posttoday

ทวงคืนทางเท้าสวยๆ ด้วยการแชร์พื้นที่ไม่ใช่ไล่ทุบ

28 เมษายน 2562

ในต่างประเทศ มีวิธีการจัดการพื้นที่สาธารณะที่น่าสนใจ แบบไม่ต้องไล่ทุบของที่เอกชนสร้างไว้ดีๆ เพื่อทำให้ (แย่) เหมือนกัน


โดย กรกิจ ดิษฐาน


ข่าวที่ถูกแชร์มากที่สุดในเวลานี้ คือเรื่องที่ กทม. ไปทุบทางเท้าสวยๆ บริเวณด้านหน้าโรงแรมแห่งหนึ่งในย่านนานา ซึ่งเอกชนสร้างเป็นสาธารณสมบัติแก่ชาวกรุงเทพฯ หลังจากที่ชาวเน็ตแสดงความเห็นไม่พอใจกับการกระทำของ กทม. รองผู้อำนวยการสำนักการโยธา กทม. (หน่วยงานผู้รับผิดชอบ) จึงเปิดเผยกับโพสต์ทูเดย์ ว่ากทม. ต้องดำเนินการทำทางเท้าให้เหมือนกัน เพราะถ้าอนาคตทางเท้านั้นเสียหายและเอกชนไม่ซ่อมแซม กทม.ก็ไม่มีอุปกรณ์หรือกระเบื้องชนิดเดียวกันไปซ่อมแซมให้เหมือนเดิม

อย่างไรก็ตาม แม้จะชี้แจงแล้วกระแสสังคมก็ยังไม่พอใจเหตุผลของ กทม. อยู่ดี

ในต่างประเทศ มีวิธีการจัดการพื้นที่สาธารณะที่น่าสนใจ แบบไม่ต้องไล่ทุบของที่เอกชนสร้างไว้ดีๆ เพื่อทำให้ (แย่) เหมือนกันหมด นั่นคือการทำเปิดพื้นที่ส่วนบุคคลให้เป็นพื้นที่สาธารณะ หรือ Privately owned public space เรียกสั้นๆ ว่า POPS

พื้นที่ POPS เกิดจากข้อตกลงระหว่างหน่วยงานบริหารเมืองกับภาคธุรกิจด้านพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ โดยทางการเมืองจะให้สัมปทานแบ่งเขตที่มีคุณค่าสูงในทางธุรกิจ เมื่อเอกชนได้พื้นที่นั้นไปแล้ว ทำการสร้างอาคารห้างร้านของตัวเอง แต่จะปล่อยให้ประชาชนเข้ามาใช้ประโยชน์โดยไม่คิดมูลค่า ซึ่งอาจะเป็นจตุรัสกลางเมือง สวนหย่อม หรืออาคารที่มีพื้นที่เปิด ในเมืองใหญ่ของโลกมีการแชร์พื้นที่แบบ POPS กันทั่วไป เช่นที่นิวยอร์ก บอสตัน ซานฟรานซิสโก โตรอนโต หรือโซล

ในบรรดาเมืองเหล่านี้ นิวยอร์กเป็นเมืองแรกที่ใช้นโยบายแชร์พื้นที่ผ่านกฎหมายโซนนิ่งปี 1961 ช่วยแบ่งเบาภาระของทางการเมืองในการสร้างพื้นที่หย่อนใจและใช้งานร่วมกันของคนเมือง เช่น สวนสาธารณะ ซึ่งสร้างไม่ทันการเพิ่มขึ้นของประชากร ทางออกคือขอให้เอกชนมา "ร่วมแจม"

POPS ยังอาจเป็นพื้นที่ทางได้เท้าด้วย เช่น ทางเท้าที่เป็นส่วนต่อขยายด้านหน้าอาคารบางแห่งในนครนิวยอร์ก ถูกสร้างและตกแต่งอย่างดี จนกลายเป็นพื้นที่สัญจรและสันทนาการในเวลาเดียวกัน ส่วนต่อขยายของทางเท้า หรือ Sidewalk extensions อาจถูกจัดเป็นสวนหย่อมก็ได้ หรือจัดหาที่นั่งและที่ร่มสำหรับคนผ่านไปผ่านมา หากรัฐอนุญาตให้เอกชนทำ

ในกรณีของทางเท้าในกรุงเทพฯ แม้ว่าจะเป็นพื้นที่สาธารณะ แต่กทม. สามารถแชร์ให้เอกชนเข้ามาพัฒนาให้ดูดีขึ้นมาได้ โดยจะได้ประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย คือ เอกชนจะได้หน้าบ้านที่สวยงามใช้สอยสะดวก ขณะที่กรุงเทพฯ ได้คนมาช่วยแบ่งเบาภาระการพัฒนาเมือง

ที่กทม. ให้เหตุผลว่า กลัวทางเท้าจะขาดคนดูแลให้มีเอกภาพ แต่ทางเท้าไม่จำเป็นจะต้องหน้าตาเหมือนกันหมด เช่น ในกรุงโตเกียวทางเท้ามีรูปแบบที่หลากหลายไม่ได้เป็นแบบเดียวกันทั้งหมด ว่ากันตามตรงแล้ว ถึงทางเท้าในกรุงเทพฯ จะใช้วัสดุประเภทเดียวกันหมดแต่ขาดความเป็นเอกภาพด้านการใช้งาน เพราะมีสภาพคุ้มดีคุ้มร้าย บางแห่งเดินได้ดี แต่บางที่ใช้เดินไม่ไหว

นอกจากนี้ ทางการ กทม. ควรที่จะศึกษาแนวทางจากต่างประเทศ คือการออกระเบียบให้ชัด และทำสัญญาให้เป็นกิจจะลักษณะว่าเอกชนจะรับผิดชอบทางเท้าหรือพื้นที่ POPS ในเวลาเท่าไร และมีเงื่อนไขอย่างไร หากไม่ทำตามสัญญาจะมีมาตรการลงโทษอย่างไร

หลายคนอาจบอกว่า เอกชนทำทางเท้าให้ดีแล้ว ไม่ควรที่จะลงโทษหากพัฒนาไม่ไหว แต่ต้องเข้าใจว่าหน้าบ้านที่สวยงามมีต่อธุรกิจเอกชนเช่นกัน เป็นผลประโยชน์ที่ลงตัวด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย ดังนั้นหากจะให้เอกชนมาดูทางเท้า ก็ควรจะมีการทำสัญญาให้ชัดเจน มองอีกด้านหนึ่งยังเป็นประโยชน์กับเอกชนด้วย จะได้ไม่ได้ต้องเสียหาย เมื่อถูกภาครัฐบุกมาทุบทางเท้าที่ทำไว้อย่างดี

นอกจากการจัดการในโมเดล POPS แล้วในสหรัฐ เริ่มมีการแปรรูปทางเท้าให้เอกชนมาดูแล เช่นที่เมืองแคนซัสซิตี้ รัฐมิสซูรี เมื่อเดือนธันวาคม 2017 รัฐบาลท้องถิ่นเปิดให้เอกชนสัมปทานเพื่อดูแลทางเท้าแบบเต็มที่ สาเหตุก็เพราะพื้นที่ดังกล่าวเป็นย่านธุรกิจบันเทิงยามราตรี เกิดอาชญากรรมบ่อยครั้ง เพื่อรักษาธุรกิจไว้ กลุ่มเจ้าของกิจการในพื้นที่จึงผลักดันให้แปรรูปการดูแลทางเท้า โดยจะมีการติดตั้งเครื่องตรวจจับอาวุธ เพื่อควบคุมอาชญากรรม

เรื่องนี้มีข้อดีตรงที่ตำรวจสหรัฐจะขอค้นอาวุธในที่สาธารณะไม่ได้ แต่พนักงานรักษาความปลอดภัยที่ดูแลทางเท้า (ที่ผ่านการแปรรูปให้เป็นของเอกชน) สามารถค้นอาวุธคนที่จะเดินผ่านทางได้

vox.com รายงานว่า ในสหรัฐ รัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นเริ่มได้รับงบประมาณน้อยลงเพราะมาตรการทางภาษีของรัฐบาลทรัมป์ ทำให้เกิดความจำเป็นที่จะต้องพึ่งพาภาคเอกชนให้เข้ามาดูแลสวัสดิการประชาชนแทนภาครัฐที่มีเงินน้อยลง

ที่กรุงเทพฯ มีปัญหาที่ต่างจากสหรัฐ นั่นคือทางเท้าถูกครอบครองโดย "สตรีทฟู๊ด" จนทางเดินไม่สะอาดและไม่พอให้คนเดิน และบางครั้งมีมอเตอร์ไซค์ขึ้นมาวิ่ง โดยที่เจ้าหน้าที่ไม่ได้กวาดล้างเป็นจริงเป็นเป็นจัง

บางทีการแปรรูปทางเท้าอาจเป็นคำตอบให้กับคนเมืองก็เป็นได้

 

ภาพ Photo by CHARLY TRIBALLEAU / AFP