posttoday

ครูผู้เสียสละที่โลกต้องรู้จัก: ปีเตอร์ ทาบิชิ

25 มีนาคม 2562

ครูจากชนบทห่างไกลของเคนยา ผู้อุทิศเงินเดือนเกือบทั้งหมดของตัวเองให้เด็กยากจนได้มีโอกาสเรียนหนังสือ คว้ารางวัล “ครูดีเด่นของโลก”

ครูจากชนบทห่างไกลของเคนยา ผู้อุทิศเงินเดือนเกือบทั้งหมดของตัวเองให้เด็กยากจนได้มีโอกาสเรียนหนังสือ คว้ารางวัล “ครูดีเด่นของโลก”

“ในฐานะครูที่ทำงานในพื้นที่ ผมได้เห็นศักยภาพของคนรุ่นใหม่ของแอฟริกา ความกระหายใคร่รู้ ความอัจฉริยะ ความสามารถพิเศษ ความเชื่อ เยาวชนของแอฟริกาจะไม่ถูกความคาดหวังต่ำฉุดรั้งไว้อีกต่อไป แอฟริกาจะผลิตนักวิทยาศาสตร์ วิศวกร เจ้าของกิจการซึ่งชื่อของพวกเขาเหล่านี้จะโด่งดังไปทั่วทุกมุมโลก เด็กๆ ผู้หญิงจะเป็นส่วนสำคัญของเรื่องราวนี้”

ข้อความข้างต้นคือคำประกาศของ ปีเตอร์ ทาบิชิ วัย 36 ปีที่เป็นทั้งบาทหลวงของคณะฟรันซิสกันและครูคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ที่เพิ่งได้รับรางวัล “Global Teacher Prize” หรือรางวัลครูดีเด่นของโลก พร้อมเงิน 1 ล้านเหรียญสหรัฐ จากมูลนิธิวาร์คีย์ ฟาวเดชั่น ที่เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาตามเวลาท้องถิ่น

บาทหลวงทาบิชิอุทิศแรงกายแรงใจสอนหนังสือในโรงเรียนมัธยมเคริโก มิกซ์ เดย์ในเมืองนากูรูทางตอนกลางของเคนยา ด้วยความหวังว่าจะใช้วิทยาศาสตร์สร้างอนาคตให้กับนักเรียนซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กกำพร้า หรือมาจากครอบครัวยากจน ที่ไม่มีแม้แต่เงินสำหรับซื้อหนังสือเรียนหรือเครื่องแบบนักเรียน

ด้วยความที่ตั้งอยู่ในชนบทห่างไกลจึงทำให้โรงเรียนแห่งนี้ขาดแคลนแทบจะทุกอย่าง ทั้งหนังสือเรียน อุปกรณ์การเรียนที่จำเป็น ไม่มีห้องสมุด ไม่มีห้องทดลอง ไม่มีครูที่เพียงพอ ห้องเรียนแต่ละห้องจึงอัดแน่นไปด้วยนักเรียนไม่ต่ำกว่า 70-80 คน หรือหากจะเทียบให้เห็นภาพคือมีสัดส่วนนักเรียนถึง 58 คนต่อครูเพียง 1 คน

คอมพิวเตอร์ที่มีเพียงเครื่องเดียวก็ใช้งานได้ไม่เต็มที่ เนื่องจากสัญญาณอินเทอร์เน็ตไม่เสถียร ทำให้บาทหลวงทาบิชิต้องหอบโน้ตบุ๊คตระเวนไปตามอินเทอร์เน็ตคาเฟ่เพื่อดาวน์โหลดข้อมูลสื่อการสอนในวิชาวิทยาศาสตร์

นอกจากเตรียมเนื้อหาบทเรียนให้น่าสนใจแล้ว บาทหลวงทาบิชิยังต้องโน้มน้าวให้คนในชุมชนท้องถิ่นตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษา ด้วยการเดินทางไปเยี่ยมครอบครัวที่มีแนวโน้มว่าจะให้ลูกออกจากโรงเรียน รวมทั้งพยายามเปลี่ยนความตั้งใจของพ่อแม่ที่หวังจะให้ลูกสาวได้ออกเรือนตั้งแต่อายุยังน้อย เพื่อให้เด็กๆ ได้เรียนสูงที่สุด

บาทหลวงทาบิชิก็พยายามอย่างไม่ลดละในการให้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์กับลูกศิษย์เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของเด็กๆ ที่นี่ เขาริเริ่มโครงการ “ชมรมบ่มเพาะความสามารถพิเศษ” และขยับขยายชมรมวิทยาศาสตร์ของโรงเรียน ขึ้นมาเพื่อช่วยนักเรียนออกแบบโครงงานคุณภาพที่สามารถแข่งขันในระดับประเทศได้อย่างไม่อายใคร

ที่ผ่านมาลูกศิษย์ของบาทหลวงทาบิชิได้เข้าแข่งขันโครงงานวิทยาศาสตร์ในระดับนานาชาติหลายต่อหลายครั้ง และสามารถคว้ารางวัลจากสมาคมเคมีแห่งประเทศอังกฤษจากโครงงานที่นำพืชในท้องถิ่นมาผลิตกระแสไฟฟ้า

หลังบาทหลวงได้รับรางวัลนี้ ประธานาธิบดี อูฮูรู เคนยัตตา แห่งเคนยา ได้กล่าวยกย่องครูผู้เสียสละผู้นี้ว่า “ความสำเร็จของทาบิชิคือเรื่องราวของแอฟริกา คุณทำให้ผมเชื่อว่าอนาคตที่สดใสของแอฟริการอเราอยู่ข้างหน้า และเรื่องราวของคุณจะนำทางให้คนรุ่นใหม่ของเรา”