posttoday

ทำไมไทยถึงเป็นประเทศทุกย์ยากน้อยที่สุดในโลกในมุมมองของ'บลูมเบิร์ก'

20 เมษายน 2562

เมื่อสื่อนอกจัดอันดับว่าไทยเป็นประเทศทุกข์ยากน้อยที่สุดในโลก เหนือสวิตเซอร์แลนด์และญี่ปุ่น แต่ตัวชี้วัดไทยต่างจากประเทศอื่น

เมื่อสื่อนอกจัดอันดับว่าไทยเป็นประเทศทุกข์ยากน้อยที่สุดในโลก เหนือสวิตเซอร์แลนด์และญี่ปุ่น แต่ตัวชี้วัดไทยต่างจากประเทศอื่น

เมื่อวันที่ 18 เมษายนที่ผ่านมา สำนักข่าวบลูมเบิร์กได้รายงานการจัดอันดับประเทศทุกข์ยากน้อยที่สุดในโลกประจำปี 2019 (Bloomberg Misery Index) โดยระบุว่า ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในอันดับหนึ่งของประเทศที่ทุกย์ยากน้อยที่สุดทั้งเมื่อปีก่อน และในปีนี้ โดยการจัดอันดับในปีนี้ไทยยังคงรั้งแชมป์อันดับหนึ่งว่าเป็นประเทศที่ทุกข์ยากน้อยที่สุด เหนือกว่าสวิสเซอร์แลนด์ เหนือกว่าญี่ปุ่น เหนือกว่าสิงคโปร์ เหนือกว่าฮ่องกง และเหนือกว่าเกาหลีใต้

ขณะที่ประเทศที่ทุกข์ยากมากที่สุดของโลกคือ เวเนซุเอลา อาร์เจนติน่า แอฟริกาใต้ ตุรกี และกรีซ บลูมเบิร์กได้ใช้ข้อมูลในการจัดอันดับดัชนีทุกย์ยากครั้งนี้ จากอัตราการว่างงาน และค่าเงินเฟ้อในแต่ละประเทศ

การสำรวจดังกล่าวเป็นการสำรวจนักเศรษฐศาสตร์จากบลูมเบิร์ก โดยสำหรับประเทศไทยนั้นระบุว่า ไทยมีอัตราการว่างงานที่ต่ำถึงระดับ 0.9 ส่วนอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 1.1 ช่วงต้นปี 2019 รายงานจากบลูมเบิร์กตอนหนึ่งระบุว่า คะแนนดัชนีชี้วัดที่ต่ำนั้นอาจเป็นความเข้าใจผิดของผู้วิเคราะห์ได้ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อต่ำอาจเป็นสัญญาณของเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ขณะที่อัตราการว่างงานต่ำอย่างมาก ก็อาจเป็นผลจากการที่แรงงานไม่กล้าเสี่ยงหางานใหม่ที่ดีกว่าเดิมเช่นกัน

บลูมเบิร์กยังระบุอีกว่า สำหรับประเทศไทยที่ถูกจัดอันดับว่าเป็นประเทศที่มีความทุกข์ยากทางเศรษฐกิจน้อยที่สุดนั้น เนื่องจากดัชนีชี้วัดของไทยต่างจากประเทศอื่น จึงส่งผลให้มีความน่าเชื่อถือที่น้อยกว่าสวิตเซอร์แลนด์ และสิงคโปร์

อย่างไรก็ดีหากนิยมของคำว่า "อัตราการว่างงาน" ตามคำนิยามของมาตรฐานองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization: ILO) หมายถึง ผู้ที่ว่างงานคือ ผู้ที่ไม่มีงานทำหรือ หากมีงานทำก็ทำไม่ถึงหนึ่งชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งเป็นนิยามที่ประเทศทั่วโลกรวมถึงไทยนำมาใช้

นั่นหมายความว่า แรงงานที่กำลังทำงานพาร์ทไทม์ต่างๆ เพื่อเข้าทำงานในระบบที่มีสวัสดิการรองรับ รวมถึงแรงงานนอกระบบที่ทำงานอิสระรูปแบบอื่นๆที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคมและไม่มีสวัสดิการที่ดีรองรับ ก็เข้านิยามของ"ผู้มีงานทำ" เช่นกัน