posttoday

พม่าในมือคนหนุ่มสาว คลื่นลูกใหม่กับเสรีภาพที่แท้จริง

07 พฤศจิกายน 2553

แม้เส้นทางสู่ความเปลี่ยนแปลงจะยังอีกยาวไกล ท่ามกลางภัยคุกคามจากอำนาจเผด็จการ แต่สิ่งที่จะไม่มีเลือนหายไปจากจิตใจของคนหนุ่มสาวในพม่าคือ ความมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนแปลงไปสู่ชีวิตที่ดีกว่า....

แม้เส้นทางสู่ความเปลี่ยนแปลงจะยังอีกยาวไกล ท่ามกลางภัยคุกคามจากอำนาจเผด็จการ แต่สิ่งที่จะไม่มีเลือนหายไปจากจิตใจของคนหนุ่มสาวในพม่าคือ ความมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนแปลงไปสู่ชีวิตที่ดีกว่า....

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศ

เป็นเวลานานนับตั้งแต่ปี 2526 ที่พม่าไม่มีการสำรวจสำมะโนประชากร

ผลพวงของการละเลยความสำคัญของการสำรวจจำนวนประชากรที่แท้จริง ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อการจัดแจงบริการของรัฐให้กับประชาชนอย่างทั่วถึงเท่านั้น แต่ยังยิ่งเพิ่มความกังขาให้กับการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นในวันที่ 7 พ.ย. ว่า ผู้ที่มีสิทธิออกเสียงจะอาจเป็นเพียงผู้หย่อน “บัตรผี” โดยที่ผู้มีสิทธิออกเสียงที่แท้จริงยังตกสำรวจ และอาจตกสำรวจตลอดไป หากผลการเลือกตั้งที่ออกมายังได้พรรคการเมืองที่อยู่ภายใต้ท็อปบู๊ตทมิฬของพลพรรค SPDC หรือกองทัพพม่า ที่กุมชะตากรรมทุกด้านของชาวพม่าไว้ในกำมือ

พม่าในมือคนหนุ่มสาว คลื่นลูกใหม่กับเสรีภาพที่แท้จริง

แม้จะปราศจากการสำรวจสำมะโนประชากร แต่แหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือเปิดเผยว่า จากการประเมินคร่าวๆ พบว่า 35% ของประชากรทั้งหมดมีช่วงอายุระหว่าง 15-24 ปี และคนรุ่นหนุ่มสาวที่มีอายุระหว่าง 20-24 ปี ถือเป็นสัดส่วนประชากรที่มากที่สุด

คนรุ่นสาวคือความหวังของประเทศชาติฉันใด ในพม่าก็ย่อมไม่มีข้อยกเว้นเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอนาคตของพม่าหลังการเลือกตั้งใหญ่ที่ถูกตราหน้าจากทั้งภายในและภายนอกประเทศแล้วว่า “ไม่ชอบธรรม”

อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่รัฐบาลทหารมิได้จัดให้มีการศึกษาขั้นต่ำสำหรับเยาวชนอย่างทั่วถึง (งบประมาณด้านการศึกษาของพม่าต่ำเพียงไม่ถึง 1% ของ GDP) อีกทั้งยังปิดกั้นช่องทางเข้าถึงข้อมูลข่าวสารจากโลกภายนอก รวมถึงการกดขี่อย่างรุนแรงต่อผู้ที่มีความคิดเห็นไม่ลงรอยกับฝ่ายปกครอง จึงมีแนวโน้มสูงที่คนรุ่นหนุ่มสาวจะไม่สามารถลุกขึ้นมาเป็น “พลังเงียบ” ในการสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างถอนรากถอนโคนได้

แต่พลังและการสร้างสรรค์ของคนหนุ่มสาวในพม่าอีกจำนวนไม่น้อย อาจก่อเป็นเชื้อของความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ในอนาคต แม้จะเป็นเพลังเงียบเพียงหยิบมือและต้องเฝ้ารอคอยแรงหนุนจากคนรุ่นเดียวกันอย่างไม่มีกำหนดก็ตาม

พลังสร้างสรรค์ที่เป็นดังคู่ตรงข้ามของพลังกดขี่ของรัฐบาล มิใช่การจับอาวุธขึ้นสู้ หรือแสวงหาชัยชนะที่เหนือกว่าในทางการเมือง (ซึ่งเป็นสิ่งที่แทบเป็นไปไม่ได้) เป็นการแสดงออกผ่านดนตรีและศิลปะ การศึกษาและการตระหนักรู้ในความเป็นมนุษย์อิสระของหนุ่มสาวชาวพม่าหลายๆ กลุ่ม

คู่ตรงข้ามของรัฐบาลทหารพม่าเหล่านี้ เป็นขนวนการใต้ดินที่เต็มไปด้วยสีสันและความหวัง!

Generation Wave หรือ “ขบวนการคลื่นลูกใหม่” คือหนึ่งในขบวนการแถวหน้าของ “ขบถ” ที่ลุกขึ้นมาต่อต้านเผด็จการอย่างกล้าหาญ

หากใครที่มีโอกาสเดินทางไปพม่าและซอกแซกไปตามเมืองด้วยสายตาที่ช่างสังเกต จะสามารถพบเห็นผลงานต่อต้านเผด็จการของคนหนุ่มสาวกลุ่มนี้ได้ ไม่ว่าจะเป็นภาพกราฟฟิตีตามผนังอาคารที่ฉีดพ่นข้อความต่างๆ ที่สร้างความฉุนเฉียวให้กับรัฐบาลทหาร

ไม่ว่าจะเป็นข้อความ “ปลดปล่อยอองซานซูจี” หรือ “เปลี่ยนรัฐบาลใหม่” หรือกระทั่งโปสเตอร์ที่ประณามนายพลตานฉ่วย ผู้นำสูงสุดของพม่าว่าเป็นอาชญากร เช่น แผ่นใบปลิวที่เป็นผลงานของกลุ่มคลื่นลูกใหม่ที่สอดแทรกไปตามจุดต่างๆ ของพม่า ซึ่งระบุข้อความอย่างโจ่งแจ้งว่า

“เราขอประกาศอย่างอาจหาญว่า ตานฉ่วย ได้ก่ออาชญากรรม เขาคืออาชญากรที่ต้องรับผิดชอบต่อปัญหาเศรษฐกิจ สาธารณสุข และการศึกษาของประเทศเรา กลุ่มคลื่นลูกใหม่ขอประกาศจับ ตานฉ่วย”

สิ่งที่เหนือกว่าการโจมตีอย่างตรงไปตรงมาคือ การโจมตีเผด็จการและปลุกจิตสำนึกของคนรุ่นใหม่ผ่านทางบทเพลงและบทกวี

โดยเฉพาะอย่างยิ่งดนตรีฮิปฮอป ซึ่งกำลังเป็นที่นิยม (อย่างเงียบๆ) ในหมู่คนรุ่นใหม่ในพม่า

โบโบ วัย 22 ปี หนุ่มในสมาชิกกลุ่มคลื่นลูกใหม่ เปิดเผยกับหนังสือพิมพ์ ดิ ออบเซิร์ฟเวอร์ ว่า ได้รวมกลุ่มคนรุ่นเดียวกันที่มีทัศนะคัดค้านเผด็จการ โดยจัดการประชุมลับที่ชายแดนพม่า ซึ่งเยาวชนพม่าส่วนใหญ่ไม่ทราบว่าตนเองมีสิทธิเสรีภาพ ไม่รู้ว่าประชาธิปไตยหรือสิทธิมนุษยชนคืออะไร กลุ่มคลื่นลูกใหม่จึงให้ความเข้าใจกับเพื่อนร่วมรุ่นเพื่อผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนในประเทศ

“เรายังใช้เพลงฮิปฮอปกับบทกวีเพื่อกระตุ้นให้เกิดความตระหนักในประเทศ นักเรียนมัธยมกับนักศึกษามหาวิทยาลัยมักสนใจเพลงแร็พกับฮิปฮอป เราจึงเขียนเพลงที่ประณามรัฐบาลเผด็จการเพื่อให้ความรู้ความเข้าใจถึงสิ่งที่เกิดขึ้น เราอัดเสียงในสตูดิโอที่เมืองไทย ส่วนซีดีวางขายในตลาดมืดของพม่า เงินที่ได้เรานำมาจัดทำซีดีแผ่นต่อๆ ไป” โบโบ กล่าว

ศิลปินแนวทัศนศิลป์อย่าง มาเอ จิตรกรสาววัย 32 ปี ยังใช้การจัดแสดงงานศิลปะเพื่อประท้วงรัฐบาลพม่าอย่างตรงไปตรงมา แต่โดยที่เจ้าหน้าที่เซ็นเซอร์มักไม่เข้าใจสิ่งที่เธอสื่อออกมาผ่านงานศิลปะ (แม้จะเห็นได้ชัดว่าเป็นการเหน็บแนมรัฐบาลอย่างตรงไปตรงมาก็ตาม) ทำให้เธอยังสามารถแสดงงานเพื่อกระตุ้นสังคมให้สนใจ

“พวกเขา (เจ้าหน้าที่) จะมองแล้วมองอีก พวกเขาไม่รู้เรื่องอะไรเลย เราจึงสวมรอยเล่นตามน้ำบอกว่า แน่นอน ท่านเข้าใจดีว่ามันหมายถึงอะไร ท่านเจ้าหน้าที่ SPDC งานชิ้นนี้เกี่ยวกับความรักและความรู้สึกดีๆ ต่อเมียนมาร์ ประเทศของเรา คนพวกนั้นก็จะพูดว่า ใช่แน่นอน ถูกต้องที่สุด” หนึ่งในเพื่อนร่วมงานของศิลปินสาวกล่าวกับนิตยสาร Time

ไม่เฉพาะแค่กลุ่มศิลปินมืออาชีพและสมัครเล่นเท่านั้นที่อาศัยช่องทางต่างๆ ผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริงขึ้นในบ้านเกิดเมืองนอน แต่ยังมีคนรุ่นใหม่ในพม่าที่เป็นเพียงคนเดินดินธรรมดาๆ ทั้งยังขาดโอกาสทางการศึกษา แต่เมื่อมีโอกาสได้รับรู้ถึงสิทธิที่แท้จริงของตน จึงได้ลุกขึ้นมาร่วมเป็นหนึ่งในกำลังใหม่

พม่าในมือคนหนุ่มสาว คลื่นลูกใหม่กับเสรีภาพที่แท้จริง

เช่น หนุ่มชาวเผ่านาคาวัย 24 ปีที่ชื่อ จอห์น ที่พบอิสรภาพในการแสดงออกครั้งแรกจากการร้องเพลงคาราโอเกะ หลังจากนั้นบทเพลงได้ชักพาให้เขาข้ามจากพรมแดนพม่า เพื่อรับการศึกษาเป็นครั้งแรกที่รัฐนาคาแลนด์ ทางภาคตะวันออกของอินเดียประชิดกับรัฐนาคาทางฟากตะวันตกของพม่า

หลังจากนั้นจอห์นตัดสินใจที่จะรับหน้าที่เป็นพนักงานขององค์กรเอกชน Human Rights Document Unit เพื่อบันทึกการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยรัฐบาลเผด็จการ และรู้สึกว่าตนกำลังทำสิ่งที่สร้างสรรค์อย่างยิ่ง

“เราหวังว่าสถานการณ์จะเปลี่ยนแปลงไป ผมหวังว่าลูกหลานของผมจะไม่ต้องตะเกียกตะกายเพื่อรับการศึกษา อย่างที่เรารู้กัน การศึกษาคือกระดูกสันหลังของสังคมที่มีคุณภาพ และในฐานะคนรุ่นใหม่ในวันนี้ เราต้องอุทิศตัวเองเพื่อสิ่งนั้น” จอห์น กล่าวกับสำนักข่าว Democreatic Voice of Burma

แต่นักเคลื่อนไหวเพื่ออนาคตที่ดีกว่ามักต้องเสี่ยงชีวิตอยู่เสมอในประเทศที่ถูกชี้นำด้วยกระบอกปืน คลื่นลูกใหม่หลายคนต้องกลายเป็นผู้อพยพและใช้ประเทศเพื่อนบ้านเป็นฐานปฏิบัติการ ขณะที่อีกหลายคนยังต่อสู้อย่างลับๆ ร่วมกับขบวนการใต้ดินในพม่า

แม้เส้นทางสู่ความเปลี่ยนแปลงจะยังอีกยาวไกล ท่ามกลางภัยคุกคามจากอำนาจเผด็จการ แต่สิ่งที่จะไม่มีเลือนหายไปจากจิตใจของคนหนุ่มสาวในพม่าคือ ความมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนแปลงไปสู่ชีวิตที่ดีกว่า

สักวันพม่าจะรู้จักการเลือกตั้งและประชาธิปไตยที่แท้จริง