posttoday

วิกฤตในเรื่องGravityอาจกลายเป็นจริง หลังอินเดียสอยดาวเทียม

02 เมษายน 2562

นาซาเตือนชาวโลก อินเดียแผลงฤทธิ์ยิงดาวเทียม ทำให้เกิดซากอวกาศเป็นภัยต่อสถานีอวกาศนานาชาติ

การแสดงแสนยานุภาพของอินเดียด้วยการยิงดาวเทียม กำลังจะกลายเป็นภัยคุกคามใหญ่หลวงต่อปฏิบัติการในอวกาศของชาวโลก

หลังจากที่อินเดียทำการทดลองอาวุธต่อต้านดาวเทียม (ASAT) เมื่อวันที่ 27 มีนาคม ในปฏิบัติการศักติ (Mission Shakti) ด้วยการยิงอาวุธจากภาคพื้นดินเพื่อทำลายเป้าหมายในอวกาศ ความสำเร็จดังกล่าวทำให้นายกรัฐมนตรีนเรนทระ โมทีถึงกับประกาศว่าอินเดียเป็นหนึ่งในมหาอำนาจด้านอวกาศแล้ว

แต่คล้อยหลังจากการแผลงฤทธิ์ของอินเดียเพียง 1 วัน แพทริก แชนาแฮน รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของสหรัฐ เตือนว่าการยิงดาวเทียมจะก่อให้เกิดความโกลาหลขึ้นในอวกาศ และรัฐบาลสหรัฐกำลังศึกษาผลกระทบที่กำลังจะตามมา

และในที่สุดองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือนาซา ประกาศว่า การยิงดาวเทียมของอินเดียเป็นการกระทำที่เลวร้ายอย่างมาก และเป็นภัยคุกคามต่อสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) โดย จิม ไบเดนสไทน์ ผู้อำนวยการนาซาเผยว่า การยิงดาวเทียมทำให้เกิดเศษซากในอวกาศที่กระจัดกระจายในวงโคจรของโลกถึง 400 ชิ้น ขนาดประมาณ 10 เซนติเมตร และตอนนี้ตรวจพบเพียง 60 ชิ้นเท่านั้น

ทั้งนี้ อินเดียยิงดาวเทียมที่ความสูงจากพื้นโลก 300 กิโลเมตร ซึ่งอยู่ต่ำกว่าวงโคจรของ ISS แต่พบว่าเศษซากดาวเทียมจำนวน 24 ชิ้นกำลังพุ่งตัวขึ้นไปในวงโครจรเดียวกับ ISS และอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อยานและอันตรายต่อชีวิตของนักบินอวกาศ ความเสี่ยงในเวลานี้เพิ่มขึ้นถึง 44% ในเวลาเพียง 10 วัน

ภัยคุกคามของเศษซากอวกาศต่อปฏิบัติการเหนือพื้นโลก คล้ายคลึงกับเหตุการณ์ในภาพยนต์เรื่อง Gravity เมื่อปี 2013 ซึ่งคว้ารางวัลออสการ์ถึง 7 รางวัล ในเนื้อเรื่อง รัสเซียทำการยิงขีปนาวุธทำลายดาวเทียมที่หมดอายุ ก่อให้เกิดปฏิกิริยาลูกโซ่ โดยสร้างกลุ่มเศษซากอวกาศที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว พุ่งเข้าโจมตียานของตัวเอกในเรื่องคือยาน Explorer ขององค์การนาซาจนพังยับ รวมถึงยานอวกาศ ISS และยานอวกาศของจีน ทำให้ตัวเอกที่รับบทโดยแซนดร้า บุลล็อก ต้องพยายามเอาชีวิตรอดในอวกาศ เพื่อกลับมาสู่พื้นโลกให้ได้อีกครั้งด้วยความหวังที่ริบหรี่

แม้จะเป็นเป็นเพียงเรื่องสมมติ แต่สถานการณ์เหมือนในเรื่อง Gravity  เป็นสิ่งที่นาซากังวลมานาน และเรียกว่าปฏิกิริยาเคสส์เลอร์ (Kessler effect หรือ Kessler syndrome) เป็นทฤษฎีที่เสนอโดยนักวิทยาศาสตร์ของนาซา ชื่อโดนัลด์ เจ. เคสส์เลอร์ (Donald J. Kessler) ในปี 1978 เป็นสถานการณ์ที่ความหนาแน่นของวัตถุในวงโคจรโลกต่ำ (LEO) มีความสูงพอที่เกิดการชนกันระหว่างวัตถุ และการชนกันแต่ละครั้งจะสร้างเศษอวกาศที่เพิ่มโอกาสที่จะมีการชนกันต่อไปจนเกิดเศษเล็กเศษน้อยในวงโคจร กระทั่งไม่เหลือพื้นที่ปลอดภัยในอวกาศระดับชั้นวงโคจรให้ใช้ประโยชน์ได้อีก

เทคโนโลยีหนึ่งที่ถูกเสนอขึ้นมาเพื่อจัดการกับเศษเล็กเศษน้อยขนาดระหว่าง 1 ซม. ถึง 10 ซม. คือการใช้แสงเลเซอร์ยิงจากภาคพื้นดิน เพื่อผลักให้เศษซากหมุนเอียงจนตกลงสู่วงโคจรโลก และเสียดสีกับชั้นบรรยากาศจนสลายไปก่อนถึงพื้นโลก 

ก่อนหน้านี้ นาซาตรวจพบเศษซากในอวกาศที่มีขนาดใหญ่กว่า 10 เซนติเมตรจำนวน 23,000 ชิ้น ในจำนวนนี้มีอยู่ 3,000 ชิ้นที่เกิดจากการยิงดาวเทียมของจีนเมื่อปี 2007 ที่ระดับความสูง 582 กิโลเมตร

 

ภาพ Photo by ARUN SANKAR / AFP