posttoday

เทศกาลหนังเมืองคานส์ อีเว้นต์ที่แฟชั่นถูกพูดถึงมากกว่าหนัง?

18 พฤษภาคม 2562

หนังพึ่งแฟชั่น แฟชั่นพึ่งหนัง หรือต่างต้องพึ่งพากันงานถึงจะปัง

หนังพึ่งแฟชั่น แฟชั่นพึ่งหนัง หรือต่างต้องพึ่งพากันงานถึงจะปัง

แต่ละครั้งที่จัดงาน ชื่อของเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ของฝรั่งเศสจะกลายเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ไปทั่วโลก เพราะนอกจากจะมีดารานักแสดงฮอลลีวูดชื่อดังตบเท้าร่วมงานแล้ว ยังมีบรรดาเซเลบริตี้ที่เป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ของผลิตภัณฑ์ที่เป็นผู้สนับสนุนการจัดงานปรากฏตัวบนพรมแดงอีกไม่น้อย ทำให้เทศกาลนี้อยู่ในหน้าสื่อและโซเชียลมีเดียได้ตลอดระยะการจัดงานกว่า 10 วัน

เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 1946 เพื่อยกย่องผลงานภาพยนตร์จากทั่วทุกมุมโลก ไม่ว่าจะเป็นประเภทอาร์ต อินดี้ สารคดี หรือภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ และเริ่มมีอิทธิพลและบทบาทสำคัญในวงการภาพยนตร์จนขยับขึ้นเป็น 1 ใน 3 ยักษ์ใหญ่เทศกาลภาพยนตร์เคียงคู่กับเทศกาลภาพยนตร์เวนิสของอิตาลี และเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเบอร์ลินของเยอรมนี

แต่นอกจากภาพยนตร์แล้ว ในยุคหลังๆ แฟชั่นได้กลายเป็นส่วนหนึ่งทำให้เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์เป็นที่พูดถึงในวงกว้าง บางครั้งพูดถึงมากกว่าตัวภาพยนตร์เสียอีก จนเกิดการเรียกขานเทศกาลนี้ว่าเป็นงานแฟชั่นวีค เมื่อปี 2017 ชาบานา อัซมี นักแสดงชาวอินเดียได้โพสต์ภาพของเธอเมื่อครั้งเข้าร่วมเทศกาลภาพยนตร์ที่เมืองคานส์เมื่อปี 1976 ด้วยเสื้อผ้าที่เรียบง่าย พร้อมแคปชั่นว่า “ที่คานส์เมื่อปี 1976 จากภาพยนตร์เรื่อง Nishant  เรียบง่ายที่สุด ภาพยนตร์คือพระเอกไม่ใช่เสื้อผ้า”

หรืออัดนาน มาลิก นักแสดงและผู้กำกับชาวปากีสถาน ที่ทวีตตั้งคำถามว่า “คานส์หันมาสนใจเรื่องแฟชั่นมากกว่าภาพยนตร์ตั้งแต่เมื่อไร โลกโซเชียลพูดถึงแต่เรื่องเสื้อผ้าหน้าผมของคนดัง จะบอกว่าผมเชยก็ได้นะ แต่ผมอยากรู้เรื่องเกี่ยวกับภาพยนตร์หรืองานศิลป์มากกว่า ผมไม่ใช่สายแฟชั่น”

บรรดาสื่อมวลชนจากทั่วโลกนับพันๆ คนล้วนมารวมตัวกันที่งานแห่งนี้เพื่อนำเสนอข่าว บางปีมีสื่อมวลชนลงทะเบียนกว่า 4,500 คน จึงไม่แปลกที่บรรดาผู้สนับสนุนการจัดงานซึ่งมีทั้งแบรนด์เครื่องสำอาง เครื่องประดับ เสื้อผ้าหรูระดับโลก จะอยากให้ชื่อของตัวเองปรากฏในสื่อออกสู่สายตาชาวโลกให้ได้มากที่สุด แฟชั่นจึงขาดไม่ได้สำหรับเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ จนอาจจะกลบกระแสภาพยนตร์ซึ่งเป็นจุดประสงค์หลักไปบ้าง

เทศกาลหนังเมืองคานส์ อีเว้นต์ที่แฟชั่นถูกพูดถึงมากกว่าหนัง? ภาพ : ANNE-CHRISTINE POUJOULAT/AFP

แต่นอกจากแบรนด์ต่างๆ จะใช้พรมแดงนำเสนอสินค้าของตัวเองแล้ว การเดินพรมแดงเมืองคานส์ยังเป็นเวทีของการแสดงจุดยืนและปัญหาต่างๆ ในสังคม ความเท่าเทียมทางเพศ หรือพลังหญิง อย่างในปี 2015 มีกลุ่มผู้หญิงวัยในช่วงวัย 50 ปี ถูกกีดกันไม่ให้ร่วมงานเปิดตัวภาพยนตร์เรื่อง Carol เพราะไม่ได้สวมรองเท้าส้นสูง เนื่องจากมีปัญหาสุขภาพ แต่กฎเหล็กของเทศกาลนี้คือต้องสวมรองเท้าส้นสูงเท่านั้น เมื่อเรื่องนี้หลุดออกมาผู้จัดงานจึงถูกวิจารณ์ไปตามระเบียบ ในปีต่อมา จูเลีย โรเบิร์ต จึงประท้วงด้วยการเดินพรมแดงด้วยเท้าเปล่าเสียเลย

เทศกาลหนังเมืองคานส์ อีเว้นต์ที่แฟชั่นถูกพูดถึงมากกว่าหนัง? ภาพ : Alberto PIZZOLI/AFP

และเมื่อปีที่แล้ว คริสเตน สจ๊วต นักแสดงที่โด่งดังจากภาพยนตร์เรื่อง Vampire Twilight ประกาศจุดยืนประท้วงกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดสำหรับเซเลบหญิงด้วยการถอดรองเท้าส้นสูงกลางพรมแดงจนเป็นข่าวหน้าหนึ่งไปทั่วโลกเช่นกัน ส่วนอีกวันหนึ่งเธอขยับการประท้วงไปอีกขั้นด้วยการแต่งตัวในลุคแมนๆ ด้วยการสวมเสื้อโค้ทซาตินคล้ายกับทุกซิโด้ของผู้ชาย กางเกงสีดำเข้าชุด และรองเท้าโลฟเฟอร์ ซึ่งเหมือนเป็นการสื่อว่าในเมื่อผู้ชายแต่งตัวสไตล์นี้ได้ แล้วทำไมผู้หญิงจะต้องสวมแต่รองเท้าส้นสูงล่ะ และปรากฏว่าเธอก็ได้เข้างานโดยที่ไม่มีสตาฟฟ์มาขวางไว้

หากมองอีกแง่หนึ่ง แฟชั่นบนพรมแดงก็เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสีสันและการรับรู้ให้กับเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ และทำให้ชื่อของเทศกาลนี้ปรากฏอยู่ในหน้าสื่อและโซเชียลมีเดียได้อีกนานนับสัปดาห์หลังปิดม่านการแจกรางวัล