posttoday

ผิวขาวกว่าก็ตายได้ เกิดอะไรขึ้นที่รวันดาเมื่อ 25 ปีก่อน?

18 เมษายน 2562

คนต่างเผ่า, นักการเมืองสายกลาง, และเด็กทารกของฝ่ายศัตรูต้องตายสถานเดียว


ปีนี้เป็นวาระครบรอบ 25 ปีของเหตุการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่ระวันดา โดยทั้งประเทศได้เริ่มงานไว้อาลัยเป็นเวลา 100 วัน เมื่อวันที่ 7 เมษายนที่ผ่านมา

แต่ดวงวิญญาณของผู้เสียชีวิตยังไม่ได้ความยุติธรรม เพราะระหว่างที่ประเทศกำลังอยู่ในช่วงไว้อาลัย 100 วัน หนึ่งในผู้ที่มีส่วนกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ได้ด่วนเสียชีวิตไปก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการในชั้นศาลเมื่อวันที่ 16 เมษายน นั่นคือ อิกนาซ มูราวานชายากา อดีตผู้นำกองกำลังประชาธิปไตยเพื่อการปลดปล่อยประเทศรวันดา หรือ FDLR ซึ่งเป็นกองกำลังผสมของกลุ่มที่ร่วมในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา และยังไปก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติในคองโก ข่าวการเสียชีวิตของ มูราวานชายากา ซึ่งเพิ่งได้รับการเปิดเผยเมื่อวันที่ 18 เมษายน

การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์รวันดา สาเหตุเกิดจากความขัดแย้งระหว่างชนเผ่าฮูตูและชนเผ่าทุตซี โดยในช่วงที่เบลเยี่ยมปกครองระวันดา การแบ่งแยกยิ่งชัดเจนขึ้นโดยเจ้าอาณานิคมระบุว่า ชาวทุตซีผิวขาวกว่า มีลักษณะเหมือนชาวยุโรปมากกว่า คือจมูกโด่งและยาว และมีสถานะทางสังคมสูงกว่า เช่นมีวัวมากวก่า 10 ตัว นอกจากนี้รัฐบาลอาณานิคมยังสนับสนุนชนเผ่าทุตซี เพราะเป็นชนชั้นปกครองเดิม ขณะที่ชนเผ่าฮูตูที่เป็นคนส่วนใหญ่ถูกกันออกจากไปจากการปกครองประเทศ

ผิวขาวกว่าก็ตายได้ เกิดอะไรขึ้นที่รวันดาเมื่อ 25 ปีก่อน? เจ้าหน้าที่ค้นหาร่างผู้เสียชีวิตจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา ที่บ้านหลังหนึ่งในกรุงคิกา เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2019 ลี Photo by Yasuyoshi CHIBA / AFP

ในปี 1933 รัฐบาลอาณานิคมเบลเยี่ยมได้ออกบัตรประจำตัวประชาชนที่ระบุเชื้อชาติชัดเจน ซึ่งจะเป็นสาเหตุให้เกิดความขัดแย้งทางเชื้อชาติ และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ โดยมีบัตรประชาชนเป็นเครื่องมือช่วยฝ่ายล่าสังหารในการแยกแยะว่าใครคือชนเผ่าใด

ต่อมาเมื่อรวันดาได้เอกราช ชาวฮูตูจึงโค่นล้มชนชั้นปกครองเผ่าทุตซี และขับไล่ไปจากประเทศ หรือกดขี่ผู้ที่ยังอยู่ในประเทศ สถานการณ์มาถึงจุดแตกหักเมื่อ ชูเวนาล ฮับยาริมานา ประธานาธิบดีรวันดา ซึ่งเป็นชนเผ่าฮูตู ถูกลอบสังหาร ทำให้มีการประโคมข่าวว่า พวกทุตซีเป็นคนสังหารฮับยาริมานา จากนั้นการไล่ล่าฆ่าชาวทุตซีและชาวฮูตูที่ต่อต้านรัฐบาลก็ติดตามมาโดยเริ่มใต้นขึ้นเมื่อวันที่ 7 เมษายน 1994

ต่อไปนี้เป็นการย้อนรอยเหตุสังหารหมู่ที่น่าสะพรึงที่สุดในประวัติศาสตร์ร่วมสมัยของเรา

ผิวขาวกว่าก็ตายได้ เกิดอะไรขึ้นที่รวันดาเมื่อ 25 ปีก่อน? เจ้าหน้าที่เรียงกระดูจากร่างผู้เสียชีวิตจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา ที่บ้านหลังหนึ่งในกรุงคิกา เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2019 Photo by Yasuyoshi CHIBA / AFP

6 เมษายน

ชูเวนาล ฮับยาริมานา ประธานาธิบดีรวันดา ซึ่งเป็นชนเผ่าฮูตู ถูกลอบสังหาร ระหว่างเดินทางโดยเครื่องบินโดยเครื่องบินของเขาถูกอาร์พีจียิงเข้าใส่ ในทันทีที่ฮับยาริมานาเสียชีวิต กลุ่มหัวรุนแรงชนเผ่าฮูตูก็เริ่มการสังหารชนเผ่าทุตซี (ส่วนผู้ที่สังหาร ฮับยาริมานา ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าใคร จากการสอบสวนโดยผู้พิพพากษาชาวฝรั่งเศสระบุว่าเป็นฝีมือพวกทุตซี แต่รัฐบาลรวันดาระบุว่าเป็นฝีมือพวกฮูตู)

7 เมษายน

กลุ่มหัวรุนแรงเผ่าฮูตู คือกองกำลังติดอาวุธรวันดา (FAR) และขบวนการพันธมิตรคือ Interahamwe และ Hutu Power ตั้งด่านตามท้องถนน เริ่มการไล่ล่าพวกทุตซีและฮูตูสายกลาง โดยผู้บัญชาการกองกำลังสั่งว่า "ห้ามรอดแม้แต่คนเดียว" รวมถึงเด็กทารกก็ไม่เว้น จากนั้นทำการไล่ล่าแบบละเอียดยิบตามบ้าน โดยตรวจสอบบัตรประจำตัวประชาชน หรือใช้วิธีดูจากลักษณะสีผิวที่คล้ำน้อยกว่า ใครที่ถูกตรวจพบว่าเป็นชนเผ่าทุตซีจะถูกฆ่าทิ้งทันที ไม่เว้นแม้แต่นายกรัฐมนตรี อากาเธ อูวิลินกิยิมานา ในฐานะรักษาการผู้นำประเทศถูกสังหาร พร้อมกับชาวรวันดาอีกหลายพันคน ถึงตอนเที่ยงวันที่ 7 เมษายน ผู้นำทางการเมืองสายกลางของรวันดาเสียชีวิต หรือต้องซ่อนตัวจนหมด

ผิวขาวกว่าก็ตายได้ เกิดอะไรขึ้นที่รวันดาเมื่อ 25 ปีก่อน? กระดูกจากร่างผู้เสียชีวิตจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา พบที่บ้านหลังหนึ่งในกรุงคิกา เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2019 Photo by Yasuyoshi CHIBA / AFP

8 เมษายน

แนวร่วมรักชาติรวันดา (RPF) นำโดย พอล คากาเม ชาวเผ่าทุตซี และว่าที่ผู้นำรวันดาในอนาคต เริ่มการโจมตีครั้งใหญ่ เพื่อยุติการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และช่วยเหลือทหารที่ติดอยู่ในกรุงคิกาลี แม้จะมีจำนวนกองกำลังน้อยกว่าฝ่ายตรงข้ามก็ตาม กองกำลังนี้เน้นโจมตีที่ทำการรัฐบาล แต่หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าที่จะกลายเป็นสงครามเต็มรูปแบบ

9 เมษายน

การสังหารหมู่ที่กิคอนโด ชาวทุตซีหลายร้อยคนถูกฆ่าตายในคริสตจักรคาทอลิกพอลลอตทีน เนื่องจากมือสังหารเน้นฆ่าชาวทุตซีเท่านั้น จึงถือว่าการสังหารหมู่ที่กิคอนโด เป็นจุดเริ่มต้นของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ทั้งนี้ คำสั่งฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มาจากส่วนกลางที่เมืองหลวง เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นเมื่อรับคำสั่งแล้วจะระดมพลชาวฮูตูออกไล่ล่าชาวทุตซีเพื่อฆ่าทิ้ง

15-16 เมษายน

การสังหารหมู่ที่คริสตจักรโรมันคาทอลิกเอ็นยารูบูเย มีชาวทุตซีเสียชีวิตหลายพันคน โดยเป้าหมายถูกโจมตีจากระเบิดและปืนก่อน จากนั้นถูกรุมฆ่าด้วยมีดและไม้กระบอง

ผิวขาวกว่าก็ตายได้ เกิดอะไรขึ้นที่รวันดาเมื่อ 25 ปีก่อน? หลุมฝังศพผู้เสียชีวิตจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา ที่บ้านหลังหนึ่งในกรุงคิกา เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2019 Photo by Yasuyoshi CHIBA / AFP

18 เมษายน

การสังหารหมู่ที่คิบูเย มีชาวทุตซีประมาณ 12,000 ถูกฆ่าตายหลังจากหนีตายเข้าไปปักหลักที่สนามกีฬากัตวาโร อีก 50,000 คนถูกฆ่าตายบนเนินเขาของเมืองบิเซเซโร และยังมีที่ถูกถูกฆ่าตายในโรงพยาบาลและโบสถ์ของเมืองอีกเป็นจำนวนมากกว่านั้น

21 เมษายน

หลังจากที่มีการจับตัวและประหารทหารเบลเยี่ยม 10 ที่คอยคุ้มกันนายกรัฐมนตรีอากาเธ อูวิลินกิยิมานา สหประชาชาติ ก็ลดกำลังทหารรักษาสันติภาพลงจาก 2,500 เหลือ 250 นาย ซึ่งสหประชาชาติถูกวิจารณ์อย่างหนักเรื่องการรับมือกับโศกนาฏกรรมครั้งนี้อย่างล่าช้าและไร้ประสิทธิภาพ

28 เมษายน - 30 เมษายน

ชาวทุตซี 250,000 คน หนีเข้าไปยังแทนซาเนีย ชาวฮูตูจำนวนมหาศาล หนีตายเช่นกันจากการรุกคืบของ RPF ทำให้เกิดวิกฤติผู้อพยพ เนื่องจากมีคนหลายแสนทะลักเข้ามาในบุรุนดี, แทนซาเนียและสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ในเวลานี้ เริ่มมีการรายงานข่าวการสังหารหมู่ในระวันดาไปทั่วโลก แต่สหประชาชาติยังมัวแต่ถกเถียงกันเรื่องวิกฤตในรวันดาหลีก โดยเลี่ยงการใช้คำว่า 'การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์' เพื่อระมัดระวังมิให้องค์กรต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกรณีนี้อย่างเต็มที่

ผิวขาวกว่าก็ตายได้ เกิดอะไรขึ้นที่รวันดาเมื่อ 25 ปีก่อน? กระดูกจากศพจำนวนมากมายที่พบในบ้านหลังเดียว เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2019 Photo by Yasuyoshi CHIBA / AFP

17 พฤษภาคม

สหประชาชาติตกลงที่จะส่งตำรวจ 6,800 นาย เพื่อปกป้องพลเรือน ในขณะที่การสังหารชนเผ่าทุตซียังดำเนินต่อไป

23 พฤษภาคม

กองกำลัง RPF ของชนเผ่าทุตซี บุกยึดทำเนียบประธานาธิบดี ในกรุงคิกาลี

22 มิถุนายน

ฝรั่งเศสรับหน้าที่เป็นผู้นำกองกำลังของสหประชาชาติ ในปฏิบัติการชื่อว่า Opération Turquoise เพื่อจัดตั้งพื้นที่ปลอดภัยทางตะวันตกเฉียงใต้ของรวันดา แต่ไม่ได้ควบคุมตัวเจ้าหน้าที่รัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ทำให้เกิดเสียงครหามาก รัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศสชี้แจงว่าไม่ได้รับมอบหมายให้ทำการจับกุมผู้ใด ขณะเดียวกันกองกำลังตำรวจของสหประชาชาติก็ยังมาไม่ถึง

ผิวขาวกว่าก็ตายได้ เกิดอะไรขึ้นที่รวันดาเมื่อ 25 ปีก่อน? อนุสรณ์สถานผู้เสียชีวิตจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่เมืองเอนยันซา Photo by Yasuyoshi CHIBA / AFP

13 กรกฏาคม

คราวนี้ ชาวฮูตูเป็นฝ่ายอพยพหนีถึง 1 ล้านคน เช่นเดียวกับรัฐบาลชนเผ่าฮูตูที่หลบหนีไปยังประเทศซาอีร์ การระบาดของอหิวาตกโรคในซาอีร์ทำให้ผู้ลี้ภัยชาวฮูตูหลายพันต้องล้มตาย และการสังหารหมู่ยังคงมีอยู่ประปราย แต่ยุติลงเด็ดขาดในช่วงกลางเดือน เมื่อ RPF ควบคุมทั้งประเทศเอาไว้ได้

สิงหาคม

บรรลุข้อตกลงเพื่อจัดตั้งศาลอาชญากรรมระหว่างประเทศแห่งระวันดา

การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ระวันดากินเวลาเพียง 100 วัน แต่มีผู้เสียชีวิตถึง 500,000 - 1,000,000 คน คร่าชีวิตชาวทุตซีไป 70% นับเป็นเรื่องที่เหลือเชื่ออย่างยิ่ง ในยุคสมัยของเราที่มนุษย์มีความก้าวหน้าทางเทคนโลยี มีความตระหนักในสิทธิมนุษยชน และมีองค์การเพื่อไกล่เกลี่ยความขัดแย้ง แต่ยังเกิดเรื่องป่าเถื่อนแบบนี้ขึ้นมาได้

หลังจากเหตุการณ์นี้ รัฐบาลรวันดา พยายามยุติการระบุอัตลักษณ์เชื้อชาติ โดยให้ประชาชนระบุตัวตนว่าเป็นชาวระวันดาเท่านั้น ไม่มีฮูตู หรือทุตซี ซึ่งประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง