posttoday

ญี่ปุ่น "รวยก่อนแก่" ใช้เซ็นเซอร์แก้สังคมสูงวัย เมืองไทย "แก่ก่อนรวย" ยังได้แต่ฝัน

11 เมษายน 2562

ญี่ปุ่นกำลังเร่งพัฒนาเทคโลโนยีตัวรับรู้ หรือเซ็นเซอร์ เพื่อรับกับสังคมผู้สูงวัย ซึ่งเมืองไทยกำลังเผชิญกับสถานการณ์เดียวกันแต่ศักยภาพในการรับมือต่ำกว่าอย่างน่าตกใจ

ญี่ปุ่นกำลังเร่งพัฒนาเทคโลโนยีตัวรับรู้ หรือเซ็นเซอร์ เพื่อรับกับสังคมผู้สูงวัย ซึ่งเมืองไทยกำลังเผชิญกับสถานการณ์เดียวกันแต่ศักยภาพในการรับมือต่ำกว่าอย่างน่าตกใจ

แม้ว่าในทางเศรษฐกิจ สถานะของญี่ปุ่นกับไทยจะต่างกันลิบลับ แต่ในด้านสังคม มีสิ่งหนึ่งที่ทั้ง 2 ประเทศกำลังตกอยู่ในสถานการณ์คล้ายคลึงกัน นั่นคือมีอัตราการเกิดต่ำ คนสูงวัยมีจำนวนมาก คนทำงานมีจำนวนน้อย พูดสั้นๆ ก็คือ ไทยกับญี่ปุ่นกำลังเป็นสังคมของคนแก่

แม้เรื่องนี้จะเหมือนกัน แต่ญี่ปุ่นต่างจากไทยอีกก็ตรงที่พวกเขาเตรียมรับกับวิกฤตการณ์นี้ด้วยเทคโนโลยี ขณะที่ประเทศไทยยังงมทางกันไม่ถูกว่าจะแก้ปัญหากันไปทางใด

วี่แววของการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีเพื่อรับมือกับสังคมผู้สูงวัยเริ่มต้นชัดมานานหลายปีแล้ว ย้อนกลับไปดูที่งาน CEATEC ซึ่งมีความอลังการไม่แพ้งานแสดงสินค้าเทคโนโลยีและอิเล็กทรอนิกส์ หรือ CES ของทางฝั่งสหรัฐเลยทีเดียว โดยครั้งล่าสุด เมื่อเดือนตุลาคมปี 2018 มหกรรมเทคโนโลยีดังกล่าวจัดขึ้นศูนย์ประชุมนานาชาติมาคุฮาริเมสเซใน จ.ชิบะ 

ปรากฎว่าจุดสนใจของงานได้เปลี่ยนไปจากเดิมโดยสิ้นเชิง เช่น จอทีวีขนาดใหญ่และระบบสร้างความบันเทิงต่างๆ ที่เคยเป็นที่สนใจคลั่งไคล้ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ถูกแทนที่ด้วยอุปกรณ์ชิ้นเล็กๆ อย่างเซ็นเซอร์ที่สามารถตรวจจับความเปลี่ยนแปลงในร่างกายมนุษย์ได้อย่างแม่นยำ ไม่ว่าจะเป็นระดับความเครียด อารมณ์ อิริยาบถ เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ญี่ปุ่น "รวยก่อนแก่" ใช้เซ็นเซอร์แก้สังคมสูงวัย เมืองไทย "แก่ก่อนรวย" ยังได้แต่ฝัน Photo by Karyn NISHIMURA-POUPEE / AFP

เริ่มกันที่ยักษ์ใหญ่ด้านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อย่าง พานาโซนิค (Pana sonic) ที่นำเสนอเก้าอี้เท้าแขนที่สามารถตรวจวัดได้ว่ามือผู้ใช้งานมีเหงื่อออกมากน้อยเพียงใด รวมทั้งติดกล้องตรวจจับการแสดงสีหน้าเพื่อประเมินระดับความเครียด ทางบริษัทเคลมว่าเก้าอี้ตัวนี้เหมาะกับกัปตันหรือคนที่ต้องขับรถบรรทุกในระยะทางไกลๆ หรืออาจจะนำไปใช้ในที่ทำงานร่วมกับการปรับสภาพแวดล้อมภายในให้เหมาะสม เพื่อลดความตึงเครียดระหว่างการทำงาน

ด้านบริษัทผลิตชิ้นส่วน มุระตะ แมนูแฟคเจอริ่ง (Murata Manufacturing) ได้บุกเบิกอุปกรณ์เล็กๆ สำหรับวัดระดับชีพจรและระบบประสาทที่ใช้งานง่ายเพียงหนีบไว้ระหว่างนิ้วโป้งกับนิ้วชี้ 1 นาที เครื่องก็จะประมวลผลระดับความเครียดออกมา หรืออย่างบริษัท ฟูจิตสึ (Fujitsu) ที่สาธิตการใช้ระบบเซ็นเซอร์วิเคราะห์ 3 มิติเพื่อใช้ปรับปรุงผลงานของนักยิมนาสติก

นอกจากนี้ ยังนำเซ็นเซอร์มาใช้กับการดูแลสุขภาพโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุของญี่ปุ่นที่นับวันจะเพิ่มขึ้น ลิกซิล (Lixil) บริษัทผลิตเครื่องใช้ภายในบ้าน พัฒนาเซ็นเซอร์ติดอ่างอาบน้ำสำหรับตรวจวัดอุณหภูมิน้ำและสัญญาณชีพจร เช่น ชีพจร อุณหภูมิร่างกาย หวังลดอัตราการเสียชีวิตกะทันหันระหว่างอาบน้ำ ซึ่งมักเกิดกับผู้สูงอายุวัย 65 ปีขึ้นไป

ญี่ปุ่น "รวยก่อนแก่" ใช้เซ็นเซอร์แก้สังคมสูงวัย เมืองไทย "แก่ก่อนรวย" ยังได้แต่ฝัน Photo by Karyn NISHIMURA-POUPEE / AFP

ขณะที่อีกช่วงชีวิตหนึ่ง คือ วัยเด็ก เซ็นเซอร์ก็เข้าไปเกี่ยวข้องเช่นกัน เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลน เจ้าหน้าที่ในโรงเรียนอนุบาลและสถานรับเลี้ยงเด็ก องค์กรพัฒนาพลังงานใหม่และเทคโนโลยีอุตสาหกรรมได้พัฒนาฟิล์มบางเฉียบที่ไวต่อการกระตุ้นที่เหมาะกับการนำมาใช้งานที่เกี่ยวข้องกับการดูแลเด็ก อาทิ หากนำไปติดที่เตียงเด็ก ฟิล์มดังกล่าวจะส่งข้อมูลไปยังคอมพิวเตอร์ว่าตอนนี้เด็กนอนคว่ำอยู่หรือเปล่า อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นหรือไม่ และจะส่งสัญญาณเตือนไปยังพ่อแม่หากมีความผิดปกติ

แผ่นฟิล์มเดียวกันนี้ยังสามารถบอกได้ว่าอาหารถูกรับประทานไปปริมาณเท่าใดและภายในเวลาเท่าไร ด้วยการตรวจวัดน้ำหนักของจานชามที่อยู่บนโต๊ะ ซึ่งเหมาะกับโรงพยาบาลหรือบ้านพักผู้สูงอายุ

นอกเหนือจากเทคโนโลยีสำหรับมนุษย์ งานแสดงสินค้า CEATEC ยังนำเสนอผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงอย่างถาดอึ ฉี่ ของน้องแมวที่ติดเซ็นเซอร์วัดความถี่และปริมาณฉี่ โดยจะส่งข้อมูลเหล่านี้ไปยังสมาร์ทโฟนของเจ้าของ 

ขณะที่ญี่ปุ่นกำลังปรับตัวรับกับความขาดแคลนแรงงานในหลายๆ ด้าน รวมถึงงานอภิบาลผู้สูงวัย ประเทศไทยซึ่งยังไม่ก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีมากนักจะเผชิญกับปัญหาอย่างแน่นอน  ธนาคารแห่งประเทศไทยเสนอรายงานเรื่อง "สังคมสูงวัยกับความท้าทายของตลาดแรงงานไทย" ระบุว่า ในภูมิภาคอาเซียนไทยมีสัดส่วนผู้สูงอายุสูงที่สุด ขณะที่แรงงานไทยมีแนวโน้มลดลงเร็วกว่าประเทศอื่นๆ ประกอบกับผู้สูงอายุของไทยที่ “เรียนสูง” มีเพียงร้อยละ 12   ซึ่งถือว่าน้อยกว่าประเทศอื่นค่อนข้างมาก อีกทั้งระดับรายได้ต่อหัวของไทยยังต่ำกว่าประเทศอื่นที่เข้าสู่สังคมผู้สูงวัยแล้ว  ทำให้แรงงานไทยมีแนวโน้ม “แก่ก่อนรวย” สูง และต้องพึ่งพาภาครัฐและครอบครัวมากขึ้น จึงทำให้เกิดคำถามว่า "ประเทศไทยพร้อมรับมือกับความท้าทายนี้มากน้อยเพียงใด"