posttoday

สหรัฐเรียกร้องชาติพันธมิตร ช่วยจ่ายเงินเดือนทหารมะกันในต่างแดน

09 มีนาคม 2562

ทำเนียบขาวเรียกร้องให้ชาติพันธมิตรช่วยแชร์ค่าใช้จ่าย ของทหารสหรัฐที่ประจำอยู่ในประเทศของตนอย่างน้อย 50%

ทำเนียบขาวเรียกร้องให้ชาติพันธมิตรช่วยแชร์ค่าใช้จ่าย ของทหารสหรัฐที่ประจำอยู่ในประเทศของตนอย่างน้อย 50%

บลูมเบิร์กรายงานโดยอ้างแหล่งข่าวในคณะบริหารของรัฐบาลประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ว่า ขณะนี้ทำเนียบขาวมีแผนเจรจากับรัฐบาลของชาติพันธมิตรหลายประเทศทั้งเยอรมนี ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ รวมถึงชาติพันธมิตรอื่นๆ ที่มีฐานทัพสหรัฐประจำอยู่ ให้รัฐบาลของประเทศนั้นๆร่วมเป็นเจ้าภาพในการ"ออกค่าใช้จ่าย"บางส่วนอย่างน้อย 50% หรือมากกว่านั้นในการจ่ายเงินเดือน รวมถึงสิทธิพิเศษต่างๆให้กับทหารสหรัฐในต่างแดน

 

สหรัฐเรียกร้องชาติพันธมิตร ช่วยจ่ายเงินเดือนทหารมะกันในต่างแดน

ในบางกรณีประเทศที่มีฐานทัพสหรัฐประจำการอยู่อาจต้อง'ช่วย'ออกค่าใช้จ่ายต่างๆรวมกับสหรัฐอย่างน้อย 5 ถึง 6 เท่าของงบประมาณที่กองทัพสหรัฐใช้จ่ายในประเทศนั้นภายใต้สูตร "ต้นทุนบวก 50" กล่าวคือรัฐบาลสหรัฐยังคงออกค่าใช้จ่ายสำหรับกองทัพในต่างแดนเท่าเดิม แต่ต้องการให้รัฐบาลประเทศเจ้าภาพช่วยออกค่าใช้จ่ายรวมถึงสิทธิประโยชน์ต่างๆเพิ่มเติม

รายงานดังกล่างสอดคล้องกับท่าที่ของนายจอห์น โบลตันที่ปรึกษาความมั่นคงประจำทำเนียบขวาที่เคยระบุในบันทึกว่าต้องการให้ประเทศพันธมิตรช่วยออกงบประมาณดูแลทหารสหรัฐที่ประจำในแต่ละประเทศ

ขณะที่ในหลายครั้งที่ผ่านมาปธน.ทรัมป์ได้ยืนกรานในเรื่องนี้มาโดยตลอด ล่าสุดกับการที่สหรัฐได้มีข้อตกลงเจรจากับรัฐบาลเกาหลีใต้ในการดูแลสถานะของกองทัพสหรัฐจำนวน 28,000 นายที่ประจำการอยู่ในเกาหลีใต้ โดยทั้งสองประเทศเห็นพ้องในการเพิ่มงบประมาณด้านกองทัพเป็น 924 ล้านดอลลาร์ในปี 2019 เพิ่มจากปีก่อนที่ 830 ล้านดอลลาร์

สหรัฐเรียกร้องชาติพันธมิตร ช่วยจ่ายเงินเดือนทหารมะกันในต่างแดน

เช่นเดียวกับที่หลายครั้งที่ผ่านมาประธานาธิบดีทรัมป์ได้เรียกร้องให้ชาติพันธมิตรนาโต้ช่วยกันออกค่าใช้จ่ายด้านงบประมาณของนาโต้ในลักษณะเท่าเทียมกันแบบแฟร์ๆ เนื่องจากปธน.ทรัมป์มองว่าสหรัฐต้องรับผิดชอบกับค่าใช้จ่ายของนาโต้อย่างไม่เป็นธรรม

อย่างไรก็ดี ในฐานทัพสหรัฐที่ประจำการอยู่ในบางประเทศอย่างที่เยอรมนีนั้น รัฐบาลเยอรมนีได้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่างๆของฐานทัพสหรัฐในระดับสูงอยู่แล้วที่ราว 28% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมดคิดเป็นมูลค่าสูงถึง 1 พันล้านดอลลาร์ต่อปี ตามข้อมูลจาก Rand Corporation ซึ่งหากรวมกับแนวคิดเรื่อง "ต้นทุนบวก 50" ไปด้วยแล้วจะส่งผลให้ค่าใช้จ่ายด้านงบประมาณทางทหารสูงขึ้นอย่างเท่าตัว รวมถึงเกาหลีใต้ และญี่ปุ่นด้วย