัยรองรับชัดเจนแล้วว่าเป็นปฏิกิริยาตามธรรมชาติของร่างกาย

ผลการวิจัยร่วมกันระหว่างสถาบันแคโรลินสกากับโรงพยาบาลทั่วไปสตอกโฮล์มของสวีเดน ระบุว่า อาการดังกล่าวนี้เรียกว่า Tonic Immobility จะเกิดขึ้นเมื่อสมองของคนเราคำนวณแล้วว่าอันตรายที่เกิดขึ้นเป็นอันตรายร้ายแรงอาจถึงขั้นเสียชีวิต หากต่อสู้ก็ไม่ชนะแน่ๆ และเป็นอันตรายที่กระทบต่อจิตใจอย่างแรง เช่น การข่มขืน สมอง (ที่อยู่เหนือการควบคุม) ก็จะสั่งให้เราอยู่เฉยๆ ตาจะค่อยๆ ปิด ตัวสั่น อุณหภูมิร่างกายลดลง ไม่รู้สึกถึงความเจ็บปวด และหมดเรี่ยวแรง

แอนนา มอลเลอร์ ผู้นำในการวิจัยเผยว่า การดำเนินคดีในศาลมักจะพุ่งเป้าไปที่ผู้ถูกกระทำว่ายินยอมมีเพศสัมพันธ์หรือไม่ แต่การไม่ต่อสู้จากอาการ Tonic Immobility ไม่ควรถูกมองว่าเป็นการแสดงความยินยอมของผู้ถูกกระทำ