posttoday

นักวิทย์ฯสาวผู้อยู่เบื้องหลังจับภาพหลุมดำ

11 เมษายน 2562

เคที่ โบแมน เป็นผู้เขียนอัลกอริทึมที่ใช้ในการตรวจจับและแปลงสัญญาณโค้ดเป็นภาพประวัติศาสตร์ที่เราได้เห็นกันเมื่อวันที่ 10 เมษายน

เคที่ โบแมน เป็นผู้เขียนอัลกอริทึมที่ใช้ในการตรวจจับและแปลงสัญญาณโค้ดเป็นภาพประวัติศาสตร์ที่เราได้เห็นกันเมื่อวันที่ 10 เมษายน

ผู้ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จที่ทำให้ชาวโลกได้มองเห็นภาพของหลุมดำเป็นครั้งแรก คือนักวิทยาศาสตร์เจ้าของดีกรีจากสถาบัน MIT เคที่ โบแมน (Katie Bouman) ซึ่งเป็นผู้เขียนอัลกอริทึมที่ใช้ในการตรวจจับและแปลงสัญญาณโค้ดเป็นภาพประวัติศาสตร์ที่เราได้เห็นกันเมื่อวันที่ 10 เมษายน

สำนักข่าว CNN รายงานว่า โบแมน และทีมงานพัฒนาอัลกอริทึมนี้เมื่อ 3 ปีก่อน ในตอนนั้นเธอยังเป็นนักศึกษาด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์และปัญญาประดิษฐ์ที่สถาบัน MIT เธอได้สร้างโค้ด 3 โค้ดเพื่อนำข้อมูลมหาศาลที่ได้จากกล้องโทรทรรศน์วิทยุ Event Horizon มารวมเข้าด้วยกัน จากข้อมูลมหึมาที่ดูไม่ออกว่าเป็นอะไร จนกลายมาเป็นภาพอย่างที่เห็น

วิธีการก็คือถอดรหัสและเข้ารหัสหรือโค้ดที่ได้มาให้ถูกต้องกับความจริงที่สุด เพื่อให้ภาพที่ใกล้เคียงกับของจริงที่สุด โบแมน มีบทบาทสำคัญในการถอดรหัสแล้วสร้างภาพขึ้นมา

หลุมดำนี้ถูกถ่ายจากใจกลางกาแลคซีเมสไซเออร์ 87 (Messier 87) ภายในกระจุกกาแลคซี่ราศีกันย์ประมาณ 55 ล้านปีแสงจากโลกของเรา ภาพที่ได้มาจึงมีความคมชัดต่ำมากและดูไม่ออกว่าเป็นอะไร จึงต้องใช้กระบวนการคำนวณที่แม่นยำเพื่อสร้างภาพขึ้นมาใหม่ให้ชัดเจน

โบแมน กล่าวปาฐกถาในเวที TedTalk 2016 ว่า "หลุมดำแห่งนี้อยู่ไกลจากเรา ดังนั้นวงแหวนนี้จึงดูเล็กอย่างไม่น่าเชื่อ ขนาดเท่ากับผลส้มบนพื้นผิวดวงจันทร์ ทำให้การจับภาพของมันเป็นเรื่องยากมาก"

แน่นอนว่า โบแมน และทีมงานไม่ได้ทำงานเพียงลำพัง เพราะยังมีทีมอื่นที่คิดอัลกอริทึมด้วย แต่ผลงานของเธอเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เราเห็นภาพของหลุมดำเป็นชิ้นเป็นอัน

และโลกได้มีโอกาสรับรู้เรื่องนี้ หลังจากที่มีการแชร์ภาพของโบแมนทางเฟซบุ๊คเมื่อประมาณ 13 ชั่วโมงก่อน (หลังจากที่มีการเผยภาพหลุมดำ) โดยเธอบอกว่า "ฉันแทบไม่เชื่อสายตาตัวเองว่าภาพหลุมดำที่ฉันทำขึ้นเป็นครั้งแรกกำลังถูกสร้างขึ้นมา"

ขณะที่ทวิตเตอร์ของห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์และปัญญาประดิษฐ์ของ MIT (MIT Computer Science & Artificial Intelligence Laboratory) โพสต์ว่า "3 ปีที่แล้วนักเรียนระดับบัณฑิตศึกษาของ MIT เคที่ โบแมน เป็นผู้นำการสร้างอัลกอริทึมใหม่เพื่อสร้างภาพแรกของหลุมดำ"

 

โลกจึงได้รับรู้ว่าเบื้องหลังของภาพประวัติศาสตร์คือนักวิทยาศาสตร์สาวผู้นี้นี่เอง