posttoday

เซิร์ฟเวอร์ไทย สปายอเมริกัน

22 พฤษภาคม 2562

ลืมแล้วหรือยัง เมื่อครั้งสหรัฐสอดแนมคนทั้งโลก (พันธมิตรก็ไม่เว้น) บทวิเคราะห์โดย กรกิจ ดิษฐาน

ลืมแล้วหรือยัง เมื่อครั้งสหรัฐสอดแนมคนทั้งโลก (พันธมิตรก็ไม่เว้น) บทวิเคราะห์โดย กรกิจ ดิษฐาน

ขณะที่สหรัฐอ้างว่าสมาร์ทโฟนและระบบ 5G ของหัวเว่ยมีอุปกรณ์สอดแนมซ่อนไว้และเป็นภัยต่อความมั่นคง แต่ข้อกล่าวหานี้เป็นเพียงคำอ้างโดยวาจาเท่านั้นยังไม่มีหลักฐานยืนยันที่เป็นรูปธรรมเลย ตรงกันข้ามกับพฤติกรรมของสหรัฐที่สอดแนมคนทั้งโลกไม่เว้นแม้แต่พันธมิตร โดยมีหลักฐานมัดตัวชัดเจน กลับทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้

ถึงขนาดที่ "กัวผิง" รองประธานหัวเว่ยบอกว่า การที่สหรัฐพยายามสกัด 5G ของหัวเว่ย ก็เพราะผลิตภัณฑ์ของหัวเว่ยไม่สามารถสอดแนมได้ พูดง่ายๆ ก็คือ คนที่ใช้หัวเว่ยจะรอดพ้นจากการถูกล้วงข้อมูลโดยสหรัฐ (แต่เรายังไม่อาจยืนยันได้เช่นกันว่า การใช้หัวเว่ยจะรอดพ้นจากการถูกสอดแนมโดยจีน)

เราคงจะลืมกันไปแล้วว่า เมื่อปี 2013 มีการเปิดเผยข้อมูลเรื่องที่สำนักงานความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐ หรือ NSA ได้ทำการสอดแนมข้อมูลทางโทรศัพท์ของคนทั่วโลก และเรื่องนี้ถูกเปิดโปงโดยเอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน อดีตพนักงานบริษัทรับเหมาภายใต้สัญญาของ NSA

NSA สอดแนมผ่านโทรศัพท์, อินเตอร์เน็ต และระบบกำหนดโลเคชั่น จำนวนประชากรที่ถูกสอดแนมยังไม่แน่ชัด แต่เฉพาะเดือนมีนาคม 2013 เดือนเดียวมีข้อมูลข่าวกรองที่ได้มาถึง 97,000 ล้านชิ้น ในเดือนธันวาคม 2013 เดือนเดียวได้ข้อมูลเฉลี่ยจากการเชื่อมต่อโทรศัพท์ 15 ล้านการเชื่อมต่อ และ 10 ล้านดาต้าเบสของอินเทอร์เน็ต

วอชิงตันโพสต์เปิดเผยว่า NSA สอดแนมโลเคชั่นของโทรศัพท์มือถือจากทั่วทุกมุมโลก โดยการเจาะสายเคเบิลที่เชื่อมต่อเครือข่ายมือถือทั่วโลก และเคเบิลที่ให้บริการโทรศัพท์มือถือในสหรัฐอเมริกาและต่างประเทศ NSA จึงสามารถรวบรวมบันทึกตำแหน่งผู้ใช้โทรศัพท์มากกว่า 4,000 ล้านครั้งต่อวัน

เดอะการ์เดียนเผยว่า NSA ยังมีดาต้าเบสชื่อ Dishfire ซึ่งรวบรวมข้อความเท็กซ์ของประชาชนคนทั่วไปที่ส่งผ่านอินเทอร์เน็ตถึง 200 ล้านข้อความในแต่ละวัน

แต่ NSA ไม่ได้ทำคนเดียว แต่ร่วมมือกับพันธมิตรอีกจำนวนหนึ่ง นำโดยกลุ่ม "Five Eyes" เช่น แคนาดา, ออสเตรเลีย และอังกฤษ ซึ่งเป็นประเทศกลุ่มเดียวกับที่รวมหัวกันไม่ยอมให้หัวเว่ยมาให้บริการ 5G

นอกจาก "Five Eyes" แล้วประเทศดังต่อไปนี้ก็ร่วมสอดแนมและแชร์ข้อมูลสอดแนมชาวโลกด้วย คือหน่วยข่าวกรองของเดนมาร์ก. ฝรั่งเศส, เยอรมนี, อิตาลี, เนเธอร์แลนด์, นอร์เวย์, สเปน, สวิตเซอร์แลนด์, อิสราเอล หรือแม้แต่สิงคโปร์

แต่ที่น่าสนใจก็คือมีเซิร์ฟเวอร์สอดแนม 700 ตัว ใน 150 พื้นที่ทั่วโลก และหนึ่งในนั้นคือ ... กรุงเทพฯ ประเทศไทย!

คนไทยคงจะลืมไปแล้วอีกเช่นกันว่า หนึ่งในเซิร์ฟเวอร์ของปฏิบัติการสอดแนม XKeyscore ที่ล้วงข้อมูลผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วโลกตั้งอยู่ในเมืองไทย แต่เราไม่ทราบว่ามันอยู่ที่ไหน อาจอยู่ในใจกลางกรุงเทพฯ ก็ได้ หรืออาจเป็นโกดังสักแห่งชานเมืองหลวงในที่ๆ คนคาดไม่ถึง

นี่คือข้อมูลเมื่อปี 2013 และปัจจุบันกรณีสอดแนมโดย NSA ก็ยังไม่จบ หมายความว่าเราอาจจะยังถูกสอดแนมอยู่ ส่วนเซิร์ฟเวอร์ของสหรัฐที่ตั้งอยู่ในบ้านเราตามข้อมูลระบุว่า "เป็นอดีตปฏิบัติการ" แต่เราจะเชื่อได้แค่ไหน?

ไม่น่าแปลกใจที่ผู้แทนการค้าของสหรัฐออกปากเตือน (หรือขู่) บางประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ยังใช้หัวเว่ยว่า ให้เลิกความคิดนั้นเสีย เพราะสหรัฐจะไม่ยอมแชร์ข้อมูลด้านความั่นคงด้วย ซึ่งประเทศที่ว่าจะเป็นใครไปไม่ได้นอกจากไทย ซึ่งเป็นทั้งพาร์เนอร์ด้านความมั่นคงของสหรัฐ และยังใช้หัวเว่ยอย่างเปิดเผย

แต่ตอนนี้คนไทยเริ่มหวาดๆ กันแล้ว เพราะการระดมยิงข่าวอย่างต่อเนื่องของสหรัฐและพันธมิตรว่าหัวเว่ยสอดแนมอย่างแน่นอน ทั้งๆ ที่ข่าวเกือบจะทุกข่าวที่เกี่ยวกับการสอดแนมใช้คำว่า claim (อ้าง) allege (อ้างว่า) แทบจะทั้งนั้น

เป็นเรื่องที่ยอกย้อนอย่างมาก เพราะขณะที่คนไทยกำลังตื่นกลัวกับข้อกล่าวหาที่สหรัฐอ้าง (โดยไม่มีหลักฐาน) ว่าหัวเว่ยสอดแนมข้อมูลผู้ใช้ แต่เรากลับไม่รู้ว่ามีสหรัฐก็เคยสอดแนมเราอยู่เช่นกัน ด้วยเครื่องที่ตั้งอยู่ในบ้านเรานี่เอง

ที่ยอกย้อนกว่านั้นคือ ปฏิบัติการสอดแนมที่ชื่อว่า PRISM มีหุ้นส่วนทางธุรกิจคือ Microsoft, Facebook, Apple และ Google  

จากข้อมูลภายในของ NSA พบว่า นับตั้งแต่ปี 2010 NSA เริ่มตระหนักถึงการแพร่หลายของสมาร์ทโฟน และตั้งหน่วยพิเศษไปประจำตามบริษัทผู้ผลิตสมาร์ทโฟน คือ iPhone ของแอปเปิล และเครื่อง Android ของกูเกิล และมีข้อมูลระบุว่า NSA สามารถสอดแนม iOS 3 และ iOS 4 ได้ถึง 38 ฟีเจอร์

ส่วนปฏิบัติการสอดแนม Tempora ของอังกฤษ ก็มีบริษัทโทรคมนาคมเข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนอีกเพียบ ไม่ว่าจะเป็น British Telecommunications, Interoute, Level 3, Global Crossing, Verizon Business, Viatel และ Vodafone Cable

หน่วยงานข่าวกรองของอังกฤษยังอั๊กลี่ถึงขนาดทำเว็บไซต์ปลอม LinkedIn ซึ่งเป็นโซเชียลเน็ตเวิร์กสำหรับคนทำงาน เพื่อที่ติดตั้งซอฟแวร์สอดแนมในบริษัทเอกชน

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะยังมีอีกหลายบริษัทที่ NSA ได้รับข้อมูลการสอดแนมมาโดยตรง แต่ไม่ได้ถูกเปิดเผยชื่อ แต่มีชื่อเป็นรหัสต่างๆ

แต่เท่านี้เราก็มั่นใจได้ในระดับหนึ่งแล้วว่า ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต โทรศัพท์ แลโซเชียลเน็ตเวิร์กในโลกตะวันตกไม่ได้สะอาดผุดผ่องอะไรเลย ตรงกันข้าม สิ่งที่พวกเขากล่าวหาหัวเว่ยนั้น พวกเขาทำมาหมดแล้ว

ย้ำอีกครั้งว่า หัวเว่ยก็ไม่ได้บริสุทธิ์ผุดผ่อง หรืออย่างน้อยยังยืนยันไม่ได้ว่าสอดแนมข้อมูลผู้ใช้จริงหรือไม่ แต่ประเด็นก็คือผู้กล่าวหาก็ไม่ได้มีพฤติกรรมที่ดีไปกว่าเลย

และนี่อาจเป็นหนึ่งในเหตุผลว่าทำไมจีนถึงไม่อนุญาตให้โซเชียลเน็ตเวิร์กหรือเว็บไซต์หลายๆ เว็บเปิดให้บริการในจีน เพราะว่ามันเสี่ยงเกินนั่นเอง