posttoday

ต้องฝ่าฟันกันไป เกย์แต่งงานได้แต่สังคมไต้หวันยังไม่ยอมรับ

24 พฤษภาคม 2562

ทีมข่าวโพสต์ทูเดย์เอ็กซ์คลูซีฟ - กลุ่มความหลากหลายทางเพศทั่วโลกอาจจะยินดีกับการผ่านกฎหมายแต่งงานเพศเดียวกัน แต่อย่าพิ่งรีบดีใจไปเพราะยังมีอะไรที่มากกว่านั้น



ทีมข่าวโพสต์ทูเดย์เอ็กซ์คลูซีฟ - กลุ่มความหลากหลายทางเพศทั่วโลกอาจจะยินดีกับการผ่านกฎหมายแต่งงานเพศเดียวกัน แต่อย่าพิ่งรีบดีใจไปเพราะยังมีอะไรที่มากกว่านั้น

หลังจากที่รัฐสภาไต้หวันผ่านกฎหมายให้คนรักเพศเดียวกันสามารถแต่งงานได้ ซึ่งถือเป็นประเทศแรกในเอเชียที่เปิดกว้างในเรื่องดังกล่าว แต่สังคมออนไลน์ของไต้หวันแสดงความเห็นเรื่องนี้อย่างดุเดือด ส่วนใหญ่แสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับสภาและรัฐบาลพรรค DPP และหลายคนชี้ว่า การผ่านกฎหมายดังกล่าวเป็นการทรยศต่อผลการลงประชามติ

หลายคนคงจะจำกันได้ว่า เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2018 ไต้หวันจัดการลงประชามติครั้งสำคัญ เพื่อขอความเห็นชอบจากประชาชนในหลายๆ ประเด็น โดยมีคำถามเกี่ยวกับการแต่งงานของกลุ่มหลากหลายทางเพศ 2 ข้อ คือ

คำถามข้อที่ 6 ที่ว่า "คุณเห็นด้วยหรือไม่ที่จะปกป้องสิทธิ์ของคู่รักเพศเดียวกัน ในการกินอยู่ร่วมกันอย่างถาวรโดยไม่ต้องสมรสอย่างถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่"

คำถามข้อที่ 8 ที่ว่า "คุณเห็นด้วยหรือไม่ที่จะปกป้องสิทธิ์ของคู่รักเพศเดียวกัน ในการสมรสภายใต้กฎหมาย?"

ต้องฝ่าฟันกันไป เกย์แต่งงานได้แต่สังคมไต้หวันยังไม่ยอมรับ Photo by SAM YEH / AFP

ปรากฎว่า ชาวไต้หวัน 61.12% เห็นด้วยกับข้อที่ 6 แต่อีก 67.26% ไม่เห็นด้วยกับข้อที่ 8 ซึ่งหมายความว่า ชาวไต้หวันส่วนใหญ่ต้องการให้กลุ่มรักเพศเดียวกันอยู่กินด้วยกันได้ ตราบเท่าที่ไม่มีการแก้ไขกฎหมายเพื่อรองรับคนกลุ่มนี้ พูดง่ายๆ ก็คือ คนไต้หวันส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน แต่ถ้าอยู่ด้วยกันเฉยๆ ก็ไม่เป็นไร

ผลการลงประชามติออกมาแบบเหนือความคาดหมาย เพราะก่อนหน้านี้ชาวเกย์และไม่เกย์คาดว่า ชาวไต้หวันจะต้องยอมรับการแต่งงานของเพศเดียวกันแน่นอน ผลที่ออกมาจึงสร้างความผิดหวังให้กับกลุ่มความหลากหลายทางเพศทั่วโลก เรียกว่าเป็นเรื่องช็อคอย่างรุนแรง และแทบจะทำให้ประเทศไทย กลายเป็นตัวเต็งที่จะผ่านกฎหมายการแต่งงานของเพศเดียวกันเป็นประเทศแรกแทนที่ไต้หวัน

แต่แล้วรัฐบาลไต้หวันกลับเดินหน้าผลักดันกฎหมายนี้โดยไม่ฟังเสียงประชามติ ซึ่งในทางปฏิบัติเป็นเรื่องที่ทำได้ เพราะการลงประชามติไม่มีผลผูกมัดตามกฎหมาย ซึ่งแม้การผ่านกฎหมายการแต่งงานของเพศเดียวกันจะเป็นเรื่องที่ดีในด้านการสร้างสังคมที่ยอมรับความหลากหลาย และทำให้ชื่อเสียงของไต้หวันขจรขจายไปทั่วโลก แต่ปรากฎว่าประชาชนส่วนหนึ่งกลับไม่พอใจ และประกาศว่าการเลือกตั้งครั้งหน้าพรรค DPP จะหมดอนาคตอย่างแน่นอน

ต้องฝ่าฟันกันไป เกย์แต่งงานได้แต่สังคมไต้หวันยังไม่ยอมรับ Photo by Sam YEH / AFP

เมื่อสำรวจความเห็นของผู้เข้ามาอ่านข่าวในเพจ China Times ซึ่งเป็น 1 ใน 3 หนังสือพิมพ์ยอดนิยม จะพบว่าท็อปเมนต์ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับกฎหมายนี้ เช่น ความเห็นระดับท็อปเมนต์ชื่อ หยางฮุ่ยเหม่ย (楊惠美 ) บอกว่า "ประธานาธิบดีไม่สบายหรือไง แค่อยากจะได้คะแนนโหวต สอนเรื่องไม่ดีให้เด็ก คุณธรรมจรรยาไม่มีแล้ว"

อีกคนคือหวงจินสี่ (黃金喜) แปะข่าวการประท้วงต่อต้านการแต่งงานของเพศเดียวกันที่ฝรั่งเศส พร้อมระบุว่าเรื่องนี้ทำลายค่านิยมที่ดีในสังคม ทำให้ครอบครัวล่มสลาย ทำให้เอดส์แพร่ระบาด พร้อมกับแฮชแท็กว่า "ถ้าคุณรักไต้หวันช่วยกันกระจายข่าวนี้"

Tank Wu บอกว่า "นี่คือคราวเคราะห์ของประเทศชาติ" ส่วน Andy Lin บอกว่า "คนเพศเดียวกันจะแต่งงานไม่ใช่กงการอะไรของเรา ต่อให้แต่งงานกับสัตว์เราก็ไม่สน แต่อย่าเอาเรื่องการแต่งงานเพศเดียวกันมาสอนลูกหลานของเราในหนังสือเรียน อย่ามารวมยารักษาโรคเอดส์ไว้ในประกันสุขภาพแห่งชาติ แล้วผลาญเงินภาษีประชาชน"

อย่างไรก็ตาม ต้องทำความเข้าใจว่า China Times เป็นสื่อสาย "สีฟ้า" หรือสื่อที่สนับสนุนพรรคก๊กมินตั๋ง ซึ่งเป็นฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาล DPP เช่นคอมเมนต์ของ Lin Chang ที่บอกว่า "พรรคเน่าๆ พรรคนี้นี้คือสาเหตุของความวุ่นวายในไต้หวัน พรรค DPP จงพินาศ"

ต้องฝ่าฟันกันไป เกย์แต่งงานได้แต่สังคมไต้หวันยังไม่ยอมรับ Photo by Sam YEH / AFP

ส่วนสื่อที่สนับสนุนรัฐบาล DPP เช่น Liberty Times มีท่าทีตรงกันข้าม เช่น ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตชื่อ เฉิงจวิ้นหาว (曾俊豪) แสดงความเห็นว่า 

"ลูกชายวัย 6 ขวบของผมกลับมาจากโรงเรียน บอกว่าที่โรงเรียนมีแพล็ตฟอร์มการเรียนเรื่องความเท่าเทียมกันทางเพศ ผมถามลูกว่าเขาสอนอะไร ลูกชายผมบอกว่า "สอนให้คนรู้ว่าทุกคนเท่าเทียมกัน อย่าดูถูกคนที่รักเพศเดียวกันเพียงแค่เพราะพวกเขาต่างจากเรา สอนให้เห็นอกเห็นใจคนอื่น และเคารพความรู้สึกคนอื่น และสอนให้ป้องกันตัวเอง ผมเองก็ทำแบบนี้เหมือนกัน ผมดีใจที่โรงเรียนสอนให้เด็กรู้จักความเท่าเทียมกันทางเพศ ผมหวังว่ากระทรวงศึกษาธิการจะเดินหน้าใช้หลักสูตรเพื่อทำให้โรงเรียนมีคุณภาพที่ดีขึ้น"

นอกจากนี้ เสียงส่วนใหญ่ใน Liberty Times สนับสนุนการผ่านกฎหมาย และยังสนับสนุนให้เลือกประธาานาธิบดีไช่อิงเหวินกลับมาดำรงตำแหน่งอีกครั้ง

ขณะที่ชาวไต้หวันกำลังไม่พอใจกับการผ่านกฎหมายดังกล่าว ชาวเน็ตจีนกลับแสดงความยินดีกับเรื่องนี้ และส่วนใหญ่ไม่ได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับการเมืองหรือค่านิยมในสังคม

 

Photo by SAM YEH / AFP