posttoday

ไขปริศนาชื่อรัชศก "เรวะ" ยุคสมัยใหม่แห่งญี่ปุ่น

01 เมษายน 2562

ชื่อรัชศกใหม่นำมาจากหนังสือ "มันโยชู" รวมบทกวีโบราณของญี่ปุ่น ถือเป็นการเลือกใช้คำจากวรรคดีญี่ปุ่นเป็นคำแรก จากเดิมที่คัดเลือกคำมาจากวรรคดีจีนโบราณ

ชื่อรัชศกใหม่นำมาจากหนังสือ "มันโยชู" รวมบทกวีโบราณของญี่ปุ่น ถือเป็นการเลือกใช้คำจากวรรคดีญี่ปุ่นเป็นคำแรก จากเดิมที่คัดเลือกคำมาจากวรรคดีจีนโบราณ

**********************

โดย....กรกิจ ดิษฐาน

ตามธรรมเนียมของราชสำนักญี่ปุ่น รัชสมัยของสมเด็จจักรพรรดิพระองค์หนึ่งๆ จะต้องมีชื่อรัชศก หรือ เงนโก (Gengo) ประกอบรัชกาล โดยจะเริ่มนับเงนโกปีแรก ในปีที่สมเด็จจักรพรรดิพระองค์นั้นขึ้นครองสิริราชสมบัติ เช่น สมเด็จจักรพรรดิอะกิฮิโต ทรงมีชื่อปีรัชศกคือ เฮเซ (Heisei) เริ่มนับปีแรกวันที่ 8 มกราคม 1989 อันเป็นปีที่ทรงครองราชย์ และสิ้นสุดลงในวันที่ 30 เมษายน 2019

คล้อยหลังมาได้ 2 วัน คณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นได้ประกาศปีรัชศกใหม่ สำหรับว่าที่สมเด็จจักรพรรดิองค์ใหม่คือ มกุฏราชกุมารนารุฮิโตะ ถือเป็นครั้งแรกที่มีการประกาศชื่อรัชศกใหม่เหลื่อมกับการดำรงสถานะของสมเด็จจักรพรรดิองค์ปัจจุบัน เพราะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ยุคปัจจุบันของญี่ปุ่นที่มีการสละราชสมบัติ

ชื่อปีรัชศกใหม่คือ Reiwa สะกดว่า เร-อิ-วะ แต่พึงอ่านว่า เรวะ

คำอ่านของปีรัชศกนี้กำลังกลายเป็นวิวาทะในหมู่ชาวโลก รวมถึงในเมืองไทยว่าควรอ่านแบบใด ซึ่งผู้เขียนได้เสนอวิธีการอ่านได้ข้างต้นแล้ว คือ อ่านว่า เรวะ แต่สะกดว่า เร-อิ-วะ

อีกหนึ่งวิวาทะที่ร้อนแรงในเวลานี้คือ เรวะ มีความหมายว่าอะไร?

NHK NEWS รายงานว่าชื่อรัชศกใหม่นำมาจากหนังสือ "มันโยชู" (สรรนิพนธ์หมื่นใบ) ซึ่งเป็นหนังสือรวบรวมบทกวีโบราณของญี่ปุ่น ถือเป็นการเลือกใช้คำจากวรรคดีญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก จากเดิมที่คัดเลือกคำมาจากวรรณคดีจีนโบราณ

อย่างไรก็ตาม มันโยชู เป็นวรรณคดีโบราณของญี่ปุ่นที่หยิบยืมภาษาจีนมาใช้อย่างมาก ดังนั้นความหมายของคำว่า "เรวะ" จึงมีความซับซ้อน เพราะอาจตีความโดยอิงได้ทั้งความนัยแบบจีนและความนัยแบบญี่ปุ่น

คำว่า "เรวะ" ปรากฎในมันโยชู บทที่ 5 กลอนบทที่ 32 (の歌三十二首并せて序) ชื่อกลอนว่า "ดอกเหมย" (梅花) เนื้อความของบทกลอนมีดังนี้

于時、初春令月、氣淑風和、梅披鏡前之粉、蘭薫珮後之香。

แปลว่า

ณ ครา, ฤดูวสันต์คือการเริ่มต้นอันดีงาม, อากาศรื่นรมย์สายลมสงบ, ดอกเหมยส่องกระจกแต่งเนื้อแต่งตัว, กล้วยไม้กำจายกลิ่นหอมติดตาม

ที่มาของคำว่าเรวะในบทกวีนี้มาจากคำว่า เรเงตซึ (令月) ที่แปลว่าการเริ่มต้นอันดีงามและคำว่า คาเซะยะฮะระ (風和) แปลว่า สายลมสงบ

เนื่องจากภาษญี่ปุ่นยืมตัวอักษรจีนมาใช้ จึงมีการอ่านตัวอักษรจีนทั้งแบบจีนและแบบญี่ปุ่น คำว่า เรเงตซึ เป็นการอ่านแบบจีน ส่วน คาเซะยะฮะระ เป็นการอ่านแบบญี่ปุ่น ซึ่งคำว่า "คาเซะยะฮะระ" ถ้าอ่านแบบจีนคือ "ฟูวะ"

เมื่ออ่านแบบจีนและย่อคำลงมาเหลือ 2 เราจะได้คำว่า เร (เงตซึ) และคำว่า (ฟู) วะ 

ตามบริบทในบทกวี "เร-วะ" (令和) มีความหมายว่า "การเริ่มต้นความสงบสุขอันดีงาม" ซึ่งคล้องจองกับชื่อรัชสมัยเฮเซ ที่แปลว่า "บรรลุถึงสันติสุข"

นี่คือความหมายตามนัยวรรรณคดีญี่ปุ่น

อย่างไรก็ตาม อย่างที่กล่าวไปว่า เรวะ ยังมีความหมายในภาษาจีนด้วย โดยคำว่า เร (令) ในภาษาจีนอ่านว่า ลิ่ง แปลว่าโองการหรือคำสั่ง ส่วนคำว่า วะ (和) ในภาษาจีนอ่านว่า เหอ แปลว่าสันติภาพหรือความสามัคคี

เรวะ ในบริบทนี้จึงแปลว่า โอการให้บังเกิดความสงบกลมเกลียว

ทั้งนี้ ปีเฮเซได้สิ้นสุดลงแล้วเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2019 ส่วนปีเรวะ จะเริ่มอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 พฤษภาคม 2019

 

ภาพ Photo by Kazuhiro NOGI / AFP