posttoday

วันที่ซาอุจ่อยิงเผาขนประหารเจ้าหญิงมีรักนอกสมรส

19 พฤษภาคม 2562

ส่วนคนรักที่พยายามหนีตามกันถูกตัดหัว5ครั้งแต่ก็ยังไม่หลุดจากบ่า

 

เมื่อเร็วๆ นี้ซาอุดีอาระเบียทำการประหารชีวิตนักโทษ 37 คนในข้อหาก่อการร้าย นับเป็นการประหารชีวิตแบบหมู่ครั้งใหญ่สุดในประเทศนับตั้งแต่ปี 2016 โดยนักโทษทั้งหมดถูกตัดศีรษะต่อหน้าสาธารณชน ตามลานประหารในเมืองต่างๆ ทั่วประเทศ และมีนักโทษรายหนึ่งถูกนำร่างไปแขวนประจานไว้

การประหารด้วยการใช้ดาบตัดศีรษะในที่สาธารณะ เป็นวิธีประหารอย่างเป็นทางการของซาอุดีอาระเบีย โดยมีการตัดศีรษะนักโทษอย่างน้อย 158 ครั้งในปี 2015 ประมาณ 154 ครั้งในปี 2016 และอย่างน้อย 146 ครั้งในปี 2017 ในบางกรณีอาจมีการตรึงกางเขน เช่นในปี 2009 หนังสือพิมพ์ Saudi Gazette รายงานว่าศาลท้องถิ่นในเมืองอับฮา สั่งตรึงกางเขนร่างไร้ศีรษะของหัวหน้าแก๊งติดอาวุธ และสมาชิกแก๊งอีก 6 คนที่ปล้นร้านขายเพชรพลอย เป็นเวลา 3 วันหลังจากประหารแล้ว

แต่การประหารด้วยดาบไม่ใช่วิธีการเดียวในการประหารนักโทษ ตามกฎหมายอิสลาม ชายและหญิงที่มีความสัมพันธ์นอกเหนือจากการสมรส หรือคบชู้จะถูกขว้างด้วยหินจะเสียชีวิต แต่มีกรณีหนึ่งที่นักโทษกิตติมศักดิ์ ไม่ได้ถูกขว้างด้วยหินจนตาย แต่ถูกยิงที่ศรีษะหลายนัดจนเสียชีวิต นักโทษประหารรายนี้คือ เจ้าหญิงมิชาอัล บินต์ ฟาฮัด บิน โมฮัมหมัด อัลซาอุด (Mishaal bint Fahd bin Mohammed Al Saud) พระนัดดาของ มูฮัมหมัด บิน อับดุลอาซิซ อัล ซาอุด มกุฏราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบีย

วันที่ซาอุจ่อยิงเผาขนประหารเจ้าหญิงมีรักนอกสมรส ภาพจาก ميم | مجلة المرأة العربية

โศกนาฏกรรมครั้งนี้ เริ่มขึ้นช่วงทศวรรษที่ 70 เจ้าหญิงขอร้องให้ครอบครัวส่งพระองค์ไปเรียนที่เลบานอน แต่เมื่อไปถึงแล้วทรงตกหลุมรักชายหนุ่มที่ชื่อคาเล็ด หลานชายของเอกอัครราชทูตซาอุดีอาระเบียประจำเลบานอน และเริ่มมีความสัมพันธ์แบบลับๆ เมื่อทั้งคู่เดินทางกลับไปยังซาอุดีอาระเบียแล้วก็ยังแอบพบกันตามลำพังในหลายครั้ง จนกระทั่งถูกจับได้ และมีการตั้งข้อหาล่วงประเวณีโดยมิได้ผ่านการสมรส

เจ้าหญิงพยายามหลบหนี โดยปล่อยข่าวว่าจมน้ำตายเพื่ออำพรางตัวเอง จากนั้นพยายามหนีจากประเทศพร้อมกับคาเล็ด โดยปลอมตัวเป็นผู้ชาย แต่ถูกเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองจำได้ จึงถูกจับตัวไว้ที่สนามบินเจดดาห์ แล้วถูกส่งกลับไปหาครอบครัว

จากข้อมูลของ NY Times และหนังสือของ Brenchley ระบุว่า ทั้งคู่ถูกประหารชีวิตที่เมืองเจดดาห์ ในวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2520 โดยลานประหารอยู่ที่สวนสาธารณะด้านข้างของอาคารที่ระลึกสมเด็จพระราชินี เจ้าหญิงถูกปิดตา และจับให้คุกเข่า และเพราะเจ้าหญิงนำความเสื่อมเสียมาสู่ราชวงศ์ ดังนั้นพระอัยกา (ปู่) ซึ่งเป็นสมาชิกอาวุโสของพระราชวงศ์ จึงเป็นผู้สั่งการประหารด้วยตัวเอง

ส่วน คาเล็ด หลังจากถูกบังคับให้ดูการประหารชีวิตของเจ้าหญิง จึงค่อยถูกตัดศีรษะด้วยดาบ เชื่อว่าผู้ลงมือเป็นหนึ่งในพระญาติฝ่ายชายของเจ้าหญิง แต่กว่าจะตัดศีรษะของเขาได้ ต้องลงดาบถึง 5 ครั้งกว่าจะสำเร็จ เพราะเพชฌฆาตไม่ใช่มืออาชีพ

ต่อมาแอนโทนี โธมัส (Antony Thomas) ผู้กำกับภาพยนต์อิสระ ได้ทำการสืบสวนข้อมูล และถ่ายทอดเรื่องนี้เป็นภาพยนต์สารคดีเรื่อง Death of a Princess แพร่ภาพเมื่อวันที่ 8 เมษายน 1980 มีข้อมูลว่า สมเด็จพระราชาธิบดีคอลิด บิน อับดัลอะซีซ อาล ซะอูด กษัตริย์ซาอุดีอาระเบียในขณะนั้น ทรงเสนอเงินให้ถึง 11 ล้านเหรียญสหรัฐ แก่สำนักข่าว PBS เพื่อยุติการฉาย

วันที่ซาอุจ่อยิงเผาขนประหารเจ้าหญิงมีรักนอกสมรส ภาพจาก YouTube

แอนโทนี โธมัส ชี้ว่า จากข้อมูลที่เขาได้รับ การประหารเจ้าหญิงและคนรักไม่ได้ปฏิบัติตามกฎหมาย ไม่มีการพิจารณาคดี และการประหารมีขึ้นในลานจอดรถของสวนสาธารณะแทนที่จะเป็นลานประหารตามกฎหมาย ขณะที่ผู้เขียนหนังสือเรื่อง Death of a Princess บอกว่า เป็นการประหารเพื่อลบล้างความอดสูของราชวงศ์และทำกันในลานจอดรถ

ตามปกติแล้ว เนื่องจากข้อหามีสัมพันธ์ก่อนการสมรสหรือการมีชู้มีโทษที่หนักหน่วงมาก จะต้องมีการสอบสวนอย่างละเอียดและมีการปกป้องผู้หญิงที่ถูกกล่าวโทษด้วยข้อหานี้ จนกว่าจะมีการพิสูจน์ให้แน่ชัด และผู้ถูกกล่าวหาสารภาพผิด 4 ครั้งต่อหน้าตุลาการ และมักไม่มีผู้ที่ตกเป็นนักโทษจากข้อหานี้

สำหรับกระบวนการตัดศีรษะตามตัวบทกฎหมายนั้น ตามปกติจะเริ่มขึ้นประมาณ 9.00 น. บุคคลที่จะถูกประหารนั้นถูกพาไปยังจัตุรัสใจกลางเมือง ซึ่งใช้เป็นตะแลงแกงชั่วคราว จากนั้นคุกเข่าต่อหน้าผู้บังคับคดี เพชฌฆาตจะเงื้อดาบซุลตาน (sulthan) ฟันลงที่คอของนักโทษโทษให้ศีรษะออกจากร่าง หลังจากเจ้าหน้าที่ประกาศว่านักโทษเสียชีวิตอย่างเป็นทางการแล้ว ตำรวจจึงจะประกาศความผิดที่บุคคลดังกล่าวได้กระทำลงไป และหลังจากนั้นกระบวนการการประหารถือเป็นอันเสร็จสิ้น แต่เจ้าหน้าที่อาจประกาศความผิดก่อนจะตัดศีรษะก็ได้ เพชฌฆาตชั้นดีอาจจะตัดศีรษะนักโทษได้ถึง 10 คนในวันเดียว

มูฮัมหมัด ซาออัด อัลเบชี เพชฌฆาตอันดับต้นๆ ของซาอุดีอาระเบียให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Arab News เมื่อปี 2003 ว่า ก่อนการประหารชีวิตเขาจะไปเยี่ยมครอบครัวของเหยื่อ เพื่อขออภัยแทนอาชญากร หากครอบครัวของเหยื่อให้อภัย อาชญากรก็จะได้รับการยกเว้นโทษประหาร แต่หากไม่ให้อภัย จะดำเนินการประหาร ก่อนจะลงดาบเขาจะบอกให้นักโทษท่องชะฮาดะฮ์ หรือบทประกาศความเชื่อในศาสนาอิสลาม เขาบรรยายว่า "นักโทษจะถูกมัดและปิดตา ผมจะฟันดาบลงในจังหวะ ศีรษะของเขาจะกลิ้งไปหลายเมตร ... ผู้คนต่างพากันประหลาดใจ (ที่ดาบ) สามารถสามารถตัดศีรษะออกจากร่างกายอย่างรวดเร็ว"

ภาพปกจาก عجائب وغرائب

อ้างอิง

Niblock, Tim (2015). "State, Society, and Economy in Saudi Arabia". Routledge.

Laffin, John (1979). "The dagger of Islam". Sphere. p. 48.

Laube, Lydia (1991). "Behind the Veil: An Australian Nurse in Saudi Arabia". Wakefield Press. p. 156.

Hays, Constance L. (26 November 1988). "Mohammed of Saudi Arabia Dies; Warrior and King-Maker Was 80" – via NYTimes.com.

Brenchley, Frank (1 January 1989). "Britain and the Middle East: Economic History, 1945-87". I.B.Tauris – via Google Books.

Laube, Lydia (1991). "Behind the Veil: An Australian Nurse in Saudi Arabia". Wakefield Press. p. 156.

Weston, Mark (28 July 2008). "Prophets and Princes: Saudi Arabia from Muhammad to the Present". John Wiley & Sons