posttoday

นักข่าวกำลังจะตกงาน เมื่อ AI คัดข่าวให้คุณแทนมนุษย์

04 มิถุนายน 2562

ทำความรู้จักกับ NewsDigest เมื่อวิศวกรคอมพิวเตอร์เป็นนักข่าวแทนสื่อมืออาชีพ

ทำความรู้จักกับ NewsDigest เมื่อวิศวกรคอมพิวเตอร์เป็นนักข่าวแทนสื่อมืออาชีพ

ในเวลานี้ มีวิศวกรกลุ่มหนึ่งกำลังขะมักเขม้นกับการสร้างปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ที่ควานหาข่าวจากแหล่งต่างๆ ในเวลาอันรวดเร็ว โดยไม่ต้องขอแรงนักข่าว บรรณาธิการ หรือว่าผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อสารมวลชน

นี่ไม่ใช่เรื่องในอนาคต แต่เกิดขึ้นจริงแล้วในญี่ปุ่น และเหตุการณ์ที่สร้างความสั่นสะเทือนให้กับวงการสื่อมากที่สุดคือ การเสียชีวิตของ คิมจองนัม พี่ชายของ คิมจองอึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือเมื่อปี 2017 ปรากฏว่ามีสำนักข่าวหนึ่งนำเสนอข่าวก่อนหน้าสื่อรายใหญ่ๆ ในญี่ปุ่นแบบทิ้งห่างกันหลายชั่วโมง สร้างความตกตะลึงให้ยักษ์ใหญ่ในวงการเป็นอย่างมาก ว่าสื่อรายนี้เป็นใคร มาจากไหน แล้วมีกลเม็ดอะไรถึงได้คว้าข่าวระดับโลกมารายงานได้ก่อนใคร

สื่อรายนี้คือ NewsDigest ภายใต้การบริหารของ JX Press Corp. สตาร์ทอัพน้องใหม่ที่กำลังมาแรงสุดๆ และก่อตั้งโดย คัตสึชิโร โยเนชิเงะ นักธุรกิจหนุ่มอายุแค่ 29 ปีเท่านั้น ส่วนพนักงานก็มีอายุเฉลี่ยไล่เลี่ยกันคือ 29 ปี

โยเนชิเงะ ไม่ได้จ้างนักข่าว แต่เขาจ้างวิศวกรมาพัฒนาอัลกอริทึ่มและปัญญาประดิษฐ์สำหรับกวาดสายตาหาข่าวด่วนในโซเชียลเน็ตเวิร์ค ซึ่งตอนนี้กลายเป็นช่องทางหลักของกระแสข้อมูลข่าวสาร โดยจะกรองข่าวตลอด 24 ชม.ผ่านทางโซเชียลเน็ตเวิร์คสำคัญๆ เช่น ทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ค อินสตาแกรม

เมื่อได้ข่าวด่วนที่ต้องการมาแล้ว จะนำเสนอผ่านแอพพลิเคชั่นที่บริการฟรี แต่หลังจากความสำเร็จของกรณี คิมจองนัม ทำให้ NewsDigest ไม่ใช่ธุรกิจหลักเพียงอย่างเดียว เพราะพวกเขายังให้บริการเทคโนโลยีแบบเดียวกับสื่อหลักๆ ของประเทศ โดยเป็นผู้ป้อนข่าวด่วนให้กับสื่อยักษ์ใหญ่ ด้วยการกรองสถานการณ์คับขันต่างๆ แล้วเตือนไปยังลูกค้าผ่านบริการที่เรียกว่า FASTALERT

ดังนั้น ในอนาคตสำนักข่าวใหญ่ๆ อาจจะไม่ต้องใช้นักข่าวคอยนั่งส่องสถานการณ์กันอีก เพียงใช้ระบบปฏิบัติงานอัตโนมัติโดยสมองกล หรือ Automation กรองส่งข่าวจากโซเชียลเน็ตเวิร์ค หรือสำนักข่าวใหญ่ๆ ที่เข้าถึงแหล่งข่าวได้โดยตรง เท่านี้ก็เพียงพอแล้ว

ส่วนนักข่าวอาจจะต้องยกระดับมาทำงานด้านวิเคราะห์ข้อมูลและคาดการณ์สถานการณ์ ข่าวสืบสวนสอบสวนที่ใช้ทักษะด้านวารสารศาสตร์ชั้นสูง หรืองานที่ต้องใช้วรรณศิลป์ เรื่องแบบนี้ระบบปัญญาประดิษฐ์ยังทำแทนคนไม่ได้ ส่วนข่าวสั้นข่าวด่วนปล่อยให้เป็นหน้าที่ระบบอัตโนมัติกันไป

โยเนชิเงะ เรียกสิ่งนี้ว่า การทำข้อมูลข่าวสารให้เป็นจักรกล หรือ Mechanization of the news (ภาษาญี่ปุ่นใช้คำว่า โฮโด โนะ คิไคกะ 報道の機械化) ซึ่งเป็นคำที่ใหม่มากๆ นอกจากจะพลิกโฉมวงการเอไอแล้ว ยังทำให้สื่อต้องมาทบทวนตัวเองอย่างหนักอีกด้วย

โฮโด โนะ คิไคกะ หรือกระบวนการทำให้ข้อมูลข่าวสารเป็นจักรกล ไม่ได้มุ่งเป้าไปที่การทำลายสื่อกระแสหลัก ตรงกันข้ามโยเนชิเงะกลับเสนอทางออกให้กับสถาบันสื่อเพื่อเอาตัวรอดในยุคที่ต้องแข่งขันกับโลกโซเชียลด้วยซ้ำ เพราะสื่อต้องเสียเวลาในการค้นและกรองข่าว ขณะที่รายได้จากโฆษณาลดลง

เมื่อต้นทุนยังสูง แต่รายได้ลดลง ทำให้คุณภาพของการรายงานข่าวลดลงตามไปด้วย เมื่อคุณภาพของข่าวลดลง ทำให้มูลค่าของแบรนด์ลดลง และทำให้ผู้บริโภคข่าวลดลง รายได้จากโฆษณาจึงลดลง กลายเป็นวงจรอุบาทว์ที่ทำให้สื่อมีแต่ตายกับตาย

นี่คือปัญหาที่โยเนชิเงะมองเห็น สุดท้ายแล้วคุณภาพข่าวสัมพันธ์กับต้นทุนของการประกอบการ ดังนั้นการลดต้นทุนจึงมีความสำคัญ ระบบ Automation จึงเป็นทางออก

ต้องยอมรับว่าในยุคนี้ กระแสข้อมูลข่าวสารไหลบ่าเข้ามาสู่ผู้เสพจนเลือกกรองกันไม่ทัน ราวกับว่าข้อมูลข่าวสารคือไร่องุ่นขนาดใหญ่ ผลิตองุ่นนับหมื่นนับแสนผล แต่ความต้องการองุ่นของเขามีแค่พวงเดียว

หากเป็นไร่องุ่นจริงๆ เกษตรกรคงต้องใช้เครื่องจักรในการเก็บเกี่ยวและกรองผลดี ผลเน่า และใบกับวัชพืชออกไป เช่นเดียวกัน ในอุตสาหกรรมสื่อ ไม่อาจรับมือกับผลิตผลด้านข้อมูลข่าวสารที่มีมากมายมหาศาลด้วยกำลังคนเพียงอย่างเดียว "จักรกล" หรือ "สมองกล" เป็นปัจจัยสำคัญที่ไม่อาจปฏิเสธได้อีกต่อไป

นี่คือสิ่งที่โยเนชิเงะเห็น นำเสนอ และต้องการให้สื่อคล้อยตามเขา