posttoday

คนชั่วจะต้องถูกลืม: นายกฯ นิวซีแลนด์ลั่นไม่มีวันเอ่ยชื่อฆาตกร

19 มีนาคม 2562

จาซินดา อาร์เดิร์นใช้หลัก Don't feed the Troll ปิดทางดังของมือสังหารหมู่

จาซินดา อาร์เดิร์น ลั่นวาจาว่าจะไม่มีวันเอ่ยชื่อผู้ก่อการร้ายที่กราดยิงมัสยิดในเมืองไครสต์เชิร์ช เพื่อไม่ให้คนผู้นี้กระหยิ่มยิ้มย่องที่มีชื่อเสียงโด่ง จากการกระทำอันโหดร้าย 

มีวลีภาษาอังกฤษวลีหนึ่งที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตคุ้นหูกันดี คือ Don't feed the Troll ที่แปลว่า "อย่าป้อนอาหารให้อสูรร้าย" หมายความว่า ไม่ควรที่จะใส่ใจหรือให้ความสำคัญกับคนเกเรในโลกโซเชียล เพราะคนเหล่านี้มักจะตีรวน สร้างความวุ่นวายในการสนทนาของคนที่มีเหตุมีผล และเรียกร้องความสนใจด้วยการกระตุ้นให้อีกฝ่ายชิงชัง เหมือนอสูรที่มีชีวิตอยู่ด้วยการเรียกร้องความสนใจ

แต่ถ้าไม่มีใครสนใจ อสูรร้ายพวกนี้จะหมดอาหารหล่อเลี้ยงชีวิตของพวกมัน ดังนั้น เวลาที่มีพวกเกเรปรากฎตัวขึ้นในโลกออนไลน์ ชาวเน็ตที่มีสติมักจะคอยเตือนกันว่า "อย่าป้อนอาหารให้อสูรร้าย" ด้วยการทำเป็นไม่สนใจ หรือไม่เอ่ยถึง ทำราวกับคนๆ นั้นไม่มีตัวตน เมื่อไม่มีใครสนใจ Troll เหล่านี้ก็จะหมดเรี่ยวแรงก่อความวุ่นวาย และผิดหวังอย่างแรงที่ไม่ได้รับความสนใจ

"อย่าป้อนอาหารให้อสูรร้าย" กำลังเกิดขึ้นในโลกแห่งความเป็นจริง เมื่อนายกรัฐมนตรี จาซินดา อาร์เดิร์น ประกาศว่า จะไม่มีวันเอ่ยชื่อผู้ก่อการร้ายที่กราดยิงมัสยิดในเมืองไครสต์เชิร์ชจนมีผู้เสียชีวิตถึง 50 คน

คนชั่วจะต้องถูกลืม: นายกฯ นิวซีแลนด์ลั่นไม่มีวันเอ่ยชื่อฆาตกร นายกรัฐมนตรี จาซินดา อาร์เดิร์น เยี่ยมตัวแทนชาวมุสลิม

"เขาก่อเหตุก่อการร้ายเพราะมีความมุ่งหวังหลายอย่าง แต่อย่างหนึ่งก็คืออยากมีชื่อเสียง ด้วยเหตุนี้พวกคุณจะไม่มีวันได้ยินฉันเอ่ยชื่อคนๆ นี้เด็ดขาด เขาเป็นผู้ก่อการร้าย เป็นพวกหัวรุนแรง แต่เมื่อใดก็ตามที่ฉันเอ่ยถึง เขาจะเป็นคนที่ไร้ชื่อเสียง และสำหรับคนอื่นๆ ดิฉันของเรียกร้องให้คุณเอ่ยชื่อเหยื่อที่เสียชีวิตไปแทนที่จะเอ่ยคนที่พรากชีวิตไปจากพวกเขา" อาร์เดิร์น กล่าวระหว่างพิธีไว้อาลัยที่จัดขึ้น ณ รัฐสภา

อาร์เดิร์น ไม่ได้เรียกร้องกับสาธารณชนเท่านั้น แต่ยังต้องการให้สื่อปฏิบัติตามด้วย โดยกล่าวกับผู้สื่อข่าวของนิตยสาร Time ว่า "ฉันคิดว่าเราจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องตระหนักและต้องลงมือป้องกันไม่ให้คนๆ นี้มีชื่อเสียงอย่างที่เขาปรารถนา และเป็นประเด็นที่เราจะต้องหารือกับสื่อด้วย เห็นได้ชัดว่าเขาคนนี้มีเหตุผลหลายอย่างที่ลงมือเหตุก่อการร้ายครั้งหายนะ หนึ่งในนั้นคือทำให้ชื่อเสียงของเขาโด่งดังขึ้นมา แต่เราจะต้องไม่ยอมให้เขาได้อย่างที่หวัง"

นอกจากนายกรัฐมนตรีแล้ว ภาคสังคมและภาคธุรกิจยังพยายามอย่างแข็งขันที่จะขัดขวางไม่ให้คนร้ายถูกจดจำ และมีชื่อเสียงจากกระทำอันชั่วร้ายของเขา โดยสมาคมผู้โฆษณาแห่งนิวซีแลนด์ถึงกับขู่เฟซบุ๊คว่าจะถอนโฆษณาออกจากโซเชียลเน็ตเวิร์กรายนี้ ฐานที่ยังไม่พยายามมากพอในการกำจัดคลิปและรายละเอียดของคนร้ายในเหตุสังหารหมู่ไครส์เชิร์ช

ในความคิดของชาวนิวซีแลนด์จำนวนไม่น้อย สถานะของคนร้ายรายนี้ไม่ต่างอะไรกับ "คนที่ไม่ควรเอ่ยนาม" หรือ "คนที่คุณก็รู้ว่าใคร" (He Who Must Not Be Named) เพราะชั่วร้ายเกินกว่าจะเอ่ยถึง และยังเป็นการทำให้เขาหมดความสำคัญลง สวนทางกับความต้องการของเขาที่ดูเหมือนจะวางแผนการสังหารหมู่อย่างดี เพื่อที่จะสร้างชื่อเสียงไปทั่วโลก

คนชั่วจะต้องถูกลืม: นายกฯ นิวซีแลนด์ลั่นไม่มีวันเอ่ยชื่อฆาตกร "คนที่ไม่ควรเอ่ยนาม" ระหว่างถูกนำตัวขึ้นศาล

ก่อนหน้านี้ นิวซีแลนด์ทำการเผยภาพของคนร้าย แต่กลับปิดบังใบหน้าของมือกราดยิง สร้างความกังขาให้กับคนทั่วไป ที่อยากจะเห็นใบหน้าของฆาตรกร เพราะคนทั่วไปยังมีวิธีคิดที่เชื่อว่าการเปิดเผยใบหน้าเท่ากับการประจานคนชั่ว อย่างไรก็ตาม ในหลายๆ ประเทศ กฎหมายบังคับให้เจ้าหน้าที่ต้องปิดบังใบหน้าของ "ผู้ต้องหา" จนกว่าที่ผู้ต้องหาจะถูกตัดสินว่ามีความผิดจริง

ในกรณีของนิวซีแลนด์ ผู้พิพากษา พอล เคลลาร์ มีคำสั่งให้เบลอร์ภาพใบหน้าของ "คนที่ไม่ควรเอ่ยนาม" รายนี้ เหตุผลก็คือเพื่อเป็นการปกป้องสิทธิ์ของผู้ต้องหา และเพื่อความเป็นธรรมระหว่างการพิจารณา ผู้พิพากษา เคลลาร์ ยังสั่งห้ามมิให้สื่อเผยแพร่ชื่อของผู้ต้องหาสังหารหมู่ที่ไครสต์เชิร์ช ซึ่งเรื่องนี้อิงกับหลักการดำเนินคดีอย่างเป็นธรรมเช่นกัน โดยมีรายละเอียดเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติในเว็บไซต์ของกระทรวงยุติธรรมของนิวซีแลนด์

แม้ว่าเหตุผลของการปิดบังใบหน้าและชื่อคนร้ายโดยฝ่ายตุลาการ จะไม่เกี่ยวข้องกับท่าทีของฝ่ายบริหาร (นายกรัฐมนตรี) และภาคสังคม ที่จะพยายามจะทำให้สังคมไม่ใยดีกับเขา แต่การปกปิดของศาลมีความคล้องจองโดยบังเอิญกับหลักการ Don't feed the Troll เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ลงมือรู้สึกสมหวังที่โด่งดังจากการทำความชั่ว