posttoday

เปิดโปรไฟล์ขุนศึกแซ่หม่า ในสงครามเทค จีน-สหรัฐ

03 มิถุนายน 2562

หม่าฮั่วเถิง เนิร์ดระดับไฮโซ ผู้ให้กำเนิด Tencent และวันนี้คือหนึ่งในสองเจ้าสัวแซ่หม่าแห่งเมืองจีน

หม่าฮั่วเถิง เนิร์ดระดับไฮโซ ผู้ให้กำเนิด Tencent และวันนี้คือหนึ่งในสองเจ้าสัวแซ่หม่าแห่งเมืองจีน

ในวงการเทคของจีนมีเจ้าสัวแซ่หม่าอยู่ 2 คน คนหนึ่งคือ หม่าหยุน หรือแจ๊ค หม่า แห่ง Alibaba อีกคนหนึ่งคือ หม่าฮั่วเถิง หรือ โพนี หม่า แห่ง Tencent

ในเวลานี้ แจ็คหม่ายังสงวนท่าทีเกี่ยวกับสงครามการค้า ส่วนหม่าฮั่วเถิงบอกไว้สัปดาห์ที่แล้วว่า เขากำลังจับตาดูว่าสงครามการค้ากำลังจะกลายเป็นสงครามธุรกิจสายเทคโนโลยีหรือไม่

เขาบอกกับเว็บไซต์ 36kr ว่า จากกรณีของ ZTE และหัวเว่ยกำลังดุเดือดขึ้น เขากำลังจับตาดูอย่างต่อเนื่องว่า สงครามการค้าจะกลายเป็นสงครามเทคโนโลยีหรือไม่ ด้วยเหตุนี้ ถ้าพวกเขาไม่ผลักดันการพัฒนาการวิจัยเทคโนโลยีสำคัญๆ ก็จะทำให้เศรษฐกิจดิจิทัลที่พวกเขาสร้างขึ้นมา เหมือนกับตึกสูงที่สร้างขึ้นบนผืนทราย ไม่อาจที่จะรักษาความมั่นคงไว้ได้

เปิดโปรไฟล์ขุนศึกแซ่หม่า ในสงครามเทค จีน-สหรัฐ

ในวันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับเจ้าสัวหม่าฮั่วเถิงกัน ก่อนที่สงครามการค้าจะกลายเป็นสงครามเทคอย่างเต็มตัว

หลายปีก่อนนักแชตทั้งหลายคงจะจดจำชื่อ QQ ได้เป็นอย่างดี แต่วันนี้ดูเหมือนว่าบริการนี้จะล้าสมัยไปเสียแล้ว ถึงขนาดที่บางคนอาจจำไม่ได้ว่าเคยติดกันงอมแงม หรือเด็กรุ่นใหม่บางคนอาจส่ายหน้าเหมือนเพิ่งเคยได้ยินโปรแกรมนี้เป็นครั้งแรก เพราะวันนี้คือยุคของทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก ไลน์ และอีกสารพัดโซเชียลเน็ตเวิร์กให้เลือกใช้และเสพติดกัน ไม่เหมือนวันที่การพูดคุยออนไลน์จำกัดอยู่ที่โปรแกรมเพียงไม่กี่ตัว

แม้จะดูเหมือนว่า QQ ได้เลือนลางไปจากความทรงจำของชาวโลกแล้ว แต่วันนี้ มันได้กลายเป็นรากฐานของบริษัทเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของจีน นั่นคือ Tencent และชาวจีนผู้ให้กำเนิดบริษัทนี้คือ หม่าฮั่วเถิง นักธุรกิจผู้ยิ่งใหญ่แห่งวงการไอทีแดนมังกร วัย 47 ปี

หม่าฮั่วเถิง เกิดเมื่อปี 1971 ที่เกาะไหหลำ แต่ย้ายมาอยู่ที่เซินเจิ้นเมื่ออายุได้ 13 ปี ในช่วงเวลาที่เมืองนี้กำลังกลายเป็นเขตเศรษฐกิจใหม่ของจีน และที่นี่เองที่ หม่า ศึกษาเล่าเรียนจนคว้าดีกรีด้านวิศวกรรมซอฟต์แวร์ จากมหาวิทยาลัยเซินเจิ้น และที่นี่ หม่า ได้สร้างอาณาจักรไอทีที่ยังยิ่งใหญ่และเติบโตครอบคลุมแดนมังกรและอีกหลายพื้นที่ของโลก

หม่า ผู้มีชื่อเล่นว่า "โพนี" ตั้งบริษัท Tencent เมื่อปี 1998 ในช่วงเวลาที่อินเทอร์เน็ตกำลังเชื่อมโลกเข้าด้วยกัน ในช่วงเวลาเริ่มต้น หม่า กับทีมงานต้องทำงานจิปาถะตั้งแต่รับงานประเภทเอาต์ซอร์ซจากบริษัทยักษ์ใหญ่ ไปจนถึงการออกแบบเว็บไซต์และสร้างโปรแกรม ด้วยความที่บริษัทเพิ่งตั้งขึ้นมาหมาดๆ หม่า จึงไม่ยอมใช้ตำแหน่ง "ผู้จัดการใหญ่" แต่กลับพิมพ์ตำแหน่งบนนามบัตรว่า "วิศวกร" เพื่อให้หุ้นส่วนและลูกค้ามั่นใจว่า ผู้บริหารก็สามารถปฏิบัติงานได้เช่นกัน

จุดเปลี่ยนตลอดกาลของ หม่าฮั่วเถิง และ Tencent เกิดขึ้นในปี 1999 หรือเพียง 1 ปีหลังก่อตั้ง เมื่อบริษัทปล่อยผลิตภัณฑ์ตัวแรกออกสู่ตลาด นั่นคือ OICQ

เปิดโปรไฟล์ขุนศึกแซ่หม่า ในสงครามเทค จีน-สหรัฐ

ในชั่วเวลาเพียงไม่นาน โปรแกรมนี้ได้รับความนิยมอย่างถล่มทลาย มีผู้สมัครเข้ามาใช้บริการถึง 50,000 คน ภายในเวลาเพียง 1 ปี ซึ่งเหนือกว่าที่ หม่า ตั้งเป้าไว้ แต่ในเวลาไม่นาน ด้วยความที่มีผู้ใช้บริการมาก ค่าบำรุงรักษาเซิร์ฟเวอร์จึงสูงขึ้นตามไปด้วย ทำให้ หม่า ต้องมองหานายทุนที่จะเข้ามาช่วยพยุง OICQ แต่หลังจากเจรจาหลายต่อหลายครั้ง กลับไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้ ทำให้โปรแกรมนี้ต้องอยู่กับเจ้าของเดิมต่อไป

หม่าฮั่วเถิง เปิดใจในภายหลังว่า นับเป็นเรื่องโชคดีสุดๆ ที่ไม่มีใครซื้อ OICQ ในเวลานั้น เพราะหาไม่แล้ว เขาคงต้องสูญเสียโอกาสในการเป็นมหาเศรษฐีระดับ 42,800 ล้านเหรียญสหรัฐในวันนี้ เพราะในเวลาต่อมา หม่า พัฒนา OICQ ให้กลายเป็น QQ ที่ดังเปรี้ยงปร้างจนกระทั่งทุกวันนี้

ขณะนี้ ผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงและได้รับความนิยมที่สุดของ Tencent คือ WeChat ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มส่งข้อความและโซเชียลเน็ตเวิร์ก โดยมีสัดส่วนการส่งข้อความทางอินเทอร์เน็ตมากกว่า 48% ของทั้งโลก นอกจากนี้ Tencent ยังผลิตเกมออนไลน์ยอดนิยมมากมาย เช่น Legend of Yulong กับ Legend of Xuanyuan ที่ทำรายได้มากถึง 5,100 ล้านเหรียญสหรัฐ

ในปี 2007 ปี 2014 และปี 2018 หม่าได้รับการจัดอันดับให้เป็นหนึ่งในบุคคลที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลกโดยนิตยสาร Time ซึ่งการีนตีความยิ่งใหญ่ของเขาในฐานะขุนพลแห่งวงการเทคแดนมังกรได้เป็นอย่างดี

และเมื่อปี 2018 หม่าฮั่วเถิง ดำรงตำแหน่งมหาเศรษฐกิที่ร่ำรวยที่สุดของจีน ด้วยทรัพย์สินมูลค่าถึง 42,800 ล้านเหรียญสหรัฐ (จากการประเมินของ Forbes เมื่อเดือนมีนาคม 2019) และรวยที่สุดในอันดับที่ 14 ของโลก

แม้จะร่ำรวยติดระดับท็อป 10 ของแดนมังกร และยังประสบความสำเร็จอย่างไม่หยุดหย่อน แต่ หม่าฮั่วเถิง เป็นคนค่อนข้างเก็บตัว มีอยู่ช่วงหนึ่ง (ระหว่างปี 2009-2010) เขาเก็บตัวนานเป็นแรมปี ทั้งๆ ที่บริษัทกำลังประสบกับกรณีพิพาทรุนแรงกับคู่แข่ง สร้างความอึดอัดใจให้กับสื่อมวลชนที่กระหายข้อมูลเป็นอย่างยิ่ง

สมแล้วที่ หม่าฮั่วเถิง เป็นที่รู้จักกันในจีนว่า เป็น "เนิร์ดระดับไฮโซ" และเป็นเนิร์ดที่ใช้วิธี "ลอกเลียนเพื่อเรียนรู้" สร้างสวรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ

ในวงการไอทีของจีนเรียกขาน หม่า ในทำนองหยอกล้อว่า "จักรพรรดิแห่งการเลียนแบบ" และ "พรรค 3 P" ที่หมายถึง "copy copy copy" จากความที่ หม่า มักใช้ยุทธศาสตร์ในการเรียนรู้แนวทางของคู่แข่ง แล้วพัฒนาต่อยอดมาเป็นรูปแบบของตัวเอง จนบางครั้งกลายเป็นชนวนของการกระทบกระทั่งกับคนในวงการเดียวกัน แต่บางครั้งก็นำมาซึ่งโชคทางธุรกิจอย่างมหาศาล พร้อมกับเสียงชื่นชมว่า เขาได้สร้าง "นวัตกรรม" ขึ้นมาประดับวงการอยู่บ่อยครั้ง

หากพิจารณาจากวาทะของ หม่าฮั่วเถิง ก็พอจะทราบได้ว่า ไม่เพียงเจ้าตัวจะไม่ยี่หระกับฉายาจักรพรรดินักก๊อบเท่านั้น แต่เหมือนจะยอมรับอยู่กลายๆ เสียด้วยซ้ำ ตัวอย่างวาทะของเขาที่โด่งดังก็คือ

"การเลียนแบบคือสิ่งสร้างสรรค์ (หรือนวัตกรรม) ที่ปลอดภัย และไว้ใจได้ที่สุด" และ "วิธีการที่ชาญฉลาดที่สุดคือเรียนรู้จากสิ่งที่ดีที่สุดและก้าวข้ามให้เหนือกว่า" หรือวาทะที่ว่า "เราจะเน้นหนักที่การเรียนรู้จากยักษ์ใหญ่ด้านอินเทอร์เน็ตระดับโลก เพื่อที่จะประคับประคองการพัฒนา และขยายตัวอย่างยั่งยืน"

นี่คือวาทะระดับคลาสสิกของ หม่าฮั่วเถิง ที่น่าจะชัดเจนแล้วว่า เป้าหมายและวิธีการของเขาไม่น้อยหน้าใครเลยจริงๆ!