posttoday

อิหร่าน ประเทศที่เป็นเกย์แล้วต้องตาย แต่ชายแปลงเพศเป็นหญิงได้

02 เมษายน 2562

อิหร่านผ่าตัดแปลงเพศเป็นอันดับสองของโลก รองจากไทยประเทศเดียวเท่านั้น

อิหร่านผ่าตัดแปลงเพศเป็นอันดับสองของโลก รองจากไทยประเทศเดียวเท่านั้น

*****

โดย...จารุณี นาคสกุล

ในอิหร่านการรักร่วมเพศถือเป็นความผิดทางอาญาที่มีโทษถึงชีวิตสำหรับผู้ชาย และเฆี่ยนตีสำหรับผู้หญิง แต่ในขณะเดียวกันอิหร่านกลับเป็นประเทศสาธารณรัฐอิสลามเพียงแห่งเดียวที่ยอมให้มีการผ่าตัดแปลงเพศโดยมีกฎหมายรองรับ อีกทั้งรัฐบาลยังออกเงินช่วยเหลือส่วนหนึ่งให้ด้วย

หากย้อนกลับไปช่วงก่อนการปฏิวัติอิหร่านในปี 1979 รัฐบาลอิหร่านไม่เคยมีนโยบายรองรับกลุ่มคนข้ามเพศเลย แต่หลังจากการปฏิวัติ รัฐบาลศาสนาที่เข้ามากลับระบุให้กลุ่มคนข้ามเพศอยู่ในกลุ่มเดียวกับกลุ่มคนรักร่วมเพศ เช่น เกย์  เลสเบี้ยน ซึ่งถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย หลายคนถูกจับฉีดฮอร์โมนเพศชายให้กลับมาเป็นชายชาตรีตามเพศที่ถือกำเนิด รวมทั้งถูกส่งสถานบำบัดจิตใจด้วย  

อิหร่าน ประเทศที่เป็นเกย์แล้วต้องตาย แต่ชายแปลงเพศเป็นหญิงได้ มัรยัม ฮาตูน มอลคารา ภาพ : www.makingqueerhistory.com

การถูกบีบบังคับจากสังคมทำให้ มัรยัม ฮาตูน มอลคารา หญิงข้ามเพศที่เป็นแกนนำคนแรกๆ ในการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิให้คนข้ามเพศ ระหว่างการปฏิวัติอิหร่านนั้นชะตากรรมของมอลคาราก็ไม่ต่างจากคนข้ามเพศคนอื่นๆ ทั้งถูกไล่ออกจากงานและบังคับฉีดฮอร์โมนเพศชาย  แต่ด้วยความที่มีเส้นสายรู้จักกับนักบวชระดับสูงของอิหร่านอยู่บ้าง เธอจึงได้รับการปล่อยตัวในภายหลังและได้เข้าพบกับคอเมนี ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน จนสามารถโน้มน้าวให้คอเมนีวินิจฉัยชี้ขาด (ฟัตวา) ให้เธอผ่าตัดแปลงเพศและฉีดฮอร์โมนเพศหญิงได้อย่างถูกต้องตามหลักศาสนาในปี 1987

อย่างไรก็ดี การผ่าตัดแปลงเพศถือเป็นเรื่องผิดกฎหมายของอิหร่าน  ทว่าก็ยังมีการผ่าตัดเกิดขึ้น เนื่องจากกฎหมายอิหร่านประกอบด้วยส่วนที่เป็นเรื่องทางโลกและเรื่องทางศาสนา แต่ในหลักกฎหมายทางโลกไม่มีการพูดถึงกลุ่มคนข้ามเพศ จึงต้องใช้กฎหมายอิสลาม (ชะรีอะฮ์) และฟัตวาบังคับไปพลางก่อนจนกว่าจะมีกฎหมายทางโลกพูดถึงกรณีนี้ ระหว่างนี้ฟัตวาของผู้นำสูงสุดเมื่อปี 1987จึงมีผลบังคับใช้ นับจากนั้นมากลุ่มคนข้ามเพศในอิหร่านก็สามารถใช้ชีวิตได้แบบผู้หญิงปกติจนกว่าจะมีเงินเพียงพอในการผ่าตัดแปลงเพศ

จากรายงานขององค์กร OutRight ที่เคลื่อนไหวเพื่อสิทธิของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ) ระบุว่าค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดแปลงเพศในอิหร่านอยู่ที่ราว 13,000 เหรียญสหรัฐหรือ 412,912 บาท และค่าบำบัดด้วยฮอร์โมนทดแทนอีกเดือนละ 20-40 เหรียญสหรัฐ หรือ 635-1270 บาท แต่ชาวอิหร่านมีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 400 เหรียญสหรัฐ หรือ 12,700 บาทเท่านั้น บางคนจึงต้องใช้เวลารวบรวมค่าใช้จ่ายอยู่นานกว่าจะได้เติมเต็มความต้องการของตัวเอง ด้วยเหตุนี้รัฐบาลอิหร่านจึงตั้งกองทุนขึ้นมาเพื่อสนับสนุนการผ่าตัดแปลงเพศราวครึ่งหนึ่งให้กับผู้ยื่นคำขอที่ผ่านการพิจารณา

หลังจากมีการรับรองการแปลงเพศจากผู้นำสูงสุดแล้ว กลุ่มประชากรข้ามเพศของอิหร่านก็เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยมีการยื่นคำร้องขอผ่าตัดแปลงเพศเพิ่มขึ้นจาก 170 คำขอในปี 2006 เป็น 319 คำขอในปี 2010 มอลคาราเองก็ตั้งกลุ่มสมาคมอิหร่านเพื่อสนับสนุนกลุ่มคนที่มีความผิดปกติในอัตลักษณ์ทางเพศ (Iranian Society For Supporting Individuals With Gender Identity Disorder) ขึ้นมาในปี 2007 ด้านสำนักข่าวบีบีซี รายงานว่าในปี 2008 อิหร่านมีการผ่าตัดแปลงเพศมากที่สุดเป็นอันดับสองของโลก รองจากไทยเพียงประเทศเดียว และอุตสาหกรรมนี้ยังดึงดูดลูกค้าจากทั่วตะวันออกกลางและยุโรปตะวันออกด้วย

อิหร่าน ประเทศที่เป็นเกย์แล้วต้องตาย แต่ชายแปลงเพศเป็นหญิงได้

นอกจากนี้ ยังมีภาพยนตร์อิหร่านอย่างน้อย 2 เรื่องที่ถ่ายทอดเรื่องราวของกลุ่มคนข้ามเพศ ได้แก่ Facing Mirrors ที่กลายเป็นจุดเปลี่ยนของสังคมอิหร่าน และเป็นโอกาสให้บรรดานักข่าวท้องถิ่นเอ่ยถึงประเด็นข้ามเพศต่อสาธารณชนครั้งใหญ่ และภาพยนตร์แนวสารคดีเรื่อง Be Like Others ที่ติดตามกระบวนการผ่าตัดแปลงเพศของคนไข้ในกรุงเตหะราน ทั้งๆ ที่รัฐบาลอิหร่านพยายามเซ็นเซอร์เนื้อหาที่เกี่ยวกับคนข้ามเพศมาตลอด

อย่างไรก็ดี แม้การแปลงเพศจะไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมายอีกต่อไป แต่การใช้ชีวิตของคนกลุ่มนี้ก็ยังต้องเผชิญแรงกดดันจากสังคมและครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นการถูกข่มเหงรังแก ครอบครัวและญาติพี่น้องไม่ยอมรับ ไม่ได้รับโอกาสในการทำงาน บางคนหากนายจ้างรู้ว่าเป็นคนข้ามเพศก็จะถูกไล่ออกทันที จนต้องหันไปประกอบอาชีพขายบริการด้วยความจำเป็น  รวมทั้งไม่ได้แต่งงาน เนื่องจากบางครอบครัวรับไม่ได้ที่จะเกี่ยวดองกับคนข้ามเพศ

อิหร่าน ประเทศที่เป็นเกย์แล้วต้องตาย แต่ชายแปลงเพศเป็นหญิงได้

นาฮาล สาวข้ามเพศที่ขอปกปิดนามสกุลด้วยเหตุผลทางครอบครัว เผยว่า หลังจากแปลงเพศแล้วก็ไม่ได้เจอญาติๆ อีกเลย แถมบางครั้งผู้คนบนท้องถนนก็ถามว่าเธอเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย  บางคนก็อ้อนวอนให้พระเจ้าช่วยรักษาให้เธอหายจากการเป็นสาวข้ามเพศ

ส่วนซาร่า เผยกับเว็บไซต์ Quartz ว่า ก่อนผ่าตัดแปลงเพศเธอต้องรับมือกับการล่วงละเมิดทางเพศจากทั้งเพื่อนร่วมชั้นและคนอื่นๆ ในสังคม จนต้องพยายามทำตัวให้เหมือนผู้ชายปกติ เมื่อถึงจุดที่ต้องตัดสินใจเดินหน้าผ่าตัดแปลงเพศหลังเรียนจบมหาวิทยาลัยก็ต้องต่อสู้กับความลังเลใจอีกครั้ง โดยใจหนึ่งก็อยากทำเพื่อจบปัญหาที่เคยเจอในอดีต อีกใจหนึ่งก็กลัวว่าจะต้องสูญเสียทุกอย่างทั้งครอบครัว หน้าที่การงาน แต่สุดท้ายเธอก็เลือกทำตามความใฝ่ฝัน

ซาร่าเตรียมตัวทั้งการตรวจสุขภาพจิต การยื่นเรื่องกับรัฐบาล และเตรียมค่าใช้จ่ายถึง 6 ปี ก่อนจะตัดสินใจบินมาผ่าตัดที่ประเทศไทย แม้ที่อิหร่านบ้านเกิดจะมีศัลยแพทย์มากมายก็ตาม เพราะเชื่อมั่นในฝีมือของหมอไทยมากกว่า