posttoday

หนี้ทั่วโลกพุ่ง50%รอบ10ปี

14 มีนาคม 2562

หนี้ทั่วโลกพุ่ง 50% นับตั้งแต่วิกฤตการเงินปี 2551-2552 ทะยานมากกว่า5,000ล้านล้าน เพิ่มสูงขึ้นทุกด้าน ภาคสาธารณะหนักสุด77%

หนี้ทั่วโลกพุ่ง 50% นับตั้งแต่วิกฤตการเงินปี 2551-2552 ทะยานมากกว่า5,000ล้านล้าน เพิ่มสูงขึ้นทุกด้าน ภาคสาธารณะหนักสุด77%

บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ เอสแอนด์พี โกลบอล เรตติ้งส์ เปิดเผยว่า ปริมาณหนี้สินทั่วโลกซึ่งรวมทั้งหนี้สาธารณะ หนี้ภาคเอกชน และหนี้ครัวเรือน พุ่งทะยานขึ้นไปอยู่ที่ 178 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 5,626 ล้านล้านบาท) ณ สิ้นเดือน มิ.ย. 2561 หรือเพิ่มขึ้น 50% ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา แต่สัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีทั่วโลกไม่ได้เพิ่มขึ้นรุนแรงมากนัก โดยอยู่ที่ 231% จาก 208% เมื่อปี 2551

รายงานระบุว่า หนี้สาธารณะมีสัดส่วนการเพิ่มขึ้นมากที่สุด โดยพุ่งขึ้นถึง 77% ไปอยู่ที่ 62.4 ล้านล้านดอลลาร์ (ราว 1,973 ล้านล้านบาท) นำโดยหนี้สาธารณะก้อนใหม่ของสหรัฐที่เพิ่มขึ้น 10.6 ล้านล้านดอลลาร์ (ราว 335 ล้านล้านบาท) ตามด้วยจีนและกลุ่มประเทศยูโรโซนที่ 5 ล้านล้านดอลลาร์ (ราว 158 ล้านล้านบาท) และ 2.8 ล้านล้านดอลลาร์ (ราว 88 ล้านล้านบาท)

ทั้งนี้ เอสแอนด์พี แสดงความวิตกต่อการก่อหนี้เพิ่มขึ้นของภาคเอกชน ซึ่งปรับตัวขึ้น 51% นับตั้งแต่ช่วงวิกฤตการเงินเมื่อ 10 ปีก่อน คิดเป็น 23.8 ล้านล้านดอลลาร์ (ราว 752 ล้านล้านบาท) โดยเอกชนจีนก่อหนี้ใหม่เพิ่มขึ้นมากที่สุดไปอยู่ที่ทั้งหมดรวม 20.3 ล้านล้านดอลลาร์ (ราว 641 ล้านล้านบาท) จาก 4 ล้านล้านดอลลาร์ (ราว 126 ล้านล้านบาท) ในปี 2551

เอสแอนด์พีระบุว่า หนี้ที่เพิ่มขึ้นของเอกชนจีนส่งผลให้หนี้ภาคเอกชนของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่เพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 31% จาก 15% เมื่อปี 2551

ขณะที่หนี้ครัวเรือนปรับตัวขึ้นไม่มากนัก โดยหนี้ครัวเรือนของสหรัฐเพิ่มขึ้นเพียง 1 ล้านล้านดอลลาร์ (ราว 31 ล้านล้านบาท) คิดเป็นอัตราไม่ถึง 1% ต่อปี อย่างไรก็ดี หนี้ครัวเรือนจีนพุ่งขึ้นมา 6.6 ล้านล้านดอลลาร์ (ราว 208 ล้านล้านบาท) คิดเป็น 716%

นายเทอร์รี ชาน นักวิเคราะห์ด้านสินเชื่อของบริษัท เอสแอนด์พี กล่าวว่า ปัจจุบันหนี้ทั่วโลกพุ่งสูงขึ้นและเพิ่มความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจยิ่งกว่าช่วง 10 ปีที่แล้ว

อย่างไรก็ดี แม้มีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาสินเชื่อขึ้นอีกครั้ง แต่ก็คาดว่าจะไม่รุนแรงเหมือนช่วงวิกฤตการเงินทั่วโลกเมื่อปี 2551 เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นการกู้ยืมของภาครัฐ มากกว่ามาจากภาคเอกชนที่เคยจุดชนวนวิกฤตการเงินรอบที่แล้ว นอกจากนี้ หนี้เอกชนส่วนใหญ่ที่เพิ่มขึ้นเป็นหนี้ของเอกชนจีนที่กู้ยืมภายในประเทศเอง ทำให้ลดความเสี่ยงที่เกิดผลกระทบลุกลามไปทั่วโลกกรณีหากเกิดการผิดนัดชำระหนี้ขึ้นมา

บริษัท เอสแอนด์พี ระบุด้วยว่า แม้ว่าจะมีการกู้เพื่อนำเงินไปลงทุนสูง แต่มีปัจจัยบวกที่ช่วยป้องกันไม่ให้ความเสี่ยงของการผิดนัดชำระหนี้จะลุกลามเป็นวิกฤตการเงินทั่วโลก เนื่องจากนักลงทุนมีความเชื่อมั่นกับหนี้ของชาติใหญ่ในฝั่งตะวันตก ที่ส่วนใหญ่เป็นการก่อหนี้ในสกุลเงินหลักของโลก นอกจากนี้ การก่อหนี้ของภาคเอกชนที่ส่วนใหญ่มาจากการระดมทุนภายในประเทศ ยังช่วยลดความเสี่ยงที่จะลุกลามได้ด้วยเช่นกัน เพราะเชื่อมั่นว่ารัฐบาลจีนมีวิธีการรับมือและความตั้งใจที่จะป้องกันการผิดนัดชำระหนี้ไม่ให้ลุกลามเป็นวงกว้าง

อย่างไรก็ดี บริษัท เอสแอนด์พี เตือนด้วยว่า แม้ว่าความเสี่ยงของการลุกลามไปทั่วโลกหากเกิดปัญหารอบใหม่ จะน้อยกว่าวิกฤตการเงินปี 2551-2552 แต่ความเสี่ยงในภาพรวมกลับสูงขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมากในช่วงที่ผ่านมา ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายเงินลงทุนไปยังจังก์บอนด์หรือผลิตภัณฑ์การลงทุนความเสี่ยงสูงมากขึ้น ซึ่งตลาดเหล่านี้มีแนวโน้มเปราะบางและมีสภาพคล่องน้อยกว่า