posttoday

ก้าวใหม่ของ "หนังสือพิมพ์" จากกระดาษสู่แพลตฟอร์มดิจิทัล

31 มีนาคม 2562

ตลอดช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมาหนังสือพิมพ์ทั่วโลกต่างทยอยปิดตัวหรือเปลี่ยนโฉมไปสู่การเป็นสื่อออนไลน์อย่างเต็มตัว

ตลอดช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมาหนังสือพิมพ์ทั่วโลกต่างทยอยปิดตัวหรือเปลี่ยนโฉมไปสู่การเป็นสื่อออนไลน์อย่างเต็มตัว

*******************************

โดย....ทีมข่าวต่างประเทศโพสต์ทูเดย์

หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 31 มี.ค. 2562 อาจเป็นฉบับสุดท้ายของหนังสือพิมพ์ธุรกิจรายวันที่ให้ข้อมูลข่าวสารคนไทยมาตลอด 17 ปี แต่สำหรับวงการน้ำหมึกโลกนั้น นี่ย่อมไม่ใช่ “หนังสือพิมพ์ฉบับสุดท้าย” ที่ต้องปิดตัวลง หรือเปลี่ยนโฉมไปสู่การเป็นสื่อออนไลน์เต็มตัวในยุค Digital Disruption

เฉพาะในสหรัฐมีหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นไปจนถึงหนังสือพิมพ์ที่วางจำหน่ายทั่วประเทศ ปิดตัวลงไปแล้วมากกว่า 1,800 ฉบับ นับตั้งแต่ปี 2004 เป็นต้นมา ส่วนในสหราชอาณาจักร (UK) มีหนังสือพิมพ์ปิดตัวไป 198 ฉบับ ระหว่างปี 2005-2016

ตลอดช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์ทั่วโลกต่างก็พยายามปรับตัวสู่ยุคดิจิทัล จากกลยุทธ์เริ่มแรกของการเปิดเว็บไซต์ข่าวควบคู่กัน ไปจนถึงทำวิดีโอคอนเทนต์ การปรับไปสู่แพลตฟอร์มใหม่ๆ และการพัฒนาโมเดลธุรกิจขึ้นมาขยายช่องทางรายได้ แต่ก็ไม่ใช่ทุกรายที่จะอยู่รอดแม้ปรับเปลี่ยนโฉมไปแล้ว อย่างไรก็ตาม ในบรรดาการเปลี่ยนแปลงปรับตัวของสื่อทั่วโลก ก็ยังมี “ผู้รอดชีวิต” อีกจำนวนไม่น้อยที่สามารถเป็นตัวอย่างโมเดลความสำเร็จและพิสูจน์ได้ว่า “ข่าวไม่มีวันตาย”

ก้าวใหม่ของ "หนังสือพิมพ์" จากกระดาษสู่แพลตฟอร์มดิจิทัล

Subscription คือ ทางรอด

จากรายงาน Digital News Project 2018 ของสถาบันรอยเตอร์สเพื่อการศึกษาวารสารศาสตร์ พบว่า ในปี 2017 ที่ผ่านมา อุตสาหกรรมหนังสือพิมพ์ในสหรัฐประสบความสำเร็จในการเพิ่มยอดสมาชิกทางออนไลน์ (Subscription) ได้ 7% นำโดย The New York Times หนังสือพิมพ์เบอร์ 1 ในสหรัฐ โดยปัญหาการแพร่ระบาดของ “ข่าวปลอม” (Fake news) มีส่วนสำคัญที่ทำให้ผู้คนมองหาข่าวจริงที่เชื่อถือได้ท่ามกลางกระแสข่าวสารท่วมโลกอินเทอร์เน็ต และยอมจ่ายเงินค่าสมาชิกกันมากขึ้น

นิวยอร์ก ไทมส์ มียอดสมัครสมาชิกทางดิจิทัลเพิ่มขึ้นติดต่อกันในทุกไตรมาส จนเพิ่มจาก 1.8 ล้านคน ณ สิ้นปี 2016 ไปอยู่ที่มากกว่า 3.3 ล้านคน ณ สิ้นปี 2018 หรือเพิ่มขึ้น 27% จากปีก่อน แต่หากนับรวมยอดสมาชิกหนังสือพิมพ์ทั้งในรูปแบบดิจิทัลและรูปแบบสื่อสิ่งพิมพ์ จะทะลุไปถึง 4.3 ล้านคน ขณะที่รายได้จากส่วนดิจิทัลเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 709 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 2.25 หมื่นล้านบาท) และสะท้อนความสำเร็จในการเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจ จากการอิงรายได้จากยอดโฆษณาไปสู่รายได้จากยอดสมาชิก (Subscription-based model)

หากย้อนกลับไปยังสมัยดิจิทัลยุคเริ่มต้นเมื่อราว 20 ปีก่อน แนวคิดต่อข่าวสารในขณะนั้น คือ สิ่งเหล่านี้ควรเป็นของฟรีที่ไม่มีการจำกัดกั้นบนโลกอินเทอร์เน็ต แต่ก็เป็นที่พิสูจน์ในเวลาต่อมาว่า การจะได้ข่าวเจาะลึกและมีคุณภาพสูงนั้นล้วนมี “ต้นทุน” และไม่อาจทำให้หนังสือพิมพ์อยู่บนรูปแบบรายได้เดิมๆ อีกต่อไป

ดังนั้น นิวยอร์ก ไทมส์ จึงตัดสินใจ เมื่อราว 4 ปีก่อนว่า จะปรับรูปแบบธุรกิจหนังสือพิมพ์ จากที่อิงกับรายได้โฆษณาไปสู่การพึ่งพารายได้จากค่าสมาชิก ปัจจุบัน Digital Content ของนิวยอร์ก ไทมส์ ไม่ได้มีแค่ข่าว แต่ยังเป็นรูปแบบ Contents Bundling หรือการขายข่าวแบบพ่วงผสมคอนเทนต์อื่นๆ เช่น คอนเทนต์ทำอาหาร และเกมครอสเวิร์ด หรือผนึกพันธมิตรกับบริษัทสตรีมมิ่งเพลงชื่อดังอย่าง Spotify และมีการพัฒนาเพิ่มคอนเทนต์ข่าวในรูปแบบ Audio File ด้วย

ก้าวใหม่ของ "หนังสือพิมพ์" จากกระดาษสู่แพลตฟอร์มดิจิทัล

Apple News พลิกโฉม

แนวทาง Subscription ของหนังสือพิมพ์กำลังถูกท้าทายอีกครั้ง เมื่อค่าย Apple Inc. รุกโมเดล Subscription ที่เหนือชั้นกว่าเพราะมาแบบบุฟเฟ่ต์ข่าวและนิตยสารเหมาจ่ายรายเดือน ซึ่งได้รับการตั้งฉายาว่าเป็น Netflix of News

Apple News+ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของบริการใหม่ที่ยังครอบคลุมถึง ทีวีสตรีมมิ่ง เกม และบัตรเครดิต สามารถเข้าถึงข่าวและนิตยสารมากกว่า 300 ฉบับ อาทิ หนังสือพิมพ์ธุรกิจชั้นนำอย่าง Wall Street Journal และ The New Yorker ในราคาเดือนละ 10 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งคาดว่าจะดึงดูดสมาชิกได้มาก จากฐานผู้ใช้งานสมาร์ทโฟนและอุปกรณ์เคลื่อนที่ของแอปเปิ้ลนับล้านราย

รายงาน Digital News Project 2018 ของสถาบันรอยเตอร์ส ระบุว่า หนึ่งในเทรนด์สำคัญที่น่าจะเกิดขึ้นตามมาในปี 2019 นี้ ก็คือ บรรดาหนังสือพิมพ์จะตัดสินใจ “ปลดแอก” ลดการผูกติดอยู่กับแพลตฟอร์มใหญ่เพียงไม่กี่ราย เช่น เฟซบุ๊ก กันมากขึ้น ซึ่งเป็นผลจากการเปลี่ยนนโยบายของเฟซบุ๊ก และมาจากความกังวลของผู้บริหารสื่อเอง โดยผลสำรวจบรรดาผู้บริหารสื่อพบว่า 44% รู้สึกกังวลกับอำนาจและบทบาทของแพลตฟอร์มใหญ่มากขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ตัวเลขดังกล่าวยิ่งเพิ่มขึ้นเป็น 55% ในกลุ่มผู้บริหารที่เป็นสื่อหนังสือพิมพ์

ทว่า ปฏิกิริยาจากหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนส่วนใหญ่เมื่อเร็วๆ นี้ กลับไม่ได้มองว่า Apple News คือ อนาคตใหม่ที่จะมาช่วยกระตุ้นอุตสาหกรรมสื่อ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะค่านายหน้าที่ถูกแอปเปิ้ลหักไป ซึ่งคาดว่าจะสูงถึง 50% หรือสูงกว่าค่าธรรมเนียมของ Apple Music ในปัจจุบันที่ 30%

นอกจากนี้ สื่อบางรายยังกลัวว่าจะกลายเป็นการซ้ำรอย เฟซบุ๊ก ซึ่งที่สุดแล้วก็ไม่สามารถช่วยเพิ่มยอดให้หนังสือพิมพ์ได้อย่างที่คาดหวังกันเอาไว้ แต่กลับช่วยเอื้อให้แพลตฟอร์มหลักเองมากกว่า

นิวยอร์ก ไทมส์นั้นส่งสัญญาณชัดเจนว่า ต้องการสร้างความสัมพันธ์โดยตรงกับผู้อ่านผ่านทางเว็บไซต์และแอพพลิเคชั่นของตนเอง ขณะที่ Washington Post ระบุว่าจะมุ่งโฟกัสการสร้างฐานสมาชิกของตนเอง ซึ่งการเข้าร่วมกับแอปเปิ้ลนั้นไม่ได้ช่วยในด้านนี้

อย่างไรก็ตาม สื่อขนาดกลางถึงขนาดเล็กที่ไม่ได้มีฐานผู้อ่านขนาดใหญ่ อาจไม่สามารถต้านทานกระแสการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่เข้ามาเป็นตัวคุมเกมใหม่ได้ และอาจต้องก้าวให้ทันการแข่งขันจากผู้เล่นทั้งในและนอกอุตสาหกรรม ที่จะรุนแรงยิ่งขึ้นหลังจากนี้

เมื่อธุรกิจเข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่าน

ไม่ใช่แค่ธุรกิจหนังสือพิมพ์เท่านั้นที่ระส่ำระสายในยุคดิจิทัล เพราะหลายภาคธุรกิจที่ขยับตัวช้าเกินการณ์จนตามไม่ทันการเปลี่ยนแปลง ก็ย่อมถูกกลืนจากธุรกิจที่เคลื่อนไหวเร็วกว่า ทำให้ต้องปรับตัวและเปลี่ยนผ่านสู่ยุคใหม่ให้ทันยุคสมัยโดยเร็ว

แท็กซี่ vs Grab

อุตสาหกรรมแท็กซี่ในกว่า 60 ประเทศทั่วโลก ต้องระส่ำเมื่อ “อูเบอร์” (Uber) แอพพลิเคชั่นเรียกรถรับส่งปรากฏตัวขึ้นในปี 2009 แต่อูเบอร์ก็ถึงจุดสะดุดจากปัญหาการบริหารภายใน ซึ่งเปิดช่องให้ “แกร็บ” (Grab) ที่ก่อตั้งเมื่อปี 2012 เข้ามาช่วงชิงตลาดได้ โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แกร็บประสบความสำเร็จจากการปรับให้เข้ากับท้องถิ่น ทั้งการไม่ดิสรัปแท็กซี่ดั้งเดิมมากเกินไป และเพิ่มบริการเรียกรถมอเตอร์ไซค์เพื่อตอบโจทย์ชาวอาเซียน จากนั้นในปี 2018 แกร็บก็ซื้อกิจการอูเบอร์ในอาเซียน แล้วผงาดเป็นเบอร์ 1 ของภูมิภาค

What’s Next : แกร็บมุ่งสู่การเป็น “ซูเปอร์แอพ” หรือแอพพลิเคชั่นสามัญประจำวันสำหรับผู้บริโภค มีทั้งบริการส่งอาหาร ส่งของ และการรับชำระเงินออนไลน์ ล่าสุดขยายบริการทางการเงินเพิ่ม เช่น Pay Later บริการใช้ก่อน จ่ายทีหลัง และประกันภัยรายย่อย ประเดิมขายคนขับแกร็บก่อน แต่แกร็บก็กำลังเจอคู่แข่งมาแรงอย่าง “โกเจ็ก” (Go-Jek) จากแดนอิเหนาที่ปักธงชูจุดเด่นแอพครอบจักรวาลมาตั้งแต่แรก และกำลังขยายธุรกิจสู่ 4 ชาติอาเซียนภายในปีนี้

โรงแรม vs Airbnb

ธุรกิจแชร์ที่พักอย่าง “แอร์บีเอ็นบี” (Airbnb) เบียดบังรายได้ของธุรกิจโรงแรมโดยตรง โดยมีจุดแข็งจากที่พักราคาย่อมเยากว่า และที่สำคัญคือสามารถมอบประสบการณ์แบบสดใหม่ เข้าถึงความเป็นท้องถิ่นให้กับนักท่องเที่ยวแบบที่โรงแรมยังสู้ไม่ได้ แม้โมเดลนี้อาจยังไม่ถูกกฎหมายในบางแห่ง แต่ก็เติบโตอย่างต่อเนื่องจนมีที่พักในระบบ 6 ล้านแห่ง ใน 8.1 หมื่นเมืองทั่วโลก ครอบคลุมตั้งแต่ห้องพัก 1 ห้องไปจนถึงบ้านทั้งหลัง

What’s Next : แอร์บีเอ็นบีขยับรุกโรงแรมแบบดั้งเดิมมากขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุดทุ่มเงินซื้อ HotelTonight แพลตฟอร์มจองโรงแรม หวังขยายประเภทที่พักและดึงดูดลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ หลังไปจับมือกับกลุ่มโรงแรมบูติกโดยปรับระบบให้โรงแรมเปิดจองที่พักผ่านแอร์บีเอ็นบีได้ง่ายขึ้น และออก Loyalty Program หวังให้เป็นแพลตฟอร์มท่องเที่ยวครบวงจร

ก้าวใหม่ของ "หนังสือพิมพ์" จากกระดาษสู่แพลตฟอร์มดิจิทัล

ค้าปลีก vs อี-คอมเมิร์ซ

ค้าปลีกแบบดั้งเดิมเป็นอีกธุรกิจที่ขยับตัวช้าเกินไป สะท้อนจากห้างค้าปลีกหลายแห่งที่ล้มหายตายจาก เช่น เซียร์ส (Sears) ห้างค้าปลีกอายุกว่า 125 ปีที่ยื่นล้มละลายไปเมื่อปีที่แล้ว ส่วนค้าปลีกดั้งเดิมที่เหลืออยู่ ไม่ว่าจะเป็น วอลมาร์ท เบสต์บาย เมซีส์ และคอสต์โค ต่างต้องตบเท้าเข้าสู่สมรภูมิออนไลน์เพื่อความอยู่รอด แต่สุดท้ายแล้วก็ยังไม่สามารถสู้ “แอมะซอน” (Amazon) อี-คอมเมิร์ซผู้ครองตลาดค้าปลีกออนไลน์สหรัฐด้วยส่วนแบ่งตลาด 49.1% เมื่อปีที่แล้ว

What’s Next : แอมะซอนกลายเป็นเจ้าแห่งอี-คอมเมิร์ซ และกำลังเข้าชิงพื้นที่ออฟไลน์แบบมีหน้าร้าน เพื่อสร้าง “นิว รีเทล” ที่โลกออนไลน์และออฟไลน์เชื่อมต่อกันอย่างแท้จริง โดยคาดว่าจะประเดิมที่ร้านของชำก่อน ขณะที่ฝั่งจีนอี-คอมเมิร์ซกำลังก้าวไปไกลกว่า ทั้ง “อาลีบาบา” และ “เทนเซนต์” 2 ผู้เล่นรายใหญ่สุดกำลังยกระดับระบบค้าปลีกออนไลน์ด้วยเทคโนโลยีคลาวด์และ 5จี รวมถึงใช้เทคโนโลยี AR และ VR มาเสริมประสบการณ์ช็อปปิ้งให้ตื่นตาตื่นใจ

โรงหนัง vs สตรีมมิ่ง

นับตั้งแต่บริการสตรีมมิ่งเริ่มปรากฏตัวเมื่อ 20 ปีที่แล้ว พฤติกรรมการรับชมภาพยนตร์ในโรงหนังหรือการดูรายการทีวีก็เปลี่ยนไป อัตราการเข้าชมภาพยนตร์ในสหรัฐและแคนาดาต่ำสุดในรอบ 25 ปี เมื่อปี 2017 และชาวอเมริกันที่เลิกดูทีวีก็เพิ่มขึ้นมาเกือบ 33% เมื่อปีที่แล้ว จุดแข็งของบริการสตรีมมิ่งที่สามารถดูได้ทุกที่ทุกเวลา และแรงหนุนจากเทคโนโลยีเครือข่ายไร้สาย ทำให้ตลาดสตรีมมิ่งคาดว่าจะพุ่งแตะ 1.25 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3.9 ล้านล้านบาท) ภายในปี 2025 ตามคาดการณ์ของบริษัท แกรนด์ วิว รีเสิร์ช

What’s Next : “เน็ตฟลิกซ์” กำลังก้าวออกไปจากบริการสตรีมมิ่งอย่างเดียวสู่การทำคอนเทนต์ของตัวเองขึ้นมา (Original Content) หลังมีสมาชิกรับบริการกว่า 139 ล้านราย ในกว่า 190 ประเทศแล้ว ความสำเร็จของเน็ตฟลิกซ์กระตุ้นผู้เล่นเจ้าใหญ่กระโดดเข้าสู่ตลาดสตรีมมิ่งมากขึ้น ทั้ง “ดิสนีย์” และ “แอปเปิ้ล” ทำให้การแข่งขันคาดว่าจะดุเดือดยิ่งขึ้นกว่าที่ผ่านมา คงมีแต่อนาคตเท่านั้นที่บอกได้ว่าสตรีมมิ่งจะทำให้ธุรกิจโรงหนังหายไปหรือไม่

แบงก์ vs ฟินเทค

สตาร์ทอัพฟินเทคที่ได้รับการบ่มเพาะมาตั้งแต่ปี 2010 และดึงดูดเม็ดเงินลงทุนไปแล้วกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์ (ราว 3.17 ล้านล้านบาท) ได้เขย่าอุตสาหกรรมธนาคารอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน จากความได้เปรียบด้านความเร็วและต้นทุน ทำให้ภาคธนาคารหลั่งเลือดหั่นคนลดสาขาไปถ้วนหน้า ซึ่งเห็นได้ชัดจาก 3 ธนาคารใหญ่สุดในญี่ปุ่น คือ มิซูโฮ
ซูมิโตโม มิตซุย และเอ็มยูเอฟจี ประกาศจะลดคนรวมกันราว 3.3 หมื่นอัตรา ในอีก 10 ปีข้างหน้า

What’s Next : แม้การผนึกกำลังกับบริษัทฟินเทคจะช่วยลดความเทอะทะขององค์กรแบงก์ และเป็นคีย์ลัดสู่ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี แต่ก็มีอีกความท้าทายรอยอยู่ คือ Virtual Bank หรือแบงก์สายพันธุ์ใหม่ที่ทำธุรกรรมทางการเงินทุกอย่างผ่านช่องทางออนไลน์กำลังถือกำเนิดขึ้นอีกในไม่ช้า ซึ่งในเอเชียนั้น ฮ่องกงประเดิมออกใบอนุญาต Virtual Bank แล้วเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา