posttoday

เช็คสภาพไทย ไหวแค่ไหนก่อนฝ่าพายุเศรษฐกิจโลก

26 เมษายน 2562

ความไร้อนาคตทางการเมืองกำลังกลายเป็นปัจจัยลบแทนที่สงครามการค้า

โดย กรกิจ ดิษฐาน

ในที่สุดสิ่งที่ทุกคนหวาดกลัวก็กลับมาหลอกหลอนประเทศไทยอีกครั้ง เมื่อความไม่แน่นอนทางการเมือง เริ่มส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย เมื่อธนาคารโลกปรับจีดีพีไทยเหลือ 3.8% ในปีนี้ จากเดิม 3.9% สาเหตุสำคัญมีอยู่ 2 ประการคือ ผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐ และความกังวลเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลที่ล่าช้า จนนักลงทุนเกิดความกังวล

การปรับตัวเลขของธนาคารโลกสอดคล้องกับทิศทางในตลาดการเงิน ซึ่งได้รับผลกระทบต่อปัจจัยเดียวกัน นั่นคือความไม่แน่ของการเมืองไทยและภาคส่งออกของไทยที่จะได้รับพิษจากสงครามการค้า จนกระทั่งเงินบาทที่เคยแข็งแกร่งในช่วงปีที่ผ่านมาอ่อนค่าลง และมีแนวโน้มที่จะปรับลงมาอีก

เป็นเวลานานพอสมควรแล้วที่ประเด็นการเมืองไม่ได้เป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อทิศทางเศรษฐกิจของประเทศ ในช่วงปีที่ผ่านมา แม้ว่าไทยจะเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่าง 2 ยักษ์ แต่ค่าเงินบาทก็ยังแข็งที่สุดในเอเชีย และตัวเลขเศรษฐกิจก็ค่อยๆ กระเตื้องขึ้นจนกระทั่งผ่านการเลือกตั้งใหญ่ แทนที่อนาคตจะสว่างไสวขึ้น สถาบันระดับโลกกลับมองว่าไทยกำลังถอยเข้าสู่มุมสลัวอีกครั้ง

รายงานฉบับเต็มของธนาคารโลกเกี่ยวกับไทย (East Asia & Pacific Economic Update, April 2019) ตั้งชื่อรายงานไว้ว่า Managing Headwinds หรือ การรับมือกับมรสุมที่ถาโถมเข้าตรงหน้า เพราะไม่เฉพาะแต่ไทยเท่านั้นที่กำลังเผชิญกับอุปสรรคครั้งสำคัญ แต่ประเทศหลักในภูมิภาค ล้วนแต่กำลังตกที่นั่งลำบากกันถ้วนหน้า นอกจากไทยแล้ว เวียดนามตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกัน

เช็คสภาพไทย ไหวแค่ไหนก่อนฝ่าพายุเศรษฐกิจโลก GOP ของไทยระหว่างปี 2010 - 2017 จาก World Bank

ยกเว้นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจเล็กๆ เช่น ลาวและกัมพูชาซึ่งเติบโตกันอย่างคึกคัก เพราะประเทศเหล่านี้เหมือนกับถั่วงอกที่กำลังได้น้ำ จึงโตวันโตคืนตรงกันข้ามกับระดับเฮฟวี่เวทแห่งเอเชียที่เหมือนต้นไทรใหญ่โตมโหฬาร ได้น้ำมากแค่ไหนก็มองเห็นการเติบโตไม่ชัด ยิ่งในช่วงนี้เศรษฐกิจขาดน้ำหล่อเลี้ยงอย่างมาก

ถ้าไม่นับการเมืองภายใน และถ้าไม่นับสงครามการค้า อย่างไรเสียไทยก็หนีการชะลอตัวไม่พ้นอยู่ดี เพราะไทยผูกกับจีนอย่างมาก และจีนในตอนนี้ไม่อยากจะโตให้มากเกินไป

ตอนนี้เศรษฐกิจของจีนชะลอตัวลงเพราะตั้งใจจะให้ชะลอตามนโยบายที่ตีกรอบไว้ทำให้ในปีนี้โตลดลงมาอยู่ที่ 6.2% ในปีเทียบกับ 6.6% ในปี 2018 สาเหตุที่จีนบังคับตัวเองให้ขยายตัวช้าลง ก็เพราะเป็นเป้าหมายของรัฐบาลที่ต้องการแนวโน้มเศรษฐกิจที่ "ช้าแต่ชัวร์" ไม่ใช่โตพรวดพราดแล้วพบกับ Hard landing จนหัวคะมำ

ปัญหาก็คือ จีนกำลังชะลอตามเป้า หรือว่าชะลอมากไป หรือว่ากำลังมุ่งสู่หายนะแต่คนนอกไม่รู้? เพราะนักลงทุนต่างชาติมักไม่เชื่อตัวเลขของรัฐบาลจีน และในการประชุมสภาแห่งรัฐ (หรือคณะรัฐมนตรีจีนในทางนิตินัย) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรมนุษย์และประกันสังคมถึงกับใช้คำว่า การจ้างงานในจีนตอนนี้ "เผชิญกับความยากลำบากในการรักษาเสถียรภาพ"

เช็คสภาพไทย ไหวแค่ไหนก่อนฝ่าพายุเศรษฐกิจโลก อัตราความยากจนต่อหัวประชากรของไทยระหว่างปี 2010 - 2016 จาก World Bank

ในการประชุมเมื่อเดือนกรกฏาคมปีที่แล้วกรมการเมืองจีน ถือว่าเสถียรภาพของจ้างงานมีความสำคัญต่อชาติอันดับต้นๆ ถ้าขนาดที่คนในรัฐบาลใช้คำว่า "เผชิญกับความยากลำบากในการรักษาเสถียรภาพ" แสดงว่าสถานการณ์น่าเป็นห่วงแล้ว เพราะจีนมักไม่ใช้ถ้อยคำที่ซีเรียสขนาดนี้

สถานการณ์ยิ่งน่าวิตก เมื่อได้ฟังจากปากคำของคริสทีน ลาการ์ด ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ที่เตือนไว้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ว่า เศรษฐกิจโลกกำลังโตช้าลงกว่าที่คาดการณ์กันไว้ (ก่อนหน้านี้ IMF ยังลดคาดการณ์ตัวเลขของปีนี้ลงจาก 3.7% มาอยู่ที่ 3.5%) และบอกว่า "มรสุมเศรษฐกิจโลกกำลังบ่มเพาะ"

IMF ใช้คำว่า "มรสุม" เหมือนกับ World Bank ถ้าไม่เตี๊ยมกัน แสดงว่าอาการท่าจะหนักจริง

ในเมื่อไทยพ่วงกับจีนอย่างเหนียวแน่น แล้วทางออกสำหรับไทยคือะไร?

รายงานของคารโลกระบุว่า "ในขณะที่ความตึงเครียดทางการค้าลดลงบ้าง แต่การเติบโตของการค้าโลกจะยังทรงตัวต่อไป โชคดีที่อุปสงค์ในประเทศยังคงแข็งแกร่งในหลายภูมิภาค ช่วยชดเชยผลกระทบจากการส่งออกที่ชะลอตัวลงบางส่วน"

หมายความว่า หากไทยจะหลีกเลี่ยงจากพิษภัยจากสงครามการค้า ไทยจะต้องหันมากระตุ้นอุปสงค์ในประเทศให้มากขึ้น หนึ่งในความพยายาม (ที่ไม่รู้ว่าจะได้ผลมากเพียงใด) คือการแจกเงินเที่ยวเมืองรอง เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศให้ลงไปถึงทุกซอกทุกมุม ไม่ได้กระจุกตัวเฉพาะเมืองใหญ่ที่มีตลาดมาก และนักท่องเที่ยวเยอะ

เช็คสภาพไทย ไหวแค่ไหนก่อนฝ่าพายุเศรษฐกิจโลก รายได้มวลรวมประชาชาติของไทยระหว่างปี 2010 - 2017 จาก World Bank

อีกทางออกหนึ่งที่ธนาคารโลกให้ไว้คือ ในระยะสั้นให้เสริมทุนสำรองให้มากเข้าไว้ เรื่องนี้ไทยไม่มีปัญหา เพราะทุนสํารองระหว่างประเทศมากที่สุดเป็นอันดับที่ 12 ของโลก อีกทั้งเงินบาทยังถือว่าแกร่งพอสมควร ประเทศที่จะต้องทำตามคำแนะนำของธนาคารโลก คือกลุ่มที่ค่าเงินผันผวนอย่างหนักเมื่อปีที่แล้ว เช่น เงินริงกิตของมาเลเซีย

แต่อีกหนึ่งทางออกระยะยาวที่ไทยยังแก้ไม่ตกเสียที คือ กระตุ้นศักยภาพด้านการแข่งขัน, เสริมสร้างโอกาสให้กับภาคเอกชนให้มากขึ้น และพัฒนาทุนมนุษย์ ซึ่งเหมือนกับที่ IMF ระบุว่า ความเสี่ยงด้านการเงินของไทย คือหนี้ครัวเรือนในระดับที่สูง และการลงทุนภาค SMEs ที่อ่อนแอ

อ่อนแอขนาดที่คนในวงการธุรกิจสตาร์ทอัพบอกว่า เกิด 10 ตายไปเสีย 9 

ลองดูที่เวียดนาม ซึ่งเป็นประเทศที่ได้รับอานิสงส์มากที่สุดจากสงครามการค้าจีน-สหรัฐ แต่ปรากฎว่าธนาคารโลกก็ยังปรับลดงตัวเลขคาดการณ์ของเวียดนาม นั่นเป็นเพราะเวียดนามพึ่งพาการลงทุนจากต่างชาติมากเกินไป ไซแอน เฟนเนอร์ นักวิเคราะห์จาก Oxford Economic กล่าวว่า การที่เวียดนามพึ่งพาการลงทุนจากต่างประเทศ ทำให้เสี่ยงต่อความผันผวนจากนโยบายกีดกันทางการค้า

ต่อให้เวียดนามมีสัก 10 ซัมซุง (ซึ่งลงทุนในเวียดนามมากที่สุด) ก็ช่วยอะไรไม่ได้ ถ้าซัมซุงเกิดกังวลอะไรสักอย่างแล้วถอนทุนหนีขึ้นมา

ดังนั้นคำตอบของไทยคือต้องพึ่งพาคนนอกให้น้อยลง พึ่งตัวเองให้มากขึ้น

แต่คำถามต่อมาก็คือ เมื่อไรที่ไทยจะพึ่งพาตัวเองได้อย่างมั่นคง?

Photo by Romeo GACAD / AFP