posttoday

สวมจีวรแล้วจับมีดผ่าตัด หมออเมริกันบวชพระใช้ธรรมะช่วยผู้ป่วย

09 พฤษภาคม 2562

ศัลยแพทย์ระบบประสาทชาวสหรัฐ ศึกษาการปฏิบัติธรรม และใช้พุทธศาสนามาช่วยรักษาคนป่วยไปพร้อมกับการแพทย์สมัยใหม่

โดย กรกิจ ดิษฐาน

ประสาทศัลยศาสตร์ หรือ Neurosurgery เป็นแผนกที่ดูแลโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาท รวมถึงสมอง ไขสันหลัง กระดูกสันหลัง และทุกอย่างที่เชื่อมโยงกับประสาทของมนุษย์ และแพทย์ในแผนกนี้เรียกว่า "ศัลยแพทย์ระบบประสาท" หรือ Neurosurgeon และเป็นแพทย์ที่ต้องอาศัยทักษะสูง เพราะเกี่ยวข้องกับส่วนที่ละเอียดอ่อนของร่างกายมนุษย์

ในประเทศสหรัฐ รายได้ของศัลยแพทย์ระบบประสาทจึงสูงมาก เรียกได้ว่าสูงที่สุดในหมู่แพทย์ด้วยกัน คือ 775,968 ต่อปี หรือราว 24 ล้านบาทต่อปี (ตัวเลขจาก MGMA) และถ้ามีประสบการณ์มากถึง 15 ปี จะมีค่ากลางรายได้ถึง 914,796 เหรียญสหรัฐ หรือกว่า 29 ล้านบาทต่อปี (ตัวเลขจาก healthcareerexplore)

รายได้มหาศาลนี้ แลกมาด้วยการฝึกปรือทักษะและความเสี่ยงของงาน ศัลยแพทย์ระบบประสาทจึงไม่ใช่งานที่ง่าย และรับรายได้มากมายแบบง่ายๆ

และแน่นอนว่า ไม่ใช่ทุกโรคที่ศัลยแพทย์ระบบประสาทจะแก้ไขได้ รวมถึงการหยุดยั้งความตาย แม้ว่าจะมีฝีมือมากแค่ไหน หรือมี "ค่าตัว" มหาศาล แพทย์ก็ยังทำได้แค่เยียวยาความทุกข์ไม่ใช่รักษาความทุกข์ให้หายขาด ด้วยเฉพาะความทุกข์ทางใจ

สวมจีวรแล้วจับมีดผ่าตัด หมออเมริกันบวชพระใช้ธรรมะช่วยผู้ป่วย ภาพจาก Duke Health

ที่สหรัฐ มีศัลยแพทย์ระบบประสาทคนหนึ่งที่รู้สึกสะเทือนใจกับการพบเห็นความทุกข์ เผชิญหน้ากับความเป็นและความตายของคนไข้ทุกวัน จนเขาบอกว่า "เป็นกองหน้าในการรับมือกับความทุกข์ของมนุษย์" แต่แพทย์ท่านนี้รู้วิธีการจัดการความทุกข์ของตัวเองและของคนไข้ เพราะหลังจากเขาสวมเสื้อกาวน์แล้ว เขายังตัดสินใจมาสวมจีวรของนักบวชด้วย และทุกวันนี้ เขายังสลับบทบาทและเครื่องแต่งกาย ระหว่างการเป็นแพทย์และพระ

แพทริก ค็อดด์ (Patrick Codd) เป็นศัลยแพทย์ระบบประสาท และผู้ช่วยศาสตราจจารย์ด้านประสาทศัลยศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยดุ๊ค ประเทศสหรัฐ ตอนที่ยังเป็นวัยรุ่นเขาเคยสับสนในชีวิตและรู้สึกว้าเหว่เหมือนกับวัยรุ่นหลายๆ คน แต่เผอิญว่าใกล้ๆ กับบ้านของเขา มีสำนักสงฆ์ในพุทธศาสนานิกายเซน ด้วยความสนใจเขาจึงเข้าไปของรับการสอนธรรมะ และได้พบกับอาจารย์สอนกรรมฐานที่ช่วยทำให้เขารู้จักกับการนั่งสมาธิแบบนิกายเซน

หลังจากนั้น ค็อดด์ก็กลายเป็นนักปฏิบัติธรรมมาโดยตลอด แม้แต่ตอนที่เข้าเรียนที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด แต่กว่าที่เขาจะสามารถเชื่อมโยงธรรมะและการปฏิบัติสมาธิให้เข้ากับอาชีพของเขาได้ ก็หลังจากเข้าเป็นแพทย์ประจำโรงพยาบาลกลางแมสซาชูเซตต์

สวมจีวรแล้วจับมีดผ่าตัด หมออเมริกันบวชพระใช้ธรรมะช่วยผู้ป่วย ภาพจาก Duke Health

ตอนที่เขายังเป็นนักศึกษาแพทย์ ค็อดด์มุ่งมั่นกับความเป็นเลิศทางวิชาการ และต้องการความก้าวหน้าในชีวิตหลังจากเรียนจบแล้ว แต่เขาไม่ได้เตรียมพร้อมกับสถานการณ์จริงในชีวิตของการเป็นศัลยแพทย์ประสาท เพราะสิ่งที่เรียนมาไม่เหมือนกับที่พบในโรงพยาบาล นั่นคือสิ่งที่เขาเรียกว่า "ความโศกเศร้าที่ไม่มีวันจบสิ้น"

เขาบอกกับนิตยสารออนไลน์ Lion's Roar ว่า "ผมถูกบังคับให้เผชิญกับความทุกข์ ทั้งความทุกข์ทางร่างกาย ทุกข์ทางอวัยวะต่างๆ และสภาพจิตใจที่บิดเบี้ยว ในตอนนั้นเองที่ผมพบว่าการปฏิบัติธรรมของพุทธศาสนานิกายเซน เข้ากันได้กับความทุกข์ยากลำบากที่เกิดขึ้นในโรงพยาบาล ช่วยให้สงบนิ่ง ปล่อยให้สิ่งต่างๆ เข้ามาแล้วผ่านไป"

ค็อดด์รู้สึกว่าการแพทย์สมัยใหม่ ยังไม่เพียงพอที่จะรักษาคนป่วยได้ เขาจึงริเริ่มการรักษาควบคู่ไปกับการปรึกษาเรื่องความทุกข์กับคนป่วย โดยจัดการเสวนาเป็นประจำทุกเดือนเพื่อให้ผู้ป่วยบอกเล่าเรื่องความทุกข์ และยังสอนการนั่งสมาธิในมหาวิทยาลัยดุ๊คในฐานะนักบวชของนิกายเซน

เมื่อปีที่แล้ว ค็อดด์รับศีลเป็นนักบวชในนิกายเซ็น สายโซโต ที่ Greater Boston Zen Center ซึ่งเป็นสำนักปฏิบัติธรรมในพื้นที่เมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตต์

แต่นักบวชของนิกายเซน ไม่ได้มีสถานะเป็นพระ แม้จะสวมจีวรและประกอบพิธีกรรมเหมือนพระสงฆ์ก็ตาม โดยนักบวชสามารถมีครอบครัวได้และประกอบอาชีพได้ ค็อดด์ก็เป็นหนึ่งในนักบวชประเภทนี้ โดยเขาบอกว่า การเป็นนักบวชก็มีส่วนช่วยผู้ป่วยเวลามีความจำเป็นต้องพูดคุยเรื่องความทุกข์ แต่เวลาผู้ป่วยทรมานในลักษณะอื่น ก็ไม่เหมาะที่จะใช้สถานะนักบวชเข้าช่วยเหลือ (แต่เขาสามารถช่วยแบบอื่นได้ ด้วยบทบาทการเป็นแพทย์)

สวมจีวรแล้วจับมีดผ่าตัด หมออเมริกันบวชพระใช้ธรรมะช่วยผู้ป่วย ภาพจาก Duke Health

เขาบอกว่า การเป็นนักบวชในพุทธศาสนาเป็นโอกาสที่ดีมากสำหรับเขาในการเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วย ในการเข้าใจตัวเองว่าคือใคร นั่นคือการเป็นมนุษย์ที่ต้องพบกับความทุกข์ ความกังวล และความกลัวเหมือนๆ กัน

เขายังบอกด้วยว่า การปฏิบัติกรรมฐานแบบเซ็น ไม่ใช่แค่การนั่งลงแล้วทำสมาธิในห้องเงียบๆ แล้วนับลมหายใจเข้าออก แต่คือการนับลมหายใจเข้าออกทุกย่างก้าวที่เดินไปตามถนน หรือตอนไปจ่ายตลาด หรือตอนที่กำลังผ่าตัดสมอง

"ผู้ป่วยยอมยกร่างกายให้เราเพื่อให้เราพยายามช่วยเหลือพวกเขา นี่ถือเป็นความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่มาก"

ค็อดด์ บอกว่า ไม่ว่าจะเป็นการสวมจีวรนักบวช หรือการสวมเสื้อกาวน์สีขาว ทั้งสองอย่างคือโอกาสที่จะทำให้เขาเป็นคนที่มีความกรุณา มีความเห็นอกเห็นใจผู้ป่วย และคอยยื่นมือช่วยเหลือผู้คนให้พ้นจากความทุกข์ นอกจากนี้ การฝึกปรือด้วยธรรมะ ยังทำให้เขาพร้อมรับการสถานการณ์ความเป็นความตายได้ดีขึ้นอีกด้วย


อ้างอิง

Lilly Greenblatt. "A Neurosurgeon Working with the Suffering Mind". Lion's Roar. 26 April 2019.

Patrick J. Codd, MD. "Meditation Head-On: Neurosurgeon and Buddhist Priest, Dr. Patrick Codd". Peerspectrum. 19 March 2019.

Patrick J. Codd, MD. "Ordination of Patrick Codd". Greater Boston Zen Center. 4 November 2017.

Duke Health "As a Buddhist Priest, Duke Neurosurgeon Finds Deeper Connection with Patients". Youtube. 16 May 2018.