posttoday

วิสัยทัศน์300ปีของผู้ชายผู้ขย้ำหัวเว่ย

24 พฤษภาคม 2562

เปิดแนวคิดของ มาซาโยชิ ซน หัวเรือใหญ่ของ SoftBank

หากเอ่ยถึงแบรนด์โทรศัพท์มือถือและบริการด้านไอทียอดนิยมในญี่ปุ่น น้อยคนนักที่จะไม่รู้จักชื่อ SoftBank บริษัทที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1981 ผ่านยุคเริ่มต้นของคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล อินเทอร์เน็ต และการล้มครืนของหุ้นไอที จวบจนถึงยุคสมัยแห่งการฟื้นตัวอย่างยิ่งใหญ่หลังทศวรรษที่ 2000 จนถึงทุกวันนี้ SoftBank มีรายได้ล่าสุดที่ 9.15 ล้านล้านเยน มีพนักงานถึง 7.4 หมื่นคน และผู้ใช้บริการอีกหลายสิบล้านคน

ใครจะเชื่อว่าบริษัทที่ยิ่งใหญ่ถึงเพียงนี้จะเริ่มต้นจากพนักงานพาร์ทไทม์แค่ 2 คน กับออฟฟิศเท่ารูหนู และผู้ก่อตั้งที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความทะเยอทะยานเพื่อไปให้ถึงความฝันอันสูงสุด

วิสัยทัศน์300ปีของผู้ชายผู้ขย้ำหัวเว่ย

ชายคนนั้นชื่อ มาซาโยชิ ซน (Masayoshi Son)

มาซาโยชิ ซน เกิดเมื่อปี 1957 ที่จังหวัดซางะ ประเทศญี่ปุ่น แต่เขาไม่ใช่ชาวญี่ปุ่นโดยสายเลือด หากเป็นชาวเกาหลีที่อพยพมาตั้งรกรากที่นี่มาตั้งแต่รุ่นปู่ ดังจะเป็นได้ว่านามสกุล "ซน" ของเขานั้น มาจากแซ่ "ซน" ในภาษาเกาหลีนั่นเอง (ชื่อในภาษาเกาหลีของเขาคือ "ซนจองอึย")

ความเป็นที่ชาวเกาหลีอพยพ ทำให้ถูกมองจากเจ้าของประเทศว่าเป็นพลเมืองชั้นสอง ถูกกีดกันต่างๆ นานา ชาวเกาหลีที่เผชิญกับปัญหาทำนองนี้มักเปลี่ยนนามสกุลให้เหมือนชาวญี่ปุ่น เพื่อหลีกเลี่ยงอคติและการกลั่นแกล้ง ช่วงหนึ่งมาซาโยชิจึงต้องใช้นามสกุล "ยาสึโมโต" เพื่อให้ชีวิตในแผ่นดินอื่นราบรื่นขึ้น

แต่อาจเป็นเพราะมาซาโยชิมีอุปนิสัยไม่ระย่นระย่อกับปัญหา กับทั้งมีความมุ่งมั่นในตัวเองอย่างเต็มเปี่ยม ทำให้ในเวลาต่อมาจึงตัดสินใจกลับมาใช้แซ่สกุลเดิม และเริ่มเดินหน้าสร้างเนื้อสร้างตัว ไม่ให้ใครได้เหยียดหยามว่าชาวเกาหลีในแผ่นดินญี่ปุ่นนั้นเป็นแค่คนชั้นสอง

เพียงอายุ 16 ปี มาซาโยชิเดินทางไปศึกษาต่อที่สหรัฐจนสำเร็จการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์และวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ ด้วยวัยเพียง 19 ปี จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ พร้อมความมุ่งมั่นเต็มหัวใจว่าในอีกไม่นานเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์จะเปลี่ยนโลกของเราจากหน้ามือเป็นหลังมือ

สิ่งที่ทำให้มาซาโยชิมั่นใจถึงเพียงนั้นคือ การได้เห็นภาพไมโครชิปตีพิมพ์ในนิตยสารฉบับหนึ่ง ไมโครชิปเพียงตัวเดียวทำให้อนาคตของเขาเปลี่ยนไปตลอดกาล เช่นเดียวกับโลกของเรา

"หลายคนถามว่าผมกำลังทำอะไรกันแน่ นายใช้เวลาเรียนในสหรัฐตั้งหลายปี แต่ตอนนี้กลับไม่ทำอะไรสักอย่าง ตอนนั้นผมใช้เวลาทั้งหมดคิดแล้วคิดอีก ตรึกตรองในสิ่งที่ควรทำ ผมดั้นด้นไปตามห้องสมุด ร้านหนังสือ ซื้อหนังสือมาเป็นตั้งๆ อ่านทุกอย่างที่ขวางหน้าเพื่อเตรียมความพร้อมให้กับตัวเองในสิ่งที่จะต้องทำต่อไปในอีก 50 ปีข้างหน้า"

หลังจากนั้นเขาปฏิญาณกับตัวเองว่าจะต้องคิดไอเดียทางธุรกิจที่เกี่ยวกับไมโครชิปให้ได้วันละ 1 ไอเดีย ด้วยความมุมานะบวกกับความคิดสร้างสรรค์ทำให้ในเวลาต่อมาสามารถขายลิขสิทธิ์เครื่องแปลภาษาที่ประดิษฐ์ขึ้นเองให้กับบริษัทชาร์ป เป็นเงินถึง 1 ล้านเหรียญสหรัฐ

สิ่งที่เปลี่ยนทางชีวิตของ มาซาโยชิ ซน อย่างแท้จริงคือ การก่อตั้งบริษัท SoftBank ที่กลายเป็นเสาหลักแห่งวงการไอทีญี่ปุ่นของของโลกทุกวันนี้

เหตุการณ์ครั้งนั้นนับเป็นการพลิกโฉมหน้าประวัติศาสตร์ธุรกิจแดนอาทิตย์อุทัยเลยก็ว่าได้ มาซาโยชิเคยให้สัมภาษณ์ถึงจุดเปลี่ยนสำคัญในครั้งนั้นว่า "ตอนที่ผมเริ่มตั้งบริษัท มีพนักงานพาร์ทไทม์แค่ 2 คน กับออฟฟิศเล็กๆ วันหนึ่งผมยืนบนกล่องผลไม้ต่างว่าเป็นโพเดียม ตรงหน้าคือพนักงานทั้งคู่ จากนั้นผมพูดดังราวกับกำลังกล่าวสุนทรพจน์ว่า นายต้องฟังคำพูดของฉัน เพราะฉันคือประธานบริษัทแห่งนี้ จากนั้นผมบอกกับทั้งคู่ว่าในอีก 5 ปีข้างหน้าเราจะมียอดขาย 75 ล้านเหรียญสหรัฐ และภายใน 5 ปี เราจะมีผู้จัดจำหน่ายให้กับเรา 1,000 ราย แล้วเราจะเป็นผู้จัดจำหน่ายซอฟต์แวร์พีซีหมายเลข 1"

"ทั้งสองคนยืนอ้าปากค้าง ตาเบิกโพลง คงจะคิดอยู่ในใจว่านายคนนี้ท่าจะบ้าแน่ๆ จากนั้นก็ลาออกจากบริษัทไป"

ใครเลยจะคาดคิดว่าจุดเริ่มต้นที่เหมือนจะเริ่มไม่เป็นท่าตั้งแต่แรก กลับเป็นจุดกำเนิดบริษัทที่มีมูลค่าตลาดสูงถึง 4.3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ไม่เพียงเป็นผู้ให้บริการรายใหญ่ด้านไอทีและโทรศัพท์ในญี่ปุ่น แต่ยังมีความร่วมมือทางธุรกิจกับบริษัทชั้นนำทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น Vodafone หรือ Yahoo! หรือแม้กระทั่ง Apple

"อย่าหาข้ออ้างว่าการต่อสู้ในสมรภูมิมันดุเดือดเลือดพล่านสักแค่ไหน หรือคู่ต่อสู้ได้เปรียบขนาดนี้ เราต้องฝ่าฟันไปตลอด"

และเมื่อปี 2010 ซึ่งเป็นปีที่ SoftBank ก่อตั้งมาครบ 30 ปี มาซาโยชิ ซน ได้ทำสิ่งที่เหนือความคาดหมายของคนทั่วโลกอีกครั้ง ด้วยการเสนอวิสัยทัศน์ 300 ปี จากความหวังว่า SoftBank จะอยู่ยงถึง 300 ปี  โดยมองว่าคอมพิวเตอร์จะฉลาดเหนือมนุษย์ SoftBank จึงลงทุนในการพัฒนาสมองคอมพิวเตอร์เตรียมไว้ตั้งแต่บัดนี้ และในอีก 100 ปีข้างหน้ามนุษย์จะอยู่ร่วมกับปัญญาประดิษฐ์ (AI) อย่างกลมกลืน การปฏิวัติข้อมูลที่จะช่วยให้มนุษย์อายุยืนถึง 200 ปีภายในปี 2300 ซึ่งเมื่อถึงตอนนั้นจะมีการรักษาโรคในระดับดีเอ็นเอและใช้อวัยวะเทียมเพื่อรักษาชีวิตมนุษย์

วิสัยทัศน์300ปีของผู้ชายผู้ขย้ำหัวเว่ย

นอกจากนี้ ยังเอ่ยถึงการสื่อสารผ่านทางกายและกระแสจิต การสัมผัสและรับความรู้สึกผ่านความจริงเสมือน (VR) และความเป็นจริงเสริม (AR) รวมทั้งการก่อตั้ง SoftBank Academia โรงเรียนฝึกหัดสำหรับผู้นำในอนาคต ให้เป็นเสมือนสำนักศึกษา Akademeia ของเพลโตที่ตั้งขึ้นเมื่อ 387 ปีก่อนคริสตศักราช

วิสัยทัศน์ของ มาซาโยชิ ซน เมื่อ 9 ปีที่แล้ว บางอย่างก็เกิดขึ้นแล้วในยุคนี้ อาทิ ข้อมูลจำนวนมหาศาล (Big Data) อินเทอร์เน็ตของทุกสิ่ง (Internet Of Things) และปัญญาประดิษฐ์ที่ก้าวหน้าขึ้นมาก จนกลายเป็นเป้าหมายหลักในการลงทุนของ SoftBank ผ่านกองทุน Vision Fund

Vision Fund เกิดขึ้นเมื่อปี 2017 จากวิสัยทัศน์ของ มาซาโยชิ ซน ที่ต้องการผลักดันเทคโนโลยีที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน โดยการร่วมทุนของ SoftBank และพันธมิตร เช่น กลุ่มนักลงทุนจากซาอุดีอาระเบีย, Qualcomm, Foxconn, Apple และ แลร์รี่ เอลลิสัน ผู้ก่อตั้งบริษัท Oracle มีเป้าหมายนำเงิน 100,000 ล้านเหรียญสหรัฐไปลงทุนในสตาร์ทอัพสายเทคโนโลยี เช่น Uber, Doordash, Nvidia รวมทั้ง ARM ที่เพิ่งตัดสัมพันธ์ทางการค้ากับหัวเว่ยไปหมาดๆ โดย Vision Fund ถือเป็นกองทุนที่ลงทุนในเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดในโลก

วิสัยทัศน์300ปีของผู้ชายผู้ขย้ำหัวเว่ย มาซาโยชิ ซน เปิดตัวหุ่นยนต์ เปปเปอร์ ในกรุงโตเกียวเมื่อปี 2014 ภาพ : Toru YAMANAKA/AFP

จนถึงตอนนี้ Vision Fund ใช้เงินกองทุนไปแล้ว 80% ทำผลกำไรจากการดำเนินการกว่า 11,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยที่ มาซาโยชิ ซน ยังมีแผนจะเดินหน้าลงทุนอย่างต่อเนื่องด้วยการเปิดระดมทุนรอบสองสำหรับ Vision Fund 2 อีก 100,000 ล้านเหรียญสหรัฐในเร็วๆ นี้อีกด้วย

ในย่านซิลิคอนวัลเลย์นั้นไม่มีกองทุนไหนเป็นที่พูดถึงเท่ากองทุนของซอฟท์แบงก์อีกแล้ว ว่ากันว่าแค่ได้ยินว่า Vision Fund เข้าไปลงทุนในบริษัทไหน ก็ทำให้บริษัทคู่แข่งของบริษัทที่กองทุนนี้หนุนหลังสะท้านเลยทีเดียว จุดนี้สะท้อนถึงความยิ่งใหญ่และความสำเร็จของกองทุนนี้ได้อย่างดี

ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ในวันนี้มาซาโยชิจะติดอยู่ในทำเนียบมหาเศรษฐีระดับโลก ด้วยฐานะเจ้าสัวแดนซามูไรในอันดับที่ 2 แต่สิ่งที่เหนือกว่านั้นคือ อนาคตในทางธุรกิจที่ดูเหมือนจะใส่เกียร์เดินหน้าไม่มีถอย ถึงขนาดได้รับการวางตัวให้เป็น สตีฟ จ็อบส์ แห่งญี่ปุ่นเลยทีเดียว

อิทธิพลในโลกไอทีของ มาซาโยชิ ซน นับวันยิ่งเพิ่มมากขึ้นจนเป็นที่จับตามอง เชื่อว่าในเวลาไม่นาน หากความมุ่งมั่นของชายคนนี้ไม่มอดดับลงเสียก่อน เราอาจได้เห็น สตีฟ จ็อบส์ คนใหม่ถือกำเนิดขึ้นที่แดนอาทิตย์อุทัยก็เป็นได้

 

Photo by Charly TRIBALLEAU / AFP