posttoday

โบอิ้งสะท้านสหรัฐ ย้ำจุดบอดใหญ่การบิน

19 มีนาคม 2562

อุบัติเหตุใหญ่ที่เกิดกับเครื่องบิน "โบอิ้ง" เป็นการตอกย้ำจุดบอดใหญ่ของอุตสาหกรรมการบินสหรัฐ ซึ่งสะเทือนภาพลักษณ์ประเทศผู้กำหนดมาตรฐานการบินครั้งใหญ่

อุบัติเหตุใหญ่ที่เกิดกับเครื่องบิน "โบอิ้ง" เป็นการตอกย้ำจุดบอดใหญ่ของอุตสาหกรรมการบินสหรัฐ ซึ่งสะเทือนภาพลักษณ์ประเทศผู้กำหนดมาตรฐานการบินครั้งใหญ่

********************

โดย...นรินรัตน์ พรหมพิทักษ์

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั่วโลกต่างกลับมาตื่นตัวเรื่องความปลอดภัยทางการบิน หลังเกิดกรณีเครื่องบินรุ่นโบอิ้ง 737 แม็กซ์ 8 ของสายการบินเอธิโอเปียนแอร์ไลน์สตกหลังขึ้นบินได้เพียง 6 นาที เป็นเหตุให้เสียชีวิตยกลำ 157 ราย

อุบัติเหตุดังกล่าวเกิดขึ้นห่างจากครั้งก่อนหน้านี้เพียง 6 เดือน เมื่อเครื่องบินรุ่น 737 แม็กซ์ 8 ของสายการบินไลอ้อนแอร์ของอินโดนีเซีย ตกหลังขึ้นบิน 13 นาที เมื่อเดือน ต.ค.ปีที่ผ่านมา จนทำให้มีผู้เสียชีวิตยกลำ 189 ราย

เหตุการณ์ล่าสุดส่งผลให้สายการบินทั่วโลกจากกว่า 40 ชาติต่างระงับการใช้เครื่องบินรุ่น 737 แม็กซ์ 8 และแม็กซ์ 9 อีกรุ่นที่คล้ายกัน ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย

อุบัติเหตุใหญ่ทั้งสองครั้งไม่เพียงส่งผลกระทบแค่ต่อบริษัทโบอิ้งเท่านั้น แต่ยังปลุกความกังขาเกี่ยวกับจุดบอดมาตรฐานความปลอดภัยทางการบินของสหรัฐ

โบอิ้งนั้นไม่ได้เป็นเพียงเอกชนด้านการบิน แต่ยังกลายเป็นหนึ่งในความเป็น “อเมริกัน” ไปแล้ว เพราะมีบทบาทสำคัญในการทำให้สหรัฐผงาดขึ้นเป็น 1 ใน 2 ผู้เล่นรายใหญ่ที่สุดของโลกในอุตสาหกรรมการบินเคียงคู่ไปกับยุโรป ซึ่งมีแอร์บัสเป็นบริษัทการบินยักษ์ใหญ่ของภูมิภาค

ความเป็นอเมริกันอันเข้มข้นของโบอิ้งยังสะท้อนออกมาจากรายได้ของโบอิ้งที่มาจากแผ่นดินสหรัฐมากที่สุดอยู่ที่ 4.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.39 ล้านล้านบาท) เมื่อปีงบการเงิน 2018 จึงคงกล่าวได้ว่าโบอิ้งเป็นยักษ์เอกชนที่มีความสำคัญอย่างมากต่อสหรัฐ

ด้วยเหตุนี้ จึงไม่น่าแปลกใจว่าวิกฤตล่าสุด ทำให้ทั่วโลกหันสปอตไลต์ไปที่ความสัมพันธ์ระหว่างโบอิ้งและสำนักงานบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐ (เอฟเอเอ) ซึ่งเป็นหน่วยงานเซตมาตรฐานการบินระดับนานาชาติ โดยก่อนหน้านี้เอฟเอเอประกาศว่าไม่พบปัญหาที่ระบบของโบอิ้ง ขณะที่หลายชาติเริ่มประกาศระงับการใช้งานเครื่องบินรุ่น 737 แม็กซ์ไปแล้ว แต่ไม่กี่วันต่อมาเอฟเอเอก็ยอมประกาศระงับการใช้เครื่องบินรุ่นดังกล่าว

ไม่เพียงเท่านั้นความกังขาต่อเอฟเอเอยังเพิ่มขึ้นเมื่อทางการเอธิโอเปีย เปิดเผยว่า ผลการวิเคราะห์กล่องดำในขั้นต้นพบว่าอุบัติเหตุของเอธิโอเปียนแอร์ไลน์สและไลอ้อนแอร์มีความคล้ายคลึงกัน โดยเครื่องบินที่เกิดอุบัติเหตุทั้งสองครั้งเป็นรุ่นแม็กซ์ 8 และตกหลังจากนักบินรายงานปัญหาเรื่องการควบคุมเครื่องไม่กี่นาทีหลังขึ้นบินเหมือนกัน

ล่าสุดนั้น วอลสตรีท เจอร์นัล รายงานอ้างแหล่งข่าวว่า กระทรวงคมนาคมสหรัฐกำลังสอบสวนกระบวนการรับรองความปลอดภัยเครื่องบินรุ่นโบอิ้ง 737 แม็กซ์ของเอฟเอเอ โดยมุ่งการสอบสวนไปที่ซอฟต์แวร์ระบบควบคุมการบิน MCAS (Maneuvering Characteristics Augmentation System) และรายงานระบุว่า มีการออกหมายเรียกผู้เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเครื่องบินรุ่น 737 แม็กซ์ อย่างน้อย 1 ราย

แม้ทางเอฟเอเอเปิดเผยว่า กระบวนการรับรองความปลอดภัยดังกล่าว “ดำเนินการเป็นอย่างดีและเป็นไปตามมาตรฐานของเอฟเอเอ” แต่ความลักลั่นของเอฟเอเอ ทำให้หลายฝ่ายมองว่าเอฟเอเอไม่ได้มีอำนาจมากพอในการจัดการกับกรณีของโบอิ้ง

โบอิ้งสะท้านสหรัฐ ย้ำจุดบอดใหญ่การบิน

ล่าสุดนั้น บลูมเบิร์กรายงานอ้างแหล่งข่าวว่า โบอิ้งมีอิทธิพลต่อการรับรองมาตรฐานความปลอดภัยของเครื่องบินมาตั้งแต่เมื่อ 7 ปีที่แล้ว โดยรายงานระบุว่า เอฟเอเอให้อำนาจมากขึ้นกับยักษ์ผลิตเครื่องบิน ในการอนุมัติใช้เครื่องบินใหม่ ซึ่งรวมถึงการอนุญาตให้โบอิ้งเลือกบุคลากรของบริษัทจำนวนมากเข้าไปร่วมตรวจสอบการทดสอบความปลอดภัย

นอกจากนี้ บลูมเบิร์กยังรายงานว่า ซอฟต์แวร์ควบคุมการบิน ซึ่งต้องสงสัยว่าส่งผลให้เครื่องบิน 737 แม็กซ์ตกนั้น ได้รับการรับรองโดยพนักงานของโบอิ้งจำนวนอย่างน้อย 1 ราย

ก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ ลงนามให้เปลี่ยนแปลงกฎหมายเมื่อวันที่ 5 ต.ค.ที่ผ่านมา อนุญาตให้ผู้ผลิตเครื่องบินสามารถยื่นเรื่องไปยังเอฟเอเอเพื่อขจัดข้อจำกัดในกระบวนการรับรองอุปกรณ์ที่ใช้ในเครื่องบิน โดยมีผลกับ “อุปกรณ์ที่มีความเสี่ยงระดับกลางและระดับต่ำ” หมายความว่าบริษัทผู้ผลิตมีอิสระมากขึ้นเกี่ยวกับมาตรฐานอุปกรณ์นั่นเอง

ด้านนิวยอร์กไทมส์ รายงานว่า ความลักลั่นของเอฟเอเอกรณีโบอิ้งนั้นมาจากสายสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างโบอิ้งกับรัฐบาลสหรัฐ โดยโบอิ้งเป็นบริษัทคู่สัญญารายใหญ่ของรัฐบาล สะท้อนออกมาจากการที่คว้าสัญญาจากรัฐบาลไปได้มูลค่ากว่า 2.3 หมื่นล้านดอลลาร์ (ราว 7.28 แสนล้านบาท) เมื่อปีงบ 2017 ซึ่งนิวยอร์กไทมส์ระบุว่า ตัวเลขดังกล่าวสูงกว่าเอกชนรายอื่นๆ รวมถึงล็อกฮีด มาร์ติน คู่แข่งหลักในการชิงสัญญาด้านความมั่นคง

รายงานระบุว่า การสร้างสายสัมพันธ์แนบแน่นกับรัฐบาลสหรัฐ ยังมาจากช่องโหว่ในการให้เงินสนับสนุนพรรคการเมือง ที่เป็นไปได้ว่าอาจก่อผลประโยชน์ทับซ้อนกับรัฐบาลสหรัฐ

ในปี 1940 สหรัฐออกกฎหมายห้ามบุคคลหรือบริษัทบริจาคเงินในแคมเปญหาเสียงของรัฐบาลโดยตรง หากกำลังเจรจาหรือเป็นบริษัทคู่สัญญาของรัฐบาลกลาง เพื่อป้องกันบริษัทติดสินบนรัฐบาลหรือมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของรัฐบาล

อย่างไรก็ดี ภายใต้กฎหมายช่วงทศวรรษ 1970 บริษัท สหภาพแรงงาน กลุ่มวิชาชีพหรือกลุ่มธุรกิจ และกลุ่มอิสระสามารถตั้งคณะกรรมการกิจการการเมือง (Political Action Committee : PAC) ขึ้นมาได้ เพื่อระดมทุนและใช้จ่ายเงินได้โดยไม่จำกัดจำนวน สำหรับสนับสนุนหรือโต้แย้งผู้สมัครรับเลือกตั้งรายใดก็ตาม ซึ่งนักวิเคราะห์จำนวนมากมองว่าเป็นช่องทางในการแผ่ขยายอิทธิพลต่อรัฐบาล

นิวยอร์กไทมส์ระบุว่า คณะกรรมการกิจการการเมืองของโบอิ้ง และกลุ่มอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง บริจาคเงินกว่า 8.4 ล้านดอลลาร์ (ราว 260 ล้านบาท) สำหรับแคมเปญหาเสียงตั้งแต่ปี 2016

ขณะเดียวกันปัญหาในการรับรองความปลอดภัยการบินอีกส่วนยังมาจากการที่เอฟเอเอไม่ได้รับงบและมีเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอสำหรับกระบวนการตรวจสอบ โดยไฟแนนเชียลไทมส์ รายงานว่า รัฐบาลทรัมป์พยายามหั่นงบของเอฟเอเอมาแล้วหลายครั้ง ล่าสุดสะท้อนออกมาจากการเปิดเผยงบประมาณกลางเมื่อสัปดาห์ก่อนหน้า ที่จะตัดงบเอฟเอเออีก 400 ล้านดอลลาร์ (ราว 1.2 หมื่นล้านบาท) จากงบทั้งหมด 1.75 หมื่นล้านดอลลาร์ (ราว 5.5 แสนล้านบาท)

กรณีล่าสุดของโบอิ้งครั้งนี้ จึงถือเป็นการตอกย้ำจุดบอดใหญ่ของอุตสาหกรรมการบินสหรัฐ ซึ่งสะเทือนภาพลักษณ์ประเทศผู้กำหนดมาตรฐานการบินครั้งใหญ่ที่สุดครั้ง หนึ่งอย่างไม่ต้องสงสัยไปด้วย