posttoday

แจ็ค หม่าโดนถล่มยับ แนะคนรุ่นใหม่ทำงาน12ชั่วโมงถึงจะรวย

20 เมษายน 2562

หากคนรุ่นใหม่ต้องการที่จะประสบความสำเร็จทางการเงิน จะต้องทำงานตามสูตร 996

 

โลกโซเชียลของจีนกำลังลุกเป็นไฟ เมื่อแจ็ค หม่า แห่งบริษัท Alibaba กล่าวผ่าน WeChat ของบริษัทว่า หากคนรุ่นใหม่ต้องการที่จะประสบความสำเร็จทางการเงิน จะต้องทำงานวันละ 12 ชั่วโมง 6 วันต่อสัปดาห์ หรือสูตรเวลาทำงาน 996 คือ เริ่มทำงาน 9.00 น. - 21.00 น. เป็นเวลา 6 วันต่อสัปดาห์ จากเวลาทำงานปกติตามกฎหมายคือ 8 ชั่วโมง 

หม่า บอกว่า “ ถ้าคุณไม่ทำ 996 ตอนที่คุณยังเป็นหนุ่มสาว แล้วคุณจะทำเมื่อไหร่? คุณคิดว่าการไม่เคยทำงานแบบ 996 เลยในชีวิตถือเป็นเรื่องที่น่าภาคภูมิจนคุยอวดได้งั้นหรือ?”  และย้ำว่า "ถ้าคุณเข้าร่วมกับ Alibaba  คุณควรเตรียมตัวให้พร้อมกับการทำงาน 12 ชั่วโมงต่อวัน ไม่เช่นนั้นคุณจะมาทำงานที่ Alibaba ทำไม? เราไม่ต้องการคนที่ทำงานอย่างสบาย ๆ 8 ชั่วโมง"  

คำกล่าวนี้ทำให้เกิดกระแสไม่พอใจไปทั่วจีน เพราะสะท้อนให้เห็นว่าผู้บริหารอย่างหม่าสนับสนุนการขูดรีดแรงงาน ถึงขนาดที่หนังสือพิมพ์พีเพิลส์ เดลี ของรัฐบาลจีน เขียนบทบรรณาธิการโจมตีว่า เป็นท่าทีที่เย่อหยิ่งแบบผู้บริหารธุรกิจ และการทำงาน 12 ชั่วโมง 6 วันต่อสัปดาห์ไม่ยุติธรรมต่อแรงงาน และไม่อาจทำได้จริง

ขณะที่ชาวเน็ตประสานเสียงคัดค้านคำแนะนำของหม่า เช่น บางรายชี้ว่าอัตราการเกิดต่ำในจีนเป็นผลมาจากการบังคับให้คนวัยทำงานต้องทำงานกันแบบหามรุ่งหามค่ำ 

ในตอนแรก หม่า ตอบข้อวิจารณ์โดยกล่าวว่า การทำงานควรถือเป็นความสุขอย่างหนึ่ง เพราะการทำงานยังหมายถึงเวลาสำหรับการศึกษาหาความรู้ การทบทวนตนเอง และการพัฒนาตนเองด้วย

ในเวลาต่อมาหลังจากถูกถล่มอย่างหนัก แจ็ค หม่าก็เปลี่ยนท่าทีโดยบอกว่า บริษัทที่บังคับให้พนักงานทำงานล่วงเวลา หรือโอที เป็นการกระทำที่โง่เขลา และกลับลำหันมาโจมตีสูตรเวลาทำงาน 996 ว่าเป็นการกระทำที่ไร้มนุษยธรรม และไม่มีความยั่งยืน

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนท่าทีของแจ็ค หม่าหลังถูกโจมตี ไม่อาจเปลี่ยนข้อเท็จจริงได้ว่า บริษัทสายเทคโนโลยีชั้นนำของจีน เช่น Baidu, Alibaba และ Tencent มักเรียกร้องให้พนักงานทำงานวันละ 12 ชั่วโมง เพื่อแสดงความมุ่งมั่นในหน้าที่การงานให้บริษัทได้เห็น โดยมีผู้ชี้ว่าบริษัทสายเทคโนโลยีต้องทำงานแข่งกับเวลา แต่ปัจจุบันพนักงานหนุ่มสาวเริ่มทนไม่ไหว และปรารถนาที่จะสร้างสมดุลระหว่างการทำงานและการใช้ชีวิตประจำวันกันมากขึ้น หรือ Work-life balance แทนที่จะอุทิศตัวเพื่อบริษัท แล้วแลกกับคุณภาพชีวิตที่ย่ำแย่ลง