posttoday

สหรัฐไล่เช็กบิลกูเกิล เตรียมสอบสวนคดีผูกขาดทางการค้า

01 มิถุนายน 2562

หากเปิดการสอบสวนจะถือเป็นการดำเนินคดีกับยักษ์ใหญ่อินเทอร์เน็ตครั้งแรกในรัฐบาลทรัมป์

หนังสือพิมพ์วอลล์สตรีทเจอร์นัลเผย กระทรวงยุติธรรมสหรัฐเตรียมสอบกูเกิล ยักษ์ใหญ่ด้านเสิร์ชเอนจิ้น ว่ามีพฤติกรรมฝ่าฝืนกฎหมายป้องกันการผูกขาดและกีดกันทางการค้าหรือไม่ ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่าบริษัทเทคโนโลยีท็อปไฟว์รวมทั้งกูเกิลครอบงำเศรษฐกิจในโลกอินเทอร์เน็ต

แหล่งข่าวของวอลล์สตรีทเจอร์นัลระบุว่า กระทรวงยุติธรรมของสหรัฐจะร่วมมือกับคณะกรรมาธิการการค้าของสหรัฐตรวจสอบว่ากูเกิลมีพฤติกรรมผูกขาดทางการค้าหรือไม่โดยเน้นไปที่หลักปฏิบัติในการแสดงผลการค้นหาข้อมูล  ซึ่งมีการร้องเรียนว่ากูเกิลมักจะโปรโมทสินค้าของตัวเองในหน้าค้นหาข้อมูลเป็นอันดับแรกๆ  และปิดกั้นสินค้าคู่แข่ง

กูเกิลใช้เว็บไซต์ค้นหาข้อมูล ให้บริการแผนที่ หรือยูทูบที่เปิดให้ใช้แบบไม่คิดค่าใช้จ่าย ทำเงินผ่านการขายพื้นที่โฆษณาจนขยับจากบริษัทสตาร์ทอัพเป็นหนึ่งในบริษัทที่ทำเงินได้เป็นอันดับต้นๆ ของโลกภายในเวลา 20 ปี โดยเมื่อปีที่แล้ว อัลฟาเบท บริษัทแม่ของกูเกิลโกยรายได้ถึง 136,800 ล้านเหรียญสหรัฐ โดย 85% ของรายได้มาจากค่าโฆษณาที่ผูกติดอยู่กับผลการค้นหา ขณะที่กูเกิลเองครองตลาดเสิร์ชเอนจิ้นถึง 70%

หากกระทรวงยุติธรรมสหรัฐเปิดการสอบสวนกรณีนี้อย่างเป็นทางการจะถือเป็นการพิจารณาคดีผูกขาดทางการค้ากับยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีครั้งแรกในสมัยประธาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ที่เคยทวีตข้อความกล่าวหาว่ากูเกิลลำเอียงทางการเมือง และมักจะปิดกั้นเนื้อหาที่มีแนวคิดอนุรักษนิยมและเข้าข้างพรรคเดโมแครต

ทั้งนี้ กรณีนี้ไม่ใช่คดีแรกของกูเกิล เมื่อปี 2011 คณะกรรมาธิการด้านการค้าของสหรัฐดำเนินคดีกับกูเกิลในข้อหาติดเครื่องมือติดตามคุกกี้ในเบราเซอร์ซาฟารีของแอปเปิล ทำให้กูเกิลต้องจ่ายค่าปรับ 22.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ต่อมาในปี 2013 คณะกรรมาธิการการค้าของสหรัฐในสมัยของอดีตประธานาธิบดี บารัก โอบามา เคยตรวจสอบข้อกล่าวหาเดียวกันนี้กับกูเกิลมาแล้ว แต่กูเกิลยอมตกลงหยุดปิดกั้นเว็บไซต์คู่แข่ง คณะกรรมาธิการจึงปิดคดีโดยไม่มีการดำเนินการใดๆ จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์จากกลุ่มที่มองว่ากูเกิลจะใช้ความเหนือกว่าของตัวเองกำจัดคู่แข่ง

ขณะที่ฝั่งยุโรปบังคับใช้กฎหมายต่อต้านการผูกขาดทางการค้าอย่างเข้มงวด และกูเกิลก็หนีไม่พ้น ปี 2010 บริษัทได้รับเรื่องร้องเรียนพฤติกรรมการผูกขาดทางการค้าจากคณะกรรมการสหภาพยุโรป และในที่สุดก็มีคำสั่งให้กูเกิลจ่ายค่าปรับ 2,700 ล้านเหรียญสหรัฐในอีก 7 ปีต่อมา เพราะเว็บไซต์เสิร์ชเอนจิ้นเจ้านี้จัดอันดับการค้นหาข้อมูลไม่เป็นธรรม ปี 2016 คณะกรรมาธิการเดียวกันยังร้องเรียนว่ากูเกิลใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ของตัวเองผูกขาดตลาด และสั่งปรับบริษัทอีก 5,100 ล้านเหรียญสหรัฐเมื่อปีที่แล้ว และล่าสุดเมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมาสหภาพยุโรปปรับกูเกิลราว 1,700 ล้านเหรียญสหรัฐฐานผูกขาดการโฆษณาบนช่องทางออนไลน์

จะเห็นว่าในฝั่งสหรัฐนั้นกูเกิลดำเนินธุรกิจแบบลอยตัวจนผงาดขึ้นเป็นเจ้าของตลาดโฆษณาออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก เนื่องจากกฎหมายสหรัฐไม่ค่อยเข้มงวด ผิดกับในยุโรปที่ถูกสั่งปรับเป็นว่าเล่น