posttoday

ผู้แพ้ที่แท้จริงคือกูเกิล

21 พฤษภาคม 2562

บทวิเคราะห์ผู้แพ้ ผู้ชนะ และตาอยู่ในสงครามการค้าที่มีผู้ใช้สมาร์ทโฟนทั่วโลกเป็นเดิมพัน โดยกรกิจ ดิษฐาน

บทวิเคราะห์ผู้แพ้ ผู้ชนะ และตาอยู่ในสงครามการค้าที่มีผู้ใช้สมาร์ทโฟนทั่วโลกเป็นเดิมพัน โดยกรกิจ ดิษฐาน

หัวเว่ยคือเป้าหมายการโจมตีจากรัฐบาลสหรัฐ โดยมีกูเกิลเป็นหัวหอกภาคธุรกิจของสหรัฐที่ประกาศตัดญาติขาดมิตรหัวเว่ย ออกจากระบบแอนดรอยด์

แต่ผู้แพ้ที่ยับเยินที่สุดไม่ใช่หัวเว่ย แต่เป็นกูเกิล

มีคำกล่าวว่า "สถานการณ์สร้างวีรบุรุษ" หัวเว่ยกำลังตกอยู่ในสถานการณ์แบบนั้น แม้ว่าหัวเว่ยจะไม่ใช่วีรบุรุษ แต่สถานการณ์ที่บีบคั้นกำลังทำให้หัวเว่ยต้องเร่งพัฒนาระบบปฏิบัติการของตัวเองขึ้นมา ซึ่งเราทราบกันแล้วว่ามันคือระบบปฏิบัติการหงเหมิง (Hongmeng) และหัวเว่ยซุ่มพัฒนา OS ตัวนี้มาระยะหนึ่งแล้วในฐานะแผน B

หลังจากนี้ไม่เฉพาะแต่หัวเว่ยเท่านั้นที่ต้องมีแผน B ประเทศไหนก็ตามที่มีเทคโนโลยีสมาร์ทโฟนของตัวเอง หรือมีปัญหาระหองระแหงกับประเทศตะวันตก จะต้องซุ่มพัฒนา OS และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องมารองรับสถานการณ์แบบนี้เช่นกัน เพราะรับประกันไม่ได้ว่า วันดีคืนดีสหรัฐจะลุกขึ้นมาใช้ไม้นี้กับพวกเขาหรือไม่?

เรื่องนี้จึงอาจถือเป็นจุดจบของยุครุ่งเรืองของกูเกิล ที่กุมระบบแอนดรอยด์มาหลายปี แต่แทนที่จะทำธุรกิจแบบตรงไปตรงมา กลับยอมให้รัฐบาลชี้นำจนนำไปสู่ความเสียหายทางธุรกิจ

หัวเว่ยเป็นภัยคุกคามด้านความมั่นคงอย่างที่ถูกกล่าวหาหรือไม่นั้น เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่เราต้องวิเคราะห์กัน แต่อาจกล่าวโดยย่อไว้ ณ ที่นี้ได้เลยว่า จนถึงทุกวันนี้ สหรัฐและพันธมิตรก็ยังไม่มีหลักฐานเอาผิดหัวเว่ยได้แบบอยู่หมัด มีแต่ข้อกล่าวหาลอยๆ เท่านั้น

กูเกิลในฐานะบริษัทอเมริกัน มีพันธะที่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายสหรัฐหลังจากที่รัฐบาลมีคำสั่งขึ้นบัญชีดำหัวเว่ย กูเกิลไม่ทำตามคำสั่งก็ไม่ได้

ผลกระทบไม่ใช่แค่สายสัมพันธ์กับหัวเว่ยจะขาดสะบั้นเท่านั้น แต่กูเกิลยังปิดตายประตูเข้าสู่จีนไปตลอดกาล นั่นหมายความว่ากูเกิลได้ปล่อยให้ตลาดใหญ่ที่สุดในโลกได้หลุดมือไปเรียบร้อยแล้ว

ไม่เฉพาะแค่กูเกิล บริษัทอเมริกันรายอื่นๆ ก็อาจโดนหางเลขไปด้วย รวมถึงเฟซบุ๊ค ที่พยายามจะเข้าจีนครั้งแล้วครั้งเล่า มาร์ก ซักเคอร์เบิร์กมีภรรยาเป็นคนจีนก็แล้ว ลงทุนพูดภาษาจีนก็แล้ว มาจีนไม่รู้จักกี่รอบแล้วก็ยังพาเฟซบุ๊คเข้ามาไม่ได้

แต่นี่เป็นแค่เรื่องเล็กน้อย หากเทียบกับความน่าเชื่อถือที่กูเกิลได้ทำลายลงไปจนสิ้นซาก เพราะต่อไปนี้พาร์ทเนอร์ทางธุรกิจกับกูเกิลจะรู้สึกร้อนๆ หนาวๆ ไม่รู้ว่าจะถูกเล่นงานแบบหัวเว่ยหรือไม่

แน่นอนว่า หัวเว่ยต้องรู้เรื่องนี้และคาดการณ์เอาไว้แล้ว OS หงเหมิงไม่ใช่แค่แผน B แต่ยังมีแผน C ที่รองรับเอาไว้แล้ว นั่นคือ App Gallery ซึ่งเปิดตัวไปตั้งแต่ปีที่แล้ว เป็นร้านค้าแอพที่ให้บริการนอกจีน และหัวเว่ยออกแบบแอพที่จะตอบสนองผู้ใช้ในโลกตะวันตก โดยไม่อิงกับระบบของกูเกิล

ยุโรปเป็นภูมิภาคที่กูเกิลถูกโจมตีอย่างหนักด้วยข้อหาผูกขาดตลาด ดังนั้นกูเกิลจึงเปิดช่องโหว่เอาไว้ที่นี่ ตลาดยุโรปจึงมีพื้นที่ให้เสิร์ชเอ็นจินอื่นๆ ผู้ให้บริการแอพอื่นๆ นอกเหนือจากกูเกิล และนี่คือ "คำสั่งศาลยุโรป" ให้ต้องเจียดพื้นที่ให้บริษัทอื่นด้วย ไม่ใช้กุมอยู่รายเดียว

ส่วนหัวเว่ยครองสัดส่วนตลาดสมาร์ทโฟน 20% ใน 22 ประเทศของยุโรป รวมถึงสเปน, อิตาลี และเนเธอร์แลนด์ และปีนี้หัวเว่ยหรือกับผู้ให้บริการระบบในยุโรปเพื่อติดตั้ง App Gallery โดยจะให้ส่วนแบ่งพอสมควรเลยทีเดียวกับหุ้นส่วนในยุโรป และจะทำให้สมาทโฟนของหุ้นส่วนในยุโรปมี App Gallery พร้อมๆ กับ App store ของกูเกิลภายในเครื่องเดียวกัน

บางทีนี่อาจเป็นทางออกให้กับประเทศอื่นๆ ที่ใช้เครื่องของหัวเว่ยก็เป็นได้

ไม่เพียงเท่านั้น หัวเว่ยยังล่อใจนักพัฒนาแอพ โดยสัญญาว่าจะช่วยทำการตลาดให้ และจะช่วยเปิดตลาดแอพในจีนให้ด้วย ถือเป็นเงื่อนไขที่น่าเย้ายวนใจมาก เพราะจู่ๆ ก็ได้เข้าถึงตลาดที่ใหญ่ที่สุดในโลก เพียงแค่ช่วยหัวเว่ยเท่านั้น

ดังนั้น การขั้นบัญชีดำของทรัมป์จึงเป็นโอกาสทองของ App Gallery เสียอย่างนั้น แถมยังบั่นทอนส่วนแบ่งตลาดของกูเกิลอีกต่างหาก

แม้จะมีโอกาสในวิกฤต แต่ในวิกฤตก็มีเรื่องเสียโอกาสเช่นกัน ผลกระทบที่จะเห็นได้ชัดก็คือ หลังจากนี้หัวเว่ยจะหล่นจากตำแหน่งผู้จำหน่ายสมาร์ทโฟนสูงสุดอันดับ 2 ของโลกในทันที และจะมาอยู่ที่ 3 ตามหลังซัมซุงและแอปเปิล ถึงแม้ว่าสหรัฐจะยุติมาตรการคว่ำบาตร แต่ผู้บริโภคจะขยาดกับหัวเว่ย เพราะ Damage has been done หรือความเสียหายได้เกิดขึ้นแล้ว 

เหรินเจิ้งเฟย บอกว่าถึงเขาจะเป็นเจ้าของบริษัทหัวเว่ย แต่ลูกๆ ของเขาใช้แอปเปิลกันหมด พวกเขาไม่มีความคิดเรื่องกีดกันการค้า หรือต้องใช้ของจีนเท่านั้น

แต่คนจีนทั่วไปอาจไม่ได้ใจวางผลิตภัณฑ์อเมริกันเหมือนเขา และไม่แน่ว่ายอดขายแอปเปิลอาจจะตกลงในจีน หรือเกิดกระแสต่อต้านสินค้าอเมริกันอย่างรุนแรง เรียกได้ว่าเป็น "ดาบนั้นคืนสนอง"

ปีนี้กูเกิลคาดการณ์ว่าจะมีรายได้ 160,000 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่หลังนี้จะโชว์โฆษณาในผลิตภัณฑ์ของหัวเว่ยไม่ได้แล้ว จึงคาดเดาไม่ได้ว่ารายได้จะตกลงไปเท่าไร สื่อต่างประเทศบางรายชี้ว่าเป็นแค่ภาวะสะอึก แต่การสะอึกไม่ได้เกิดขึ้นครั้งเดียวใช่หรือไม่? ยังไม่นับตลาดยุโรที่กูเกิลถอยทัพ แต่หัวเว่ยกำลังรุกคืบ แล้วไหนจะประเทศในเอเชียอีกมากมายที่ยังไม่เลือกฝั่ง แถมยังรู้สึกหมันไส้สหรัฐที่กลั่นแกล้งประเทศโน้นประเทศนี้ไม่หยุดหย่อน

จริงอยู่ที่พวกเรายังต้องใช้ระบบแอนดรอยด์และแอพพลิเคชั่นของกูเกิล แต่หลังจากนี้เราจะเริ่มตาสว่างกันแล้วว่า การผูกขาดตลาดโดยกูเกิลมีอันตรายมากแค่ไหน